|
Marks&Spencer ในวังวนของการยื้อแย่ง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ในวังวนของการยื้อแย่ง การแย่งชิงหนึ่งในร้านค้าปลีกชื่อดังที่สุดของอังกฤษส่อเค้าไม่ชอบมาพากล
วันนี้ Stuart Rose คงอดนึกเสียใจไม่ได้ ที่ได้ซื้อหุ้น 100,000 หุ้นของ Marks& Spencer บริษัทซึ่งขณะนี้เขาได้เป็นผู้บริหาร สูงสุด เพราะการซื้อหุ้นในครั้งนั้น ได้ทำให้งานใหม่ของเขาที่ยากอยู่แล้วยิ่งทวีความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก
แต่ Rose ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า เมื่อตอนที่เขาซื้อหุ้น M&S ร้านค้าปลีกชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยิ่งยงอยู่ในระดับโลก แต่ขณะนี้กิจการกำลังเสื่อมทรุดนั้น เขาไม่รู้มาก่อนเลยว่า Philip Green เพื่อนเก่าซึ่งขณะนี้กลายเป็นศัตรู มีแผนจะครอบงำกิจการร้านค้าปลีกแห่งนี้ ซึ่งขณะนี้ราคาเสนอซื้อได้พุ่งขึ้นไปเป็นอย่างน้อย 15,300 ล้านดอลลาร์แล้ว
Rose ยังยืนยันอีกด้วยว่า เขาไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนเลยว่า เพื่อจะต่อสู้กับการถูกครอบงำกิจการ M&S จะขอให้เขารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ ด้วยเหตุผลที่อ้างมานี้ Rose จึงไม่ยอมลาออก เพราะถือว่าไม่ได้ทำอะไรผิด
อย่างไรก็ตาม ทาง Financial Services Authority (FSA) ของอังกฤษ ได้ลงมือสอบสวนความไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายหุ้น M&S แล้ว หลังจากราคาหุ้นของ บริษัทดังกล่าวพุ่งกระฉูดขึ้นสูงมาก ในช่วงเวลาก่อนที่จะถูกเสนอซื้อเพียงเล็กน้อย
นับตั้งแต่การทะเลาะกันระหว่าง Rose กับ Green ที่หน้าสำนักงานใหญ่ M&S ในกรุงลอนดอน หลังจากที่ Rose ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายใหม่ของ M&S แล้ว ก็ดูเหมือนว่าความไม่ชอบมาพากลต่างๆ จะเริ่มต้นขึ้นนับแต่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ใครบางคนพยายามจะอยากรู้ว่า Rose โทรศัพท์ติดต่อใครบ้าง และยังมีใครอื่นอีกบ้างที่ได้ซื้อหุ้น M&S ไป ในช่วงก่อนที่ราคาหุ้นจะพุ่งกระฉูดก่อนถูกเสนอซื้อ รวมทั้งคำถามที่ชวนให้ฉงนสนเท่ห์อีกมากมาย มากพอที่จะทำให้ข่าวการแย่งชิงร้านค้าปลีกชื่อดังของอังกฤษแห่งนี้ตกเป็นข่าวติดต่อกันเป็นสัปดาห์
ด้านคณะกรรมการ M&S ประกาศสนับสนุน Rose เต็มตัว ในขณะที่ Green ปฏิเสธว่าไม่เคยโกหกหลอกลวงใคร และตัวเขาเองยังตกเป็นเหยื่อการใส่ร้ายป้ายสีด้วยซ้ำไป จนการเสนอซื้อ M&S ครั้งแรกของเขาต้องถูกปฏิเสธ
นอกจากนี้ Green ยังช่วยยืนยันคำพูดของ Rose ไปโดยปริยาย เมื่อเขาระบุว่า ไม่เคยแย้มพรายเรื่องแผนจะซื้อ M&S ให้ Rose รู้เลยในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อเขาโทรศัพท์หา Rose แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่ Rose ซื้อหุ้น M&S ก็ตาม โดยเขาเพิ่งจะกระซิบบอกแผนของเขาให้ Rose รู้หลังจากนั้น 5 วัน
สำหรับผู้ถือหุ้น Rose กับ Green มีภาษีเท่ากัน ทั้งสองต่าง มีประสบการณ์คร่ำหวอดในการค้าปลีก จึงต่างมีคุณสมบัติเหมาะที่ จะเป็นผู้ฟื้นฟู M&S นอกจากนี้แผนฟื้นฟูของ Rose ซึ่งคาดว่าจะประกาศยุทธศาสตร์กลับคืนสู่คุณค่าพื้นฐานดั้งเดิม (back-to-basic) ของร้านค้าปลีกอายุ 100 ปีแห่งนี้ โดยจะกลับไปเน้นที่คุณภาพสินค้า และระบบ supply chain ที่คล่องตัวนั้น Green ก็เคยบอกแล้วว่าจะทำคล้ายๆ กัน ดังนั้นผู้ถือหุ้นจะเลือกถือหางฝ่ายไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า ในความเห็นของพวกเขา ใครเป็นนักค้าปลีกที่เก่งกว่ากัน
แต่ศึกยื้อแย่ง M&S ครั้งนี้คงจะยืดเยื้อและยุ่งยาก เมื่อ FSA ได้ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว และการสอบสวนเรื่องการซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายในในแดนผู้ดี ก็มักจะกินเวลานานหลายปี
แปลและเรียบเรียงจาก
The Economist July 3, 2004
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|