|
จีน กับ Microsoft
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
นิตยสารนิวส์วีค (Newsweek) ฉบับ 21 มิถุนายน2547 ฉบับที่วางขายนอกสหรัฐอเมริกา หยิบเอาภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของท่านประธานเหมาเจ๋อตง อดีตผู้นำผู้ล่วงลับของจีน มาตัดแต่งภาพ นำภาพของบิล เกตส์ นายใหญ่ของไมโครซอฟท์ลงไปแทน โดยให้ชื่อรายงานว่า "การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ของไมโครซอฟท์)"
นิวส์วีคฉบับดังกล่าว นำเสนอสถานการณ์ของบริษัทไมโครซอฟท์ในการทำตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และกำลังเป็นตลาดในปัจจุบันและตลาดแห่งอนาคตขององค์กรธุรกิจทั่วโลก โดยพยายามบอกว่า ไมโครซอฟท์นั้น แม้จะกรีธาทัพคว้าชัยที่มีรางวัลเป็น "กำไร" มาแล้วทั่วทุกมุมโลก แต่หลังจากที่ขึ้นท่าที่ประเทศจีน เมื่อ 12 ปีก่อนตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 สิ่งที่ไมโครซอฟท์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "เครื่องทำเงิน (Cash Machine)" ประสบมาตลอดในประเทศจีนก็คือ ภาวะการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้มีนักวิเคราะห์ประเมินเอาไว้ว่า ในแต่ละปีไมโครซอฟท์ต้องขาดทุนที่ประเทศจีนราวปีละ 200-300 เหรียญสหรัฐ
ด้วยคุณภาพของซอฟต์แวร์ทางด้านระบบปฏิบัติการ (Operating System : OS) ที่ได้ชื่อว่า แพร่หลายที่สุดในโลกของไมโครซอฟท์ไม่ได้ประสบปัญหาทางด้านเทคนิค หรือประสบปัญหาทางด้านการกีดกันการค้าจากรัฐบาลจีนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ปัจจุบันระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์กลับ ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้ชาวจีนเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่บริษัทซอฟต์แวร์อันดับหนึ่งของโลกต้องประสบก็คือ คนจีนใช้ "วินโดวส์" แต่ไมโครซอฟท์กลับไม่ได้ "เงิน" พูดง่ายๆ ก็คือ ไมโครซอฟท์เจอโรคก๊อบปี้ หรือ Piracy มาอย่างต่อเนื่องและมีการสรุปกันว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ไมโครซอฟท์ ประสบในประเทศจีน รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
เช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก ราคาระบบปฏิบัติ การวินโดวส์ลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์ที่วางขายอยู่ในประเทศจีนนั้น ก็ถูกวางในระดับเดียวกับระดับสากลคือ อยู่ที่ 200 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาซอฟต์แวร์วินโดวส์ ก๊อบปี้ที่วางขายตามตลาดในเมืองจีนนั้นอยู่ที่ไม่ถึง 10 หยวน หรือเพียง 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งแตกต่างกันถึง 200 เท่า
ผมอ่านรายงานดังกล่าวของนิวส์วีค (ซึ่งก็เป็นนิตยสารในเครือของไมโครซอฟท์) แล้วก็อดไม่ได้ที่จะนำมาคิด วิเคราะห์ และนำมาเล่าต่อให้ท่านผู้อ่านรับทราบ
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันระหว่างประเทศจีนกับไมโครซอฟท์ ก็คือ ต่างฝ่าย ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลจีนนั้นใช้ระบบ "ปิดตาข้างหนึ่ง" ด้วยเหตุผล ก็คือ หนึ่ง ไม่เชื่อใจระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ว่าจะติดระบบสปายเอาไว้ด้วยหรือไม่
สอง ไม่อยากผูกมัดซอฟต์แวร์หัวใจของคอมพิวเตอร์ อันจะเป็นรากฐานในการพัฒนาอนาคตทางด้านเทคโนโลยีของประเทศเอาไว้กับบริษัทใดเพียงบริษัทเดียว
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนนอกจากจะญาติดีกับไมโคร ซอฟท์แล้ว ก็ยังยินดีต้อนรับบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อื่นๆ ด้วย อย่างเช่น ไอบีเอ็ม เอชพี หรือซันไมโคร ซิสเต็มส์ เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ ลีนุกซ์ (Linux) ยกให้ลีนุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการแห่งชาติ และในอีกทาง หนึ่งรัฐบาลจีนก็ยังคงปล่อยปละละเลยกับบรรดาผู้ผลิต และผู้จำหน่ายสินค้าก๊อบปี้อยู่
ทุกปลายปี หรือในช่วงที่สหรัฐฯ ส่งตัวแทนทางด้านการค้ามาเยือนเมืองจีน ตำรวจ และทางฝ่ายปราบ ปรามของเถื่อน-สินค้าเลียนแบบของเมืองจีนก็จะทำงาน เข้มงวดกันสักที คล้ายกับว่าได้รับสัญญาณจากทางภาครัฐว่าต้องแสดงให้สหรัฐฯ เห็นว่าจีนก็ไม่ละเลยปัญหาซอฟต์แวร์เถื่อน และสินค้าก๊อบปี้ อันจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการค้าได้
ด้านไมโครซอฟท์ 10 กว่าปีที่ผ่านมาแม้จะประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด แต่สายป่านอันยาวเฟื้อยก็เอื้ออำนวยให้ไมโครซอฟท์ยังพอทนกับสถาน การณ์เช่นนี้ได้ เพราะเชื่อว่าเมื่อระดับรายได้เพิ่ม คนจีนก็จะเปลี่ยนใจค่อยๆ หันมาใช้ซอฟต์แวร์ของจริง ซึ่งในขณะนี้ไมโครซอฟท์เองก็เริ่มเห็นแสงเรืองๆ แล้วว่าคนจีนก็เริ่มรวยขึ้นโดยตอนนี้รายได้เฉลี่ยของชาวจีนนั้นไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีแล้ว (ขณะที่ซอฟต์แวร์วินโดวส์ลิขสิทธิ์ราคา 200 เหรียญสหรัฐ)
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์กลับไม่ยินยอมที่จะแก้ปัญหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการ "ลดราคา" ดังเช่นที่ไมโครซอฟท์ต้องยกธงยอมแพ้ให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่นไทยและมาเลเซีย ซึ่งไมโครซอฟท์ยินยอมขายวินโดวส์ในราคาต่ำกว่าตลาดโลกแต่ก็ตัดฟีเจอร์สภาษาอังกฤษ และความสามารถบางอย่างออก ที่เรียกว่า Low cost Windows หรือ Windows XP Starter Edition เนื่องจากไมโครซอฟท์ทราบดีว่า หากใช้กลยุทธ์ลดราคากับจีน เช่นเดียวกับที่ทำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เหมือนกับการ "ฆ่าห่านที่ออกไข่เป็นทองคำ" ดีๆ นี่เอง
ในอีกมุมหนึ่ง เพื่อเอื้ออำนวยต่อการก้าวเข้าสู่ตลาดในอนาคตไมโครซอฟท์ก็พยายามปูรากฐาน ในความคุ้นเคยของผู้บริโภคจีนต่อซอฟต์แวร์ของบริษัทไว้ ด้วยโครงการต่างๆ มากมาย อย่างเช่น โครงการอบรม การพัฒนาซอฟต์แวร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ 36 แห่งทั่วประเทศจีน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2545 และไมโครซอฟท์ ลงทุนไปถึง 750 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้การตั้งศูนย์วิจัยในประเทศจีนก็ยังช่วยให้ไมโครซอฟท์มีโอกาสทำความเข้าใจกับตลาดจีน ตลาดเอเชียได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถใช้บุคลากรคอมพิวเตอร์ของจีนที่มีความสามารถในราคาค่าจ้างที่ "ถูก" กว่าในสหรัฐฯ หลายเท่าตัว
สิ่งที่ผมทึ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไมโครซอฟท์ และสถานการณ์ก็คือ "จีน" มีจุดยืนของตัวเอง รู้เท่าทันบริษัทตะวันตก เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาปัจจัยภายในประเทศให้เข้มแข็งก่อนที่จะเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามา และที่สำคัญก็คือ เขาเล่น "เกม เทคโนโลยี" เป็น
อ่านเพิ่มเติม :
- Computer Lab ที่มาแรงที่สุดในโลก ( 27 มิ.ย. 47) โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล จากคอลัมน์ก่อนตะวันจะตกดิน ทาง www.manager.co.th (Link : http://www. manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID =9470000013736)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|