|
Schonell Theatre
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
Schonell Theatre เป็นโรงหนังแห่งแรกของรัฐควีนส์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1970 โรงหนัง Schonell เป็นโรงหนังที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นเหล่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ความแตกต่างของโรงหนังแห่งนี้กับโรงหนังทั่วๆ ไปในออสเตรเลียคือ โรงหนังแห่งนี้มักจะนำหนังที่เราแทบจะไม่มีโอกาสได้ดูตามโรงหนังทั่วไป หรือไม่ก็ต้องรอออกเป็นวิดีโอหรือดีวีดีมาฉายให้ดู
พูดง่ายๆ คือ โรงหนังแห่งนี้ฉายหนังทางเลือกเหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้ดูภาพยนตร์ดีๆ ในโรงหนังที่นิยมฉายหนังกล่อง
ผมเคยมีโอกาสดูหนังดีๆ อย่าง The whole wide world และ Great Expectation ในโรงหนังเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ก่อนที่จะเปลี่ยน เป็นเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์อย่างทุกวันนี้ และได้ดูเรื่อง Don't cry Nanjing ในเทศกาลหนังทางเลือก
แม้นั่งดูหนังไปจะต้องคอยชะเง้อหลบ เสาไปก็ตาม แต่มันก็ไม่สามารถลดทอนอรรถรสของหนังดีๆ ได้เลย
ภาพยนตร์สารคดีของไมเคิล มัวร์ อย่าง Bowling for Columbine และสารคดี บทสัมภาษณ์ของ นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) ผมก็สามารถหาดูได้ที่โรงหนัง Schonell แห่งนี้และแน่นอนว่าภาพยนตร์สารคดีที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วสหรัฐอเมริกาอย่าง Fahrenheit 911 ก็น่าจะได้มาฉายที่นี่เช่นกัน
โรงหนัง Schonell มิได้ฉายแต่เพียงภาพยนตร์ทางเลือกเท่านั้น แต่ยังฉายภาพยนตร์ทั่วๆ ไปที่สามารถหาดูได้ในโรงหนังตลาด เพียงแต่ภาพยนตร์ที่มาฉายในโรงหนัง Schonell จะมาล่าช้ากว่าในท้องตลาดเท่านั้น เรียกได้ว่า โรงหนังนี้เจาะตลาดนักศึกษาหลายๆ กลุ่ม
ธุรกิจทางด้านบันเทิงในประเทศออสเตรเลียถือว่ามีขนาดธุรกิจใหญ่มาก
จากการสำรวจของนิตยสาร BRW เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่าอุตสาหกรรม บันเทิงจะมีรายได้มากถึง 83,000 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย (หนึ่งดอลลาร์ออสเตรเลียประมาณ 28-30 บาทไทย) ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงมีขนาดเป็นสองเท่าของอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดที่ว่านี้รวมอุตสาหกรรมการพนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดบันเทิงด้วย ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมการพนันคิดเป็นครึ่งหนึ่งของตลาดบันเทิงทั้งหมด
อุตสาหกรรมบันเทิงได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาตลอด และมีส่วนในการเพิ่มรายได้ของประเทศออสเตรเลียอย่างชัดเจน รวมถึงผลผลิตจากอุตสาหกรรมบันเทิงประมาณ 3% ถูกส่งออกไปนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม กำไรของอุตสาหกรรมนี้ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ โดยผลตอบแทนต่อหุ้นหลังหักภาษีของอุตสาหกรรมบันเทิงถ้าไม่รวมธุรกิจการพนันแล้ว คิดเป็น 1% เท่านั้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่ ในช่วงเวลาเดียวกัน แปดบริษัทการพนันที่ใหญ่ที่สุดให้ผลตอบแทนหลังหักภาษีมากถึง 29.5%
อุตสาหกรรมการพนันมีรายรับรวมทั้งหมดในปี 2002-03 ประมาณ 23,500 ล้านเหรียญ ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากลอตเตอรี่ 4,600 ล้าน, กาสิโน 3,200 ล้าน, การแทงพนันและการพนันในรูปแบบอื่นๆ ประมาณ 15,700 ล้านเหรียญ มีการจ้างงาน 34,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม รายรับนี้ไม่รวมรายได้จากตู้เกมและการพนันในสถานบันเทิงและโรงแรมที่ได้รับอนุญาต เพราะรายได้ในส่วนนี้จะเอาไปรวมในส่วนของอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวแทน
คาดการณ์กันว่า อุตสาหกรรมบันเทิง ออสเตรเลียจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 3.5% ต่อปีในช่วงห้าปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะมากกว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมของออสเตรเลียโดยเฉลี่ยประมาณ 0.1%
โดยที่การเติบโตของบริษัทในอุตสาห-กรรมบันเทิงจะแบ่งเป็นสามประเภทด้วยกัน คือ เติบโตอย่างรวดเร็วมาก เช่น บริษัทเกมคอมพิวเตอร์, เติบโตตามค่าเฉลี่ย เช่น บริษัท การพนัน และส่วนที่กำลังตกต่ำ เช่น บริษัทผลิตฟิล์ม เนื่องจากการเข้าแทนที่ของกล้องดิจิตอล
ในส่วนการจ้างงานในอุตสาหกรรมบันเทิงพบว่า ปัจจุบันนี้เกิดสมดุลในการจ้างงานมากกว่าหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา พนักงานในอุตสาหกรรมมีรายได้ต่อหัวมากกว่าค่าเฉลี่ยของรายรับรายสัปดาห์ของชาวออสเตรเลีย ซึ่งคิดเป็นรายได้ต่อปีประมาณ 50,365 ดอลลาร์ต่อคนในปี 2003 ที่ผ่านมา
ในปี 2003-2004 ที่ผ่านมา มีการจ้างงาน 383,000 ตำแหน่ง โดยบริษัท 34,000 แห่ง ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ 83,000 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 2.8% ของจีดีพี
อุตสาหกรรม 40 ชนิดจาก 465 ชนิด อุตสาหกรรมที่มีการจัดประเภทมีส่วนในธุรกิจการผลิตสินค้าและบริการทางด้านบันเทิง
เมื่อเราศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวออสเตรเลีย เราพบว่า ในปี 2003-2004 หนึ่งในแปดของรายจ่ายทั้งหมดของครัวเรือน ออสเตรเลียหมดไปกับเรื่องบันเทิง หรือคิดเป็น 64,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นจาก 60,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2002-2003 โดยมีรายจ่ายเกี่ยวกับการพนันเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นประมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่าย ทั้งหมด (48.2%) (ดูตารางส่วนแบ่งตลาดฯ)
เมื่อประมาณต้นทศวรรษ 1960 ชาวออสเตรเลียใช้จ่ายเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมและ การพักผ่อนหย่อนใจประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็น 12% ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้จ่ายด้าน บันเทิงจะแตกต่างกันไปในกลุ่มประชากรที่มีรายได้แตกต่างกัน โดยพบว่า กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุด 20% มีรายได้มากกว่ารายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 130% และกลุ่มที่ยากจนที่สุดมีรายได้ต่ำกว่ารายได้ประชา ชาติเฉลี่ยต่อหัว 80% แต่การใช้จ่ายเงินเพื่อการบันเทิงจะมีสัดส่วนสูงในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง
จำนวนชั่วโมงการทำงานตลอดชีวิต ที่ได้รับค่าจ้างในกลุ่มผู้ชายมีค่าคงที่ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาคือ ประมาณ 75,000-80,000 แต่เมื่อรวมจำนวนชั่วโมงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง จำนวนชั่วโมง การทำงานทั้งหมดของผู้ชายก็จะเท่ากับ ผู้หญิง เวลาที่เหลือทั้งหมดคือเวลาพักผ่อน ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาใช้ไปกับกิจกรรมบันเทิงราคาถูก (ดูตารางการใช้เวลา)
นอกจากนี้การสำรวจนี้ยังพบด้วยว่า ชาวออสเตรเลียใช้จ่ายเกี่ยวกับบันเทิงมากกว่าค่าอาหาร
บริษัทยี่สิบห้าอันดับแรกที่มีรายได้สูงที่สุดในอุตสาหกรรมบันเทิงมีรายได้เท่ากับ 37,600 ล้านเหรียญในปี 2002-2003 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง (47.5%) จากรายได้ รวมทั้งหมดของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ 79,200 ล้านเหรียญ แต่มีส่วนในการจ้างงานเพียง 18% เท่านั้น
เมื่อศึกษาถึงคนในอุตสาหกรรมบันเทิง ห้าสิบคนที่มีรายได้สูงสุด พบว่า นิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) นักแสดงภาพยนตร์ชื่อดังมีรายได้สูงสุดที่ 25 ล้านเหรียญ นิโคล คิดแมน มีผลงานจากเรื่องล่าสุดอย่าง The Hours, The Human Stain และ Cold Mountain นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการเป็น พรีเซ็นเตอร์สินค้า รวมถึงล่าสุดเพิ่งเซ็นสัญญา กับน้ำหอมชาแนล (Chanel) มูลค่า 12 ล้านเหรียญ
ในกลุ่มห้าสิบคนแรกมีทั้งนักร้อง, วงดนตรี, ผู้กำกับภาพยนตร์, พรีเซ็นเตอร์สินค้า และนายแบบ
ธุรกิจทางด้านบันเทิงกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ถูกผลิตเข้าสู่ตลาด เช่นเดียวกับธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างรายได้มหาศาล
ผลผลิตอย่างกาย เซบาสเตียน (Guy Sebastian) ซึ่งเกิดจากโครงการ Australian Idol และธุรกิจริงโทนที่มีมูลค่าตลาดสูงมากๆ ทำให้ธุรกิจบันเทิงถูกคาดการณ์การเติบโตที่ยังคงสูง และจะยังคงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
สองสามวันก่อนผมเห็นโครงการ "เฮาส์" ในเมืองไทย ซึ่งเป็นโครงการสำหรับคนรักหนังที่จะเสนอทางเลือกของการดูหนัง ที่ฉีกไปจากตลาดหนังฮอลลีวู้ดและผู้สร้างหนังรายยักษ์ในเมืองไทยที่ครอบงำพฤติกรรม การบริโภคหนังมาโดยตลอดแล้ว ผมก็แอบเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จ
สำหรับคนรักหนังแล้ว การได้ดูหนังดี ถือเป็นความสุขอย่างยิ่งของชีวิต แม้จะมีเสาบังบ้างก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|