|

เที่ยวอย่างไรดี? (1)
โดย
ธีรัส บุญ-หลง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสรับฟังคำวิจารณ์ของท่านผู้อ่านหลายท่าน ซึ่งก็มีทั้งคำชมและคำติเตียน ผมจะรับไว้พิจารณาเพื่อพัฒนาตนเองต่อไปนะครับ (โดยที่ไม่เปลี่ยนตัวเองจนเกินไป) ท่านผู้อ่านที่อยากจะติชมสามารถส่งอีเมลมาที่ listeningmrteerus@yahoo.com ผมจะพยายามอ่านและตอบทุกฉบับเท่าที่เวลาจะอำนวยนะครับ
ขณะที่เขียนจดหมายฉบับนี้ ทางครอบครัวและญาติผู้ใหญ่ของผมกำลังเดินทางมางานรับปริญญาของผมที่สกอตแลนด์ ญาติผู้ใหญ่ของผมบางท่าน เช่น คุณย่า คุณยาย ก็อายุประมาณ 80 กว่าปี แล้ว จะเดินทางทั้งทีจึงมีข้อจำกัดมากมาย การวางแผนการเที่ยวครั้งนี้จึงมีเรื่องให้ต้องขบคิดพอสมควร เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมตระหนักว่าผมควรจะเขียนแนะนำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ท่านผู้อ่านบางท่านยังไม่รู้เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจไม่มากก็น้อย (โดยเฉพาะผู้ที่มีญาติผู้ใหญ่นะครับ)
ปกติโดยส่วนตัวแล้วผมแบ่งการท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นทั้งหมด 5 แบบ ไม่รวมโครงการแลกเปลี่ยนหรือเรียนอยู่นะครับ เพราะนั่นถือว่าเป็นการไปอยู่
1. แบบ Backpacker หรือการเที่ยวแบบสะพายเป้ไปเที่ยว
การเที่ยวแบบนี้เหมาะสำหรับขาลุย (ไม่จำกัดอายุตราบใดที่ยังมีไฟ) จะเที่ยวแบบนี้จะให้สนุกต้องแบบค่ำไหนนอนนั่น ได้สัมผัสกับชีวิตของที่นั้นๆ ด้วยตัวเอง ดูจากหนังสือนำเที่ยว เที่ยวแบบถูกๆ โทรมๆ ถ้าอยู่นานหน่อยก็หางานพิเศษทำครับ ตัวอย่างง่ายๆ คือบรรดาฝรั่งที่ตรอกข้าวสาร ครับ ผมได้มีโอกาสเที่ยวแบบนี้ตอนทำ gap year (ช่วงเวลาหาประสบการณ์ค้นหาตัวเอง 1 ปี ระหว่าง โรงเรียนกับมหาวิทยาลัย) ความคิดเห็นส่วนตัวของผม การเที่ยวแบบนี้มีข้อดี คือ
1. สนุก แล้วได้ค้นหาอะไรด้วยตัวเอง
2. ถ้าอยู่ระยะยาวจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นจริงๆ ได้เห็นได้เข้าใจวิถีชีวิตของคนที่นั่น
3. ส่วนมากจะเป็นการเที่ยวที่ค่อนข้างถูก
ข้อเสีย คือ
- สนุกเกินไป เลยอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ไม่กลับบ้าน ผมมีเพื่อนสองสามคนที่รู้จัก ยังสนุกกับการเที่ยวแบบ backpack ตอนแรกก็จะเที่ยวเดี๋ยวเดียว ไปๆ มาๆ ก็หางานง่ายๆ เช่น เป็นเด็กเสิร์ฟ หรือแม้กระทั่งกลายเป็นไกด์เอง จนอยู่ที่นั่นไปจนไม่กลับบ้านเลยครับ
- ถ้าอยู่ระยะสั้นๆ (สัปดาห์สองสัปดาห์) อาจจะเข้าใจอะไรผิดๆ เพราะเชื่อหนังสือนำเที่ยวเกินไป (บางทีผมก็เป็นครับ) ตัวอย่างเช่น ฝรั่งจะเชื่อ Lonely Planet มาก บางทีเชื่อมากกว่าเพื่อนที่เป็นคนท้องถิ่นเสียอีก สิ่งที่ทุกคนค่อนข้างลืมเวลาอ่านหนังสือนำเที่ยว คือว่าหนังสือนำเที่ยวส่วนมากไม่ได้เขียนโดยคนท้องถิ่นครับ แล้วบางทีมีเหตุผลทางธุรกิจ เช่น การโปรโมตบางสถานที่เข้ามาเกี่ยว ข้อง มีหลายอย่างที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือนำเที่ยว
2. แบบคู่รัก (Honeymoon)
ไม่เคยเที่ยวแบบนี้ครับ ต้องขอคำแนะนำจากคุณผู้อ่านบางท่าน ในอนาคตนะครับ (ยิ้ม)
3. เที่ยวกับบริษัทท่องเที่ยว
การเที่ยวกับบริษัททัวร์นั้นเป็นอะไรที่สบายใจที่สุดครับ ไม่ต้องคิดมาก ประหยัดเวลา บริษัทจัดให้หมด รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปถูกกว่าไปเที่ยวเอง รวมทั้งได้ความรู้แต่ไม่มีอะไรที่ไม่มีข้อเสีย การไปเที่ยวกับบริษัททัวร์บางครั้งทำให้ขาดความเข้าใจในวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างแท้จริง พูดง่ายๆ รู้แต่ผิวเผินครับ (ขอเน้นว่าเฉพาะบางครั้งเท่านั้นนะครับ บริษัททัวร์ดีๆ มีเยอะครับ) ได้ถ่ายรูป ได้เห็น สถานที่ต่างๆ แต่มีเวลาจำกัด ทำให้ไม่ได้พินิจพิเคราะห์หรือทำความเข้าใจกับวัฒนธรรม การทานอาหารส่วนมากก็จะเป็นอาหารจีน หรือที่ทุกคนทานได้ จึงขาดความแปลกใหม่ (แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ แล้วแต่ว่าใครต้องการอย่างไร ไม่ใช่ทุกคนต้องการความแปลกใหม่เสมอไป) เรื่องที่น่าตกใจคือผมรู้จักคนนำเที่ยวบางคนที่ไม่เคยไปสถานที่นั้นมาก่อน! เขาผู้นั้นได้เรียนรู้จากหนังสือนำเที่ยวอย่างเดียว อาศัยพูดภาษาอังกฤษได้เท่านั้นครับ!
(4) เที่ยวกับครอบครัวและญาติผู้ใหญ่ (แบบที่ไม่ใช่ไปกับบริษัทท่องเที่ยว)
การเที่ยวเช่นนี้เป็นอะไรที่ต้องวางแผนเป็นอย่างดี จะเที่ยวให้ดีที่สุดต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์เที่ยว หรือคนที่อยู่ท้องถิ่นนั้นนำเที่ยว หรือให้คำแนะนำ สิ่งที่ต้องคิดถึงนั้นมีมากมาย ตั้งแต่อาหารที่จะทาน (ใครจะทานอะไร ทานอะไรได้บ้าง) ค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั๋วเครื่องบิน ที่อยู่ (ที่ที่ผู้สูงอายุอยู่ได้) ระยะการเดินทาง เช่ารถ ฉบับหน้าผมจะขยายความเรื่องนี้โดยใช้เหตุการณ์ของผมและเพื่อนๆ เป็น ตัวอย่าง ครับ สำหรับผมนี่เป็นการบริหารอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องทำให้ดี เพราะบุคคลที่ไปเที่ยวด้วยใช่ใครอื่น แต่เป็นบุคคลที่เรารักและนึกถึง เพราะฉะนั้นควรพยายามให้ท่านเที่ยวอย่างมีความสุขที่สุด
ฉบับหน้าพบกันครับ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|