ไซเบอร์วิลเลจ หาดทราย สายลมและไอที


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครจะรู้ว่ามุมหนึ่งของชายหาดแห่งหนึ่งบนเกาะภูเก็ต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับของโลก เจ้าของฉายาไข่มุกอันดามันกำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งศูนย์รวมธุรกิจอินเฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (ไอที)

หากไม่เป็นเพราะวิลลี่ เฮบเลอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไซเบอร์ วิลเลจ ชาวอเมริกัน อดีตนักธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมาใช้ชีวิตในจังหวัดภูเก็ตของเมืองไทยกว่าสิบปี จะเล็งเห็นคุณค่าความงามของชายหาดผืนนี้ ผสมผสานกับศักยภาพของธุรกิจไอที และข่าวสารที่เขาได้รับมาเมื่อสมัยที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายกรัฐมนตรี เคยมีแนวคิดที่จะสร้างให้เกาะแห่งนี้เป็นเกาะไอที หรือไอทีไอซ์แลนด์

บังกะโลเล็กๆ บนเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ ริมชายหาดมิตรภาพ จังหวัดภูเก็ตที่เฮบเลอร์เช่ามาเพื่อทำธุรกิจให้เช่าแก่ลูกค้าที่นักท่องเที่ยว ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นแหล่งศูนย์รวมผู้ประกอบธุรกิจไอที และเขาให้ชื่อว่าไซเบอร์วิลเลจ

เฮบเลอร์วาดหวังไว้ว่า ด้วยสภาวะแวดล้อมที่ดีของภูเก็ตจะเอื้ออำนวยให้เกิดความคิดใหม่ๆ ด้วยไอที ทั้งการวิจัยและพัฒนาหรือแม้แต่สวนอุตสาหกรรม การออกแบบฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ขึ้นบนชายหาดแห่งนี้

"คนไทยมีความแข็งแกร่ง เป็นศูนย์รวมทางด้านไอที เป็นแท็งก์น้ำทางความคิด (Think Tank) คล้ายกับซิลิกอนวัลเล่ย์"

วิถีชีวิตของนักธุรกิจที่นั่งทำงานสำนักงาน ตามอาคารสำนักงานมีเพียงฝาผนังของห้องเป็นวิว ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบฟันผ่าการจราจรจากบ้านมาทำงานไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง จะถูกเปลี่ยนมาเป็นการนั่งทำงานอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามของชายหาดสีขาว ที่มีสายลม แสงแดด และเสียงคลื่นลมอันเงียบสงบ นับเป็นมิติใหม่ของการทำงานที่เหมาะสำหรับงานประเภทที่ต้องใช้ความคิดหรือการวิจัย เช่น ธุรกิจไอทีไม่น้อย

ปัจจุบันไซเบอร์วิลเลจของเฮบเลอร์มีชาวต่างประเทศและชาวไทยมาเช่าบังกะโล เพื่อเปิดบริษัททำธุรกิจไอทีแล้ว 7-8 ราย อันประกอบไปด้วย บริษัทเฟรนด์ชิพ คอมพิวเตอร์ แอนด์ อิเล็กทรอนิกส์ ทำธุรกิจประกอบตามสั่งของลูกค้า (Made to Order) บริษัทตะวันราไวย์ ทำธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัทเฟรนด์ชิพ อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ บริษัทไซเบอร์กราฟฟิก เฟรนด์ชิพ เลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์ รับสอนคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษ

อันที่จริงแล้วธุรกิจแรกของไซเบอร์วิลเลจ เริ่มต้นมาจากร้านอาหารภายในบังกะโล ที่เฮบเลอร์ดัดแปลงส่วนหนึ่งของร้านอาหารเพื่อให้บริการเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต การเปิดให้บรการรับส่งอีเมล ในสักษณะของร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ จนกลายมาเป็นไอเดียในการเปิดเป็นไซเบอร์วิลเลจขึ้น

รายได้ที่เฮบเลอร์ได้รับจะอยู่ในรูปของค่าเช่าที่เก้บจากบริษัทที่เข้าไปเช่าพื้นที่เพื่อเปิดบริษัท และการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทบางแห่งมากกว่า 50% เช่น การถือหุ้นร่วมในบริษัทเฟรนด์ชิพ คอมพิวเตอร์ แอนด์ อิเล็กทรอนิกส์

ไพศาล เขียวหวาน อดีตวิศวกรชาวไทยที่เคยไปใช้ชีวิตทำงานอยู่สหรัฐอเมริกาถึง 20 ปี ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย และตั้งรกรากที่จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัทเฟรนด์ชิพ คอมพิวเตอร์ แอนด์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ลงทุนร่วมกับเฮบเลอร์

"เราเจอกัน เพราะที่พักของผมอยู่ใกล้กับของวิลลี่ก็เลยคุยกัน เขาก็มีไอเดียเรื่องที่จะทำเป็นไซเบอร์วิลเลจ ส่วนผมก็มีความรู้ในเรื่องไอที เพราะเคยทำงานกับบริษัทผู้ผลิตโมเด็มเฮย์เอทีแอนด์ที เราก็เลยมาร่วมหุ้นกันเปิดเป็นบริษัทเฟรนด์ชิพ คอมพิวเตอร์"

อย่างไรก็ตาม บริษัทเฟรนด์ชิพ คอมพิวเตอร์ฯ และไซเบอร์วิลเลจ ก็ยังเป็นแค่ธุรกิจเล็กๆ ให้บริการกับลูกค้าไม่กี่ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศที่แวะเวียนมาทำธุรกิจในภูเก็ต หรือลูกค้าที่ทานอาหารในร้านอินเตอร์เน็ต ยังไม่ได้ให้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นบนเกาะภูเก็ต

"เวลานี้เรายังเป็นแค่ธุรกิจเล็กๆ ยังไม่มีการลงทุนอะไรมาก และไซเบอร์วิลเลจยังเป็นแค่บังกะโลให้เช่าเพื่อทำสำนักงาน เวลานี้คุณวิลลี่เขากำลังไปชวนเพื่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนักพัฒนาที่ดินให้มาร่วมลงทุน"

นอกเหนือจากการระดมนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อมาพลิกพื้นที่ดินแห่งนี้ให้เป็นศูนย์รวมไอที เฮบเลอร์ยังได้เจรจาชักชวนให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้เข้ามาร่วมในโครงการ เพื่อทำให้ภูเก็ตเป็นเกาะไอที (IT Island) อย่างเต็มรูปแบบ

ทางด้านผู้บริหารของเนคเทคก็กล่าวว่า เป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นเรื่องที่ดี หากการคิดค้นหรือพัฒนาทางด้านไอทีจะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการทำงาน ที่เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น บนชายหาดภูเก็ต

อย่างโครงการ ซอฟต์แวร์ปาร์ค หรือ สวนอุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่เนคเทคกำลังดำเนินการอยู่นั้น ส่วนหนึ่งน่าจะสามารถตั้งขึ้นที่ภูเก็ตได้ แต่ตรงนี้เราคงต้องมาพิจารณากันอีกทีว่า จะมีโอกาสทำได้หรือไม่

แม้ว่า 5 เดือนเต็มของไซเบอร์วิลเลจยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุน และความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เพื่อทำให้ความฝันในการพัฒนาให้เกาะภูเก็ตแห่งนี้เป็นเกาะไอทีอย่างเต็มรูปแบบ

แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีไม่น้อย หากวิถีชีวิตการทำงานของชาวไอทีทั้งหลายจะเปลี่ยนจากห้องสี่ยเหลี่ยมมาเป็นหาดทราย สายลม และแสงแดด เพราะไม่แน่ว่าไอเดียใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมไอทีจะเกิดขึ้นบนผืนดินแห่งนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.