|

ทางเลือกใหม่ของผู้ใช้ไฟ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
จากสถานการณ์ราคาน้ำดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากมาตรการประหยัดพลังงานที่กำลังมีการรณรงค์กันอย่างขะมักเขม้นแล้ว พลังงานทดแทน (renewable energy) ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ ทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชน
โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้กำหนดค่า RPS (Renewable Portfolio Standard) ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ในการกำหนดสัดส่วนพลังงานทดแทน ที่จะนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนในแต่ละประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยได้กำหนด RPS ไว้ที่ 4% หรือคิดเป็น 1,840 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2554
หมายความว่าภายในปี 2554 ทุกๆ 100 หน่วยของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย จะต้องมีอย่างน้อย 4 หน่วย ที่ผลิตจากพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟืน ถ่านไม้ แกลบ ชานอ้อย ลม น้ำ แต่ที่น่าจะเหมาะสมสำหรับประเทศในเขตร้อนอย่างไทยมากที่สุด ก็น่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ (solar)
อาศัยจังหวะที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจเรื่องน้ำมันราคาแพง บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ก่อตั้งมานานเกือบ 20 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 80% อย่างบริษัทโซลาร์ตรอน ได้ออกมาสร้างความเคลื่อนไหว ด้วยการจัดงานแถลงกลยุทธ์ นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยมีวันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ และสมศักดิ์ กุญชรยาคง รองกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้แถลง
ภาพโดยรวมของงานเป็นการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของระบบผลิตไฟฟ้า และการนำระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้ในงานประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสูบน้ำ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบประจุแบตเตอรี่ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานแหล่งพลังงาน (Solar Hybrid System) ระบบไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะ และระบบไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อบ้านพักอาศัย (Solar Home System) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง
ล่าสุด บริษัทโซลาร์ตรอน เป็นผู้ชนะงานประมูลติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในโครงการเร่งรัดขยายบริการไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ 150,000 หลังคาเรือน
แต่ส่วนที่น่าจะเป็นตัวเอกสำหรับงานนี้คือระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อสายส่ง (Grid Connected System) ที่ถือเป็นทางเลือกของผู้ที่มีไฟฟ้าใช้อยู่แล้ว แต่ต้องการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์
ระบบ Grid Connected System เปรียบเสมือนเป็นโรงผลิตไฟฟ้าขนาดย่อมๆ โดยระบบจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายคืนให้กับการไฟฟ้าในตอนกลางวัน และซื้อกลับในตอนกลางคืน โดยมีมิเตอร์ซื้อและมิเตอร์ขายแยกออกจากกัน เมื่อถึงเวลาสิ้นเดือน การไฟฟ้าฯ ก็จะทำการหักลบยอดขายและยอดซื้อไฟ สำหรับครัวเรือนนั้นๆ
หากยอดขายไฟมีมากกว่ายอดซื้อ เจ้าของบ้านก็จะได้รับเงินส่วนเกินคืนจากการไฟฟ้าฯ
ปัจจุบันระบบ Grid Connected System เป็นที่นิยมใน ประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่น และเยอรมนี ในประเทศญี่ปุ่น มีการติดตั้งระบบนี้ไปแล้วกว่า 300,000 ครัวเรือน สำหรับประเทศไทยยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่ม และคาดหวังว่าจะเป็นที่ยอมรับในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องระบบมีราคาค่อนข้างสูง
"เมืองไทยมีแสงแดดเฉลี่ยมากกว่าประเทศอื่นๆ ระยะเวลาคืนทุนน่าจะเร็วกว่า 8 ปี" วันดีบอก
ถือเป็นพลังงานทดแทนที่คนไทยสามารถพึ่งพิงได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|