World Class

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บีโอไอในยุคสถาพร กวิตานนท์ ภูมิใจเรื่องจ้าง Time-Warner ทำโฆษณาภาพลักษณ์เมืองไทยให้สายตาตะวันตกเข้าใจว่าไทยกำลังผ่านพ้นวิกฤติ ถือว่าเป็นความคิดใหม่ในยุคโลกไม่มีพรมแดน แต่พอจัดงานใหญ่ ซึ่งถือเป็นต้นแบบงานโชว์ที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเรา (ที่จัดโดยราชการ) งานบีโอไอแฟร์ เพื่อสร้างกระแสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เขากลับไม่ได้สนใจตลาดต่างประเทศหรือระดับภูมิภาคเลย

ตอนนั้นเรายังอาจไม่เคยคิดว่างานแฟร์ที่สิงคโปร์ และฮ่องกง ทำไมคนไทย (รวมทั้งภูมิภาค) แห่กันไปชม

ทุกวันนี้เหลียวซ้ายแลขวา ทางการไทยพยายามจะสร้าง hub ต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคกันอย่างมากมายจนบางคนบอกว่าเฝือเกินไป

เครือซิเมนต์ไทยเริ่มต้นจากการผลิตปูนซีเมนต์เมื่อเกือบๆ 100 ปีก่อน เพื่อทดแทนการนำเข้า และพอใจกับการเติบโตในตลาดภายในประเทศ จนเมื่อการแข่งขันข้ามพรมแดนมากขึ้น จึงพยายามสร้างสินค้าระดับโลก เครือซิเมนต์ไทยใช้เวลาเรียนรู้เรื่องนี้หลายสิบปีทีเดียว เรียนรู้และเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้มากมาย จนวันนี้ก็ยังถือเป็นกลุ่มบริษัทระดับท้องถิ่นอยู่ดี ทั้งๆ ที่พยายามใช้มาตรฐานระดับโลกมากมาย

ธุรกิจธนาคารไทยมีอิทธิพลมานาน 50 ปีในสังคมไทย ในที่สุดก็ต้องปรับตัวอย่างทุลักทุเลกับมาตรฐานโลก

กลุ่มชินที่ก่อตั้งโดยทักษิณ ชินวัตร เติบโตมาด้วยสินค้าตะวันตก (อุปกรณ์โทรศัพท์ไร้สาย) และวิธีการแบบตะวันตก (หาเงินจากตลาดหุ้น) ความร่ำรวยของเขาไม่ได้เกิดจากความคิดสร้างสินค้าระดับโลกของไทยเลย ทีมงานของเขาบอกว่าทิศทางสร้างกิจการต้องมองระดับภูมิภาคแต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน

บรรดาธุรกิจไม่ค่อยจะแปลกใจ เพราะเกิดจากแรงบีบภายนอก โดยเฉพาะราคาที่จ่ายค่าปรึกษานั้นแพงตรงข้อสรุปที่คุณต้องคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกนี่เอง

แต่แล้วอยู่ๆ สินค้างานฝีมือของชุมชนที่ถูกรัฐกระตุ้นให้ผลิตมากขึ้น และทำการตลาดกลับได้รับการตอบรับจากตลาดโลกอย่างมากมายในเวลาอันสั้น

ใครจะว่าอย่างไร ผมจึงมองการเรียนรู้ในเรื่องนี้ของสังคมไทยดีขึ้น ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือชุมชน แม้จะดูว่า กระบวนการนั้นขรุขระมากทีเดียว นับเป็นแนวโน้มของสังคม ไทยในเวลาที่ผู้คนยังมองหาแนวโน้มเชิงโครงสร้างกันไม่พบ

กระบวนการเรียนรู้ผ่านการยอมรับเบื้องต้นแล้วในโลกยุคใหม่ยุคที่ความเชื่อมกับโลกภายนอกเป็นจริง และซึมเข้ากับกิจกรรมชีวิตของผู้คนแล้ว ความคิดนี้น่าจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างมั่นคงในความคิดของผู้นำในสังคมไทยในเกือบทุกระดับอย่างเป็นปึกแผ่นพอสมควร

แต่ว่าแค่ความคิดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ยังต้องทำงานและเรียนรู้อีกมากกว่าจะไปถึงจุดนั้นจริงๆ

ผมเชื่อว่านี่คือทิศทางสำคัญของชิ้นส่วนในสังคมเวลานี้ ไม่ว่าคุณจะมีสินค้าส่งออกหรือไม่ ไม่ว่าคุณจะเป็น NGO ที่ต่อต้านโลกยุคใหม่หรือไม่ ทุกคนได้ถูกกระแสดูดเข้าไปในวงจรนี้เรียบร้อยแล้ว

สินค้าหรือมาตรฐานระดับโลก มีความหมายที่ลงตัวพอสมควรแล้ว

นั่นคือองค์ความรู้ของสิ่งนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ความรู้ของสังคม และชุมชนไทยอยู่ด้วย สังคมและชุมชนไทยมีส่วนความเป็นเจ้าของ (แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม) โดยมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาสิ่งนั้นอยู่เสมอ และสุดท้ายสิ่งนั้นต้องสะท้อนเอกลักษณ์หรือบุคลิกของสังคมและชุมชนไทย ซึ่งเอกลักษณ์หรือบุคลิกเฉพาะตัวนั้นต้องอยู่ในแผนที่ทางจิตใจของสังคมและชุมชนในระดับโลกด้วย

ทั้งหมดนี้มีกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติที่ขรุขระยิ่งนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.