ความบังเอิญทางประวัติศาสตร์

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อครั้งที่ณรงค์ ธารีรัตนาวิบูลย์ ตัดสินใจจะย้ายโรงงานผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าจากนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งคับแคบเกินไป โดยมาซื้อที่ดินจำนวน 100 ไร่ ริมถนนสายเอเชียในอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ เขาคิดเพียงว่าเขาต้องการหาพื้นที่ ซึ่งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เท่านั้น

เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยาตอนปลาย จังหวัดสิงห์บุรี เคยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ ที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ

โดยใช้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำน้อย (สาขาแม่น้ำเจ้าพระยา) ในท้องที่ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจันในปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตสำคัญ โดยตลอดรายทางริมแม่น้ำสายดังกล่าวมีเตาเผาตั้งเรียงรายอยู่ถึงกว่า 200 ลูก

"ทางจังหวัดเพิ่งมาค้นพบภายหลังจากที่เราได้เข้ามาตั้งโรงงานแล้ว ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์โดยบังเอิญ เพราะผลิตภัณฑ์ของเราก็ทำมาจากเครื่องปั้นดินเผาเช่นกัน" ณรงค์เล่า

ณรงค์เคยเป็นอดีตนิสิตนักกิจกรรม จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ถูกอุบัติเหตุทางการเมืองในยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เขาเรียนที่นี่ไม่จบ

หลังจากเหตุการณ์ทางด้านการเมืองคลี่คลาย เขาได้เข้าศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พร้อมกับช่วยกิจการแพปลาของที่บ้านในจังหวัดชุมพร ในฐานะพี่ชายคนโต

การกระโดดเข้ามาจับอุตสาหกรรมผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าของเขาเกิดขึ้นโดยบังเอิญ สมัยเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ไฟฟ้าในต่างจังหวัดมักจะดับบ่อยๆ ทำให้เขาต้องตั้งคำถามอยู่ในใจ และเมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับพนักงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้ได้ทราบว่าลูกถ้วยไฟฟ้า ซึ่งในสมัยนั้นต้องนำเข้ามาจากประเทศจีน ไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นต้นเหตุของไฟดับ

ทำให้เขามีความรู้สึกว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตในประเทศไทยได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้า

เขาได้วางมือจากธุรกิจแพปลาให้น้องๆ เป็นผู้ดูแล และเริ่มมาตั้งโรงงานผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าแห่งแรก เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2524

ตลอดเวลากว่า 10 ปี ในช่วงแรกหลังตั้งโรงงาน เขาต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่กับการสรรหากรรมวิธีพัฒนาสินค้าตัวนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันทำวิจัยเพื่อหาส่วนผสมของวัตถุดิบ ซึ่งเป็นดินจากแหล่งต่างๆ ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ จนได้ส่วนผสมและขั้นตอนที่ลงตัว ทำให้ลูกถ้วยไฟฟ้าของ AI ได้รับการยอมรับจากลูกค้ารายใหญ่ คือการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

ปัจจุบัน AI กลายเป็นผู้ผลิตลูกถ้วยไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศไทย ส่วนตัวของณรงค์เองก็ได้มีโอกาสศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงเรียนจบจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.4313) และกำลังจะนำหุ้นของบริษัทที่เขาสร้างขึ้นมาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.