เทคโนโลยี "จิ๋ว"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่ศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วโลก กำลังให้ความสนใจในเรื่อง นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีผลต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ ในอนาคตอันใกล้

โครงการวิจัยนาโนเทคโนโลยีกับการประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผงวงจรไฟฟ้าชนิดยืดหยุ่นหรือโค้งงอได้ (flexible printed circuit) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคาตาไลซิส และวิศวกรรมปฏิกิริยาที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท Mek Tec Manufacturing Cooperation (Thailand) Ltd. จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงการ แรกของการพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยแล้ว ยังถือเป็นต้นแบบของโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน

โดยได้มีการลงนามข้อตกลงไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ที่อาคารจามจุรี 4 สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นาโนเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีของโลก เป็นเรื่องของการสร้างหรือผลิต (manu-facturing) ชิ้นส่วนใดๆ ในระดับอะตอม ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาด เล็กในระดับนาโนเมตร (1 ในหนึ่งพันล้านส่วนของ 1 เมตร) โดย ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถสังเกตและควบคุมอนุภาคเหล่า นั้นได้แล้ว แต่การพัฒนายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคิดค้นเครื่องมือและเทคนิคที่สามารถถ่ายทอดนาโนเทคโนโลยี จากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ไปสู่การนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์

ซึ่งในที่สุดการผลิตโดยนาโนเทคโนโลยีนั้น (molecular manufacturing) จะเข้าไปทดแทนการผลิตแบบอัตโนมัติที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน (conventional automated manufacturing) คือมีการเก็บชิ้นส่วน เคลื่อนย้ายชิ้นส่วน ประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วย กัน และเคลื่อนย้ายชิ้นงานที่ประกอบเสร็จ โดยอาศัยการทำงาน ของระบบเซ็นเซอร์และคอมพิวเตอร์ แต่ข้อแตกต่างของการผลิต โดยนาโนเทคโนโลยีนั้น หน่วยวัดต่างๆ จะเป็นไปในระดับนาโนเมตร

เมื่อเราสามารถสร้างชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กมากๆ ประโยชน์ ที่ได้รับคือเราสามารถรีไซเคิลทุกชิ้นส่วนที่เหลือจากการผลิต ซึ่งจะทำให้การผลิตนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถผลิตชิ้นงานที่มีขนาดเล็กเพื่อส่งขึ้นไปในอวกาศ ทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลลงในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้มากยิ่งขึ้น และการนำไปใช้ในแบบอื่นๆ อีกมากมาย

ถือเป็นการเอาชนะข้อจำกัดในเรื่องขนาดและน้ำหนักที่ประสบพบอยู่ในปัจจุบัน

แผงวงจรไฟฟ้าชนิดยืดหยุ่นหรือโค้งงอได้ เป็นชิ้นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดพกพา เป็นชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อสัญญาณระหว่างแผงวงจรไฟฟ้าต่างๆ ในเครื่องใช้แต่ละชนิด มีข้อดีในเรื่องน้ำหนักเบาและมีราคาถูก แต่ยังคงถูกใช้เป็นเพียงตัวเชื่อมสัญญาณไฟฟ้าเพียงเท่านั้น ซึ่งแท้ที่จริงเราอาจนำชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น ตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ หรือวงจรรวม ไปติดบนแผงวงจร ไฟฟ้าชนิดยืดหยุ่นได้เหล่านั้น เพื่อการใช้งานที่มากกว่า แต่ติดปัญหาเรื่องเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบันโครง การวิจัยนี้จึงเกิดขึ้น

งบโครงการวิจัยนี้ตั้งไว้ที่ 130 ล้านบาท ภายใต้กรอบเวลา 5 ปี ถือว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของโครงการความร่วมมือ ระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในไทย โดยผลต่อเนื่อง คือการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันการศึกษา ให้ทัดเทียมนานาชาติที่เจริญแล้วในเรื่องนาโนเทคโนโลยี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.