|
ถึงเวลาของ พฤกษา เรียลเอสเตท
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลอดระยะเวลา 11 ปี พฤกษา เรียลเอสเตท ใช้จุดแข็งในเรื่องของเทคโนโลยีทางด้านการผลิต การบริหารการจัดการ เป็นฐานสำคัญสำหรับกระบวนการลดต้นทุน เพื่อไปสู่บทสรุปในการแข่งขันทางด้านราคา
ด้วยบุคลิกที่เงียบๆ นิ่มๆ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าปี 2547 เขามียอดขายที่ 5,112 ล้านบาท มียอดโอนของโครงการที่อยู่อาศัยประมาณ 2 หมื่นยูนิต ในช่วงเวลา 11 ปี
เป็นยอดขายบ้านจัดสรรที่สูงที่สุดของบริษัทพัฒนาที่ดิน ซึ่งอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และมากกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกหลายๆ บริษัท
พฤกษาโฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจนไปยังลูกค้าระดับล่างและกลาง ในราคาประมาณยูนิตละ 400,000-8,500,000 บาท มาโดยตลอด
ภาพของการปูพรมสร้างทาวน์เฮาส์ที่เริ่มต้นด้วยราคา 599,000 บาท ในโครงการพฤกษา 13 บนถนนรังสิต-คลอง 3 พร้อมๆ กันประมาณ 3,000 ยูนิตนั้น ตอกย้ำให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าราคานี้ยังมีอีกมากมาย และเป็นแหล่งขุมทรัพย์จำนวนมหาศาล ซึ่งไม่ค่อยมีใครลงมาพัฒนากันนัก นอกจากโครงการของรัฐบาล
เมื่อเน้นโครงการราคาถูก สร้างทีละจำนวนมาก การใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย เพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้างจึงเป็นเรื่องจำเป็น พฤกษาได้ใช้กลยุทธ์ในเรื่องเทคนิคการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นตัวนำ เพื่อให้สามารถกำหนดราคาบ้านได้สอดคล้องกับความต้องการจริงของกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่แล้ว
ปัจจุบัน ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท อายุ 47 ปี เขาจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เมื่อปี 2524 จากนั้นได้เข้าไปทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายบริษัท เช่น วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง และสยามเอนจิเนียริ่ง ต่อมาเมื่อปี 2536 ได้ก่อตั้งบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ขึ้นด้วยเงินทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายน ปี 2545
ระบบการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กที่เรียกว่า ระบบโครงสร้างผนังรับน้ำหนักแบบหล่อในที่ (Cast-Insitu Load Baaning Wall Structure) ถูกนำมาใช้ในโครงการทาวน์เฮาส์ของบ้านพฤกษา มาตั้งแต่ปี 2536 เป็นการก่อสร้างระบบสำเร็จ รูปจากประเทศฝรั่งเศส โดยมีผนังเป็นตัวรับน้ำหนักแทนเสาและคาน จึงลดขั้นตอนการหล่อเสาและคานออกไป โดยใช้การประกอบและติดตั้งได้เลย ณ จุดก่อสร้าง
หลังจากนั้นก็ได้พัฒนาการสร้างชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวบ้านจากโรงงานแล้วนำมาประกอบที่หน้างาน หรือเรียกว่าระบบ Prefabrication ซึ่งสามารถหล่อเสา พื้น และผนังของชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 พร้อมกันได้ในโรงงาน ผู้บริหารของพฤกษายืนยันว่าโดยวิธีนี้สามารถลดระยะเวลาการก่อสร้างบ้านเดี่ยวเหลือเพียง 70 วัน ในขณะที่วิธีก่ออิฐฉาบปูนทั่วไปใช้เวลานานถึง 6 เดือน
แม้การลงทุนในระยะแรกของระบบพวกนี้จะสูงมาก และทำให้ต้นทุนการก่อสร้าง แพงกว่าก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป แต่การก่อสร้างที่เร็วขึ้นทำให้ราคาเฉลี่ยต่อหลังถูกลงมากเช่นกัน
เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้าง สายงานหลักของบริษัทพฤกษา จึงเน้นไปยังงานการก่อสร้าง และสายงานทางด้านพัฒนาธุรกิจ ซึ่งมีพนักงานรวมกันถึง 850 คน เป็นคนในสายงานก่อสร้างถึง 5 ร้อยกว่าคนที่เหลือคือ พนักงานประจำบริษัท
เดือนกุมภาพันธ์ 2547 บริษัทได้ลงทุนก่อสร้างโรงงาน Precast ที่บริเวณลำลูกกา คลอง 4 ด้วยเงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท โดยซื้อเทคโนโลยีจาก Prilhofer&Associate ประเทศเยอรมนี และคาดว่าจะดำเนินการผลิตได้ประมาณปลายปีนี้ โรงงานแห่งใหม่จะมีศักยภาพในการผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้ในการก่อสร้างได้ ทุกรูปแบบควบคุมและตรวจเช็กชิ้นงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และสามารถผลิตชิ้นงานได้ถึง 110,000 ตารางเมตรต่อเดือน คิดเป็นการก่อสร้างบ้านได้ถึง 12 หลังต่อวัน
บ้านราคาถูก ต้นทุนเรื่องที่ดินต้องไม่สูงมากนัก จุดเด่นอย่างหนึ่งของพฤกษา ก็คือการหาที่ดินเก็บไว้เป็นแลนด์แบงก์จำนวนมาก เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และราคาที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1.5 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ต้องอยู่ในเขตปริมณฑล สำหรับทำโครงการบ้านเดี่ยวราคาไม่เกิน 2 ล้านปัจจุบันโครงการส่วนใหญ่ของพฤกษา อยู่ในโซนรังสิต บางบัวทอง-พุทธมณฑล และ เทพารักษ์
ในปี 2544 บ้านพฤกษาเริ่มรุกเข้าสู่ตลาดบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์ "ภัสสร" โดยมั่นใจว่าเทคโนโลยีทางด้านการผลิต มีผลกับการกำหนดราคาบ้านให้ต่ำกว่าโครงการอื่น ทำเลของภัสสรบางโครงการ รุกเข้าสู่โซนกรุงเทพฯ ชั้นในมากขึ้น เช่นย่านตากสิน-เพชรเกษม วิภาวดี 60 และถนนประชาชื่น
บ้านภัสสร กำหนดไว้ 3 ระดับราคา ภายใต้ชื่อ The Prestige ระดับราคาบ้าน เริ่มต้นที่ 1.94 ล้านบาท The Classic เริ่มต้นที่ 1.6 ล้านบาท และ The Elegance ราคาเริ่มต้นที่ 3.6 ล้านบาท
เพื่อปิดช่องว่างทางการขายที่ว่าบ้านราคาถูกแบบบ้านไม่สวย ในปี 2544 พฤกษาจึงได้ดึงบริษัทออกแบบชื่อดัง เคทีจีวาย อินเตอร์ แอสโซซิเอทส์ เข้ามาเป็นผู้ออกแบบโครงการ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ โดยกลยุทธ์นี้ยังได้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของผู้ประกอบการอีกว่า ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการออกแบบเพิ่มขึ้น
ปี 2547 พฤกษากำลังก่อสร้างประมาณ 11 โครงการ จำนวน 7 พันหลัง ทองมายืนยันว่า ภายใน 2-3 ปีนี้ บ้านพฤกษาจะต้องมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นหลังต่อปีแน่นอน โดยยังเน้นกลุ่มบ้านทาวน์เฮาส์และบ้านแฝด ของกลุ่มมีรายได้ระดับซีเป็นหลัก และเมื่อถึงเวลานั้นการขยายตัวในเรื่องของโรงงาน สร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปต้องมีเพิ่มขึ้นเช่นกัน
และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทที่ทำตัวโลว์โปรไฟล์มาตลอด บริษัทนี้ต้องติดต่อทีมงานบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทร เข้าเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินเพื่อเตรียมเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|