JLW ชี้ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวปี 2000


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัท โจนส์ แลง วูธทั่น (JLW) บริษัทที่ให้บริการทางด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายหนึ่งของโลก ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยน่าจะดีขึ้นในปี ค.ศ.2000 ถ้าภาวะเศรษฐกิจของไทยไม่เลวร้ายไปกว่านี้

เครก พลัมบ์ กรรมการฝ่ายวิจัย บริษัท JLW ได้ให้เหตุผลสำคัญในเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะพื้นที่ขายได้ลดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะปรับตัวสอดคล้องกับความต้องการซื้อในอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงนี้ปรากฏว่า มีนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก ที่สนใจจะเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย แต่การซื้อขายจริงยังเกิดขึ้นน้อย เป็นเพราะว่านักลงทุนเหล่านั้นต้องการเห็นระบบการเงินในเมืองไทยมั่นคงกว่านี้ และหลายรายยังหวังว่าราคาน่าจะลดต่ำลงไปอีกได้ ในขณะเดียวกัน กฎหมายที่จะเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ของอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

"เรื่องขยายระยะเวลาในการเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 30 ปีเป็น 99 ปี และมาตรการเพิ่มกรรมสิทธิ์ในการถือครองจะช่วยให้ตลาดฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะขณะนี้หลายรายต้องการเข้ามาซื้อโครงการเพื่อบริหารเอง แบบยกตึกไปเลย" เครก กล่าว

ส่วนประเภทของโครงการที่อยู่อาศัยที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเภทอื่นๆ ก็คือโครงการคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย ตัวเลขจากผลวิจัยของบริษัทพบว่าในช่วงปี 2540 ที่ผ่านมา มีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางกรุงเทพฯ เสร็จเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นประมาณ 7,000 ยูนิต หรือประมาณ 30% ของจำนวนทั้งหมดที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา 21,900 ยูนิต โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2540 มีโครงการคอนโดมิเนียมที่ถูกยกเลิกไปทั้งสิ้น 15 โครงการ หรือประมาณ 2,530 ยูนิต และอีก 22 โครงการ หรือ 6,540 ยูนิตที่ไม่เริ่มการก่อสร้าง หรือหยุดการก่อสร้างนานกว่า 6 เดือน ส่วนโครงการใหม่ๆ ที่เปิดตัวเข้าสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 870 ยูนิต ซึ่งคิดเป็นเพียง 10% ของจำนวนยูนิตที่มีการเปิดตัวเฉลี่ยต่อปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

อัตราการขยายตัวที่ต่ำลงของคอนโดมิเนียมในย่านกลางกรุง เป็นผลสะท้อนจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับความต้องการในตลาด และการขาดสภาพคล่องในประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาระดับความต้องการคอนโดมิเนียม ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ลดระดับลงอย่างมาก คือมียอดการขายรวมเพียง 2,090 ยูนิต เมื่อเทียบกับปี 2537 ที่ผ่านมาที่มียอดขายสูงสุดถึง 12,700 ยูนิต อย่างไรก็ดี แม้ระดับ ความต้องการจะลดลง แต่ยอดรวมของคอนโดมิเนียมที่ยังเหลือในย่านใจกลางกรุงเทพฯ กลับมีระดับลดลง โดยลดลงจาก 12,500 ยูนิตในสิ้นปี 2539 เหลือ 9,000 ยูนิต ณ สิ้นปี 2540

ทั้งนี้เนื่องจากมีคอนโดมิเนียมจำนวนมากที่ถูกยก เลิกหรือถูกเปลี่ยนประโยชน์การใช้ ณ สิ้นปี 2540 คอนโด มิเนียมในย่านใจกลางกรุงเทพฯ มียอดขายเฉลี่ย 83% โดยโครงการที่สร้างเสร็จแล้วมียอดขายเฉลี่ย 90% ส่วนโครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างมียอดขายเฉลี่ย 72% อย่าง ไรก็ดี ตัวเลขยอดขายนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคาดว่าบางโครงการจะถูกระงับไป และผู้ซื้อส่วนหนึ่งไม่สามารถหรือไม่ประสงค์ผ่อนต่อ

ในช่วงของครึ่งหลังปี 2540 ราคาเสนอขายเฉลี่ย สำหรับคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ลดลง 3.5% เหลือตารางเมตรละ 47,530 บาท โดยมีเจ้าของโครงการหลายรายที่เสนอส่วนลดพิเศษให้แก่ผู้ซื้ออีก บางโครงการเสนอส่วนลดถึง 50% และบางโครงการเสนอขายในราคาต่ำกว่าทุน เนื่องจากเจ้าของโครงการต้องการขายยูนิตที่เหลือให้หมด

จากปีนี้จนถึงปี 2543 คอนโดมิเนียมที่กำหนดจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสิ้น 20,200 ยูนิต โดยกำหนดแล้วเสร็จปีนี้จำนวน 10,300 ยูนิต ปี 2542 จำนวน 5,790 ยูนิต และปี 2543 จำนวน 4,150 ยูนิต อย่างไรก็ดีจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดนี้ได้ถูกยกเลิก หรือหยุดการก่อสร้าง หรือยังไม่เริ่มการก่อสร้างมานานกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มด้วยว่าจะมีคอนโดมิเนียมอีกประมาณ 10-20% ใน จำนวนที่กำลังก่อสร้างทั้งหมดที่จะถูกยกเลิกโครงการหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์

เครก พลัมบ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การยกเลิกหรือหยุดโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมาก ตลอดจนถึงการเปลี่ยนประโยชน์การใช้ จะทำให้ยอดคอนโดมิเนียมที่จะเสนอขายมีจำนวนลดลงเหลือประมาณ 5,000-7,500 ยูนิต ซึ่ง ณ ระดับความต้องการในปัจจุบัน คอนโดมิเนียมที่เหลือนี้ต้องใช้เวลา 2.5-3.7 ปีจึงจะขายหมด เมื่อเทียบกับระดับความต้องการในภาวะปกติจะ ใช้เวลาเพียง 1-1.5 ปี

"สภาวะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในระหว่างการปรับความสมดุลของความต้อง การ และปริมาณและคาดว่าจะก้าวสู่ขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อระดับความต้องการปรับตัวดีขึ้น"

สำหรับในส่วนอาคารสำนัก งานนั้นได้คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวหลังคอนโดมิเนียม ในรายงานของ JLW ได้สรุปไว้ว่าหลังปี 2541 ตลาดอาคาร สำนักงานกรุงเทพฯ จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในแง่ของปริมาณพื้นที่ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในตลาด เนื่องจากในขณะนี้ มีพื้นที่อาคารสำนักงานที่กำลังทำการก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ เพียง 359,700 ตารางเมตร นอกจากนี้คาดว่าจะมีการยกเลิกหรือชะลอโครงการเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นอัตราการเพิ่มขึ้นของอาคารสำนักงานในช่วงหลังปี 2541 เป็นต้นไปจะลดระดับลงมามาก แต่อัตราค่าเช่าและมูลค่าพื้นที่จะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างน้อยในอีก 2 ปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.