|
The Innovative Land Development
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ประสบการณ์ในวงการค้าหุ้นของพงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ อาจมีน้อยกว่าในวงการพัฒนาที่ดิน จนทำให้เขามอบหมายความไว้วางใจที่มีอยู่ทั้งหมดไปไว้ที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทรับประกันการจำหน่ายหุ้น (underwriter) และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นแกรนด์ แอสเสท ซึ่งเขาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไม่สามารถสร้างความประทับใจได้มากนัก หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
แต่กับวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว พงษ์พันธ์ถือว่าเป็นนักพัฒนาที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก ทั้งจากคนในวงการเดียวกัน รวมถึงสื่อ และผู้บริหารของสถาบันการเงิน
การยอมรับไม่เพียงเพราะเขาเป็นผู้ที่มองตลาดได้ขาด สามารถเลือกทำเลที่ตั้ง และประเภทของโครงการที่จะก่อสร้างอย่างประสบผลสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากเขายังเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการนี้
เขาเป็นคนแรกที่นำคำว่า "ทาวน์เฮาส์" เข้ามาใช้กับโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยแนวราบ ที่มีพื้นที่ไม่มากนัก จนปัจจุบันคำคำนี้ได้กลายเป็นประเภทหนึ่งของโครงการก่อสร้างที่พักอาศัย ที่นักพัฒนาที่ดินทุกคน ไม่สามารถมองข้ามได้ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือรายย่อยๆ
โครงการหลังสวนทาวน์เฮาส์ คือโครงการทาวน์เฮาส์แห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดตัวออกมาตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลังออกโฆษณาได้เพียง 2 เดือน ยอดผู้จองซื้อก็มีเข้ามาเต็มทุกยูนิต แต่กว่าจะได้สร้างจริง ต้องเสียเวลาไปต่อสู้ด้านกฎหมายถึงกว่าครึ่งปี
"การสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ เป็นครั้งแรก มันเหนื่อย เพราะต้องมีปัญหากับผู้ควบคุมที่ยังไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ คือผังเมืองเขาไม่ยอม มีเหตุผลว่าเราผิดกฎหมาย 10 ข้อ ทั้งเทศบัญญัติ ทั้งกฎหมายผังเมือง ปัญหาคือเขาตีความว่าเราเป็นอาคารพาณิชย์ ทั้งๆ ที่เราบอกว่าเราไม่ใช่ ก็เลยเปิดกฎหมายสู้กัน แล้วทาง กทม.ก็ไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง ทั้งที่เราขายหมดไปแล้วตอนจอง แต่ในที่สุดประมาณ 6-7 เดือน ผู้ว่าฯ ในสมัยนั้นก็ให้ความเป็นธรรม มีการประชุมดูเหมือนจะ 2 ครั้ง เรียกบรรดาผอ.ของ กทม.มาประชุม แล้วก็เปิดกฎหมายสู้กัน 10 ข้อ ว่าเราไม่ได้ผิดกฎหมายผังเมือง แล้วในที่สุดเราก็ชนะอย่างขาวสะอาด แต่ต้องแก้แบบเล็กน้อยเท่านั้น" เขาเล่า
โครงการสีลม พลาซ่า ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เขาพยายามสร้างสรรค์รูปแบบของโครงการใหม่ แต่ครั้งนี้เขาได้ศึกษาข้อกฎหมายเพื่อเตรียมการไว้พอสมควรก่อนการก่อสร้าง
"โครงการนี้อยู่ติดป่าช้าถึง 2 ด้าน ไม่มีใครคิดว่าจะทำอะไรได้แล้ว แต่เราก็เอามาทำ แล้วก็ขายหมดขณะจองเลย ยังไม่ทันสร้างก็ขายหมดแล้ว เพราะคอนเซ็ปต์ เพราะเราคิดแบบใหม่ ก็คืออยู่ในเรื่องของอาคารพาณิชย์ กฎหมายฉบับเดียวกัน จัดสรรเป็นประเภทอาคารพาณิชย์ เพราะเราเข้าใจว่าผู้ซื้อ ยังไม่ต้องการคอนโดมิเนียม คือในสมัยนั้นผู้ซื้อต้องการซื้อที่ดิน คือมีโฉนดที่ดิน แล้วมีอาคารพาณิชย์เหมือนเดิมทุกประการ เพียงแต่ทางวิ่งตรงกลาง และระหว่าง 2 ข้างมันไม่มี เราทำลงไปใต้ดิน ไปวิ่งกันใต้ดิน ลงไปใต้ดิน 2 ชั้น แล้ว ณ ใต้ดินนั้นก็มีที่จอดรถถึง 200-300 คัน เพื่อให้ประโยชน์กับลูกค้าที่จะมาชอปปิ้ง"
นอกจากโครงการทาวน์เฮาส์ และสุขุมวิท พลาซ่าแล้ว พงษ์พันธ์ยังมีโครงการที่พักอาศัย และอาคารสำนักงานอีกหลายแห่งที่ถือได้ว่าเป็นผลงาน อาทิ อาคารอรกานต์ อาคารสีลมเซ็นเตอร์ บ้านสาทร บ้านพร้อมพงศ์ บางนาเรสซิเดนท์ ปาล์มฮิลส์ กอล์ฟ และคันทรี คลับ ฯลฯ รวมถึงการสร้างวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
พงษ์พันธ์เป็นบุตรชายของพานิช สัมภวคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่เขาไม่ได้เดินในเส้นทางนักการเมืองเหมือนกับพ่อ แต่หันมาทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ
เขาจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา
บุคลิกของเขาเป็นคนเงียบๆ ชอบใช้ความคิดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานมากกว่า จนบางครั้งที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นคนหยิ่ง
แต่สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากการที่เขาเป็นคนพูด และแสดง ออก (acting) ไม่เก่ง ไม่เหมือนกับผู้บริหารอีกหลายๆ คนที่มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากกว่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|