"บิ๊กหมง"ลุ้นคลังผ่านแผนฟื้นฟูฯTPI


ผู้จัดการรายวัน(29 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ขุนคลัง" คาดใช้เวลาพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไออีก 2-3 สัปดาห์ ก่อนส่งให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา ด้านพล.อ.มงคล มั่นใจคลังเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูฯ และสามารถดำเนินการตามแผนได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ขณะที่ปูนใหญ่ยันไม่สนลงทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณา แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทอุตสาหกรรม ปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) ว่า จะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษารายละเอียดแผนฟื้นฟูฯทีพีไอให้รอบคอบอีกครั้ง โดยคาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์ จะสามารถยื่นแผนต่อศาลล้มละลายกลางได้

ส่วนการเข้ามาแสดงความสนใจจะเข้ามาถือหุ้นของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นั้น นายสมคิดกล่าวว่า ทางกบข. แสดงความสนใจที่จะเข้ามาอยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มดี จึงต้องการเข้ามาลงทุนในทีพีไอ

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ กล่าวว่า คณะกรรมการ ได้ส่งแผนฟื้นฟูฯ ให้กับรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาเพื่ออนุมัติแล้ว โดยเชื่อว่ารมว.คลังจะเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูดังกล่าวหรือหากมีการแก้ไขก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการอนุมัติ 1-2 สัปดาห์

สำหรับขั้นตอนต่อไปคณะผู้บริหารแผนจะต้องส่งฟื้นฟูให้แก่คณะกรรมการเจ้าหนี้ที่มีตัวแทนเจ้า หนี้ประมาณ 4-5 ราย ได้พิจารณาและเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณา แผน

"ได้มีการหารือกับคณะกรรมการเจ้าหนี้คร่าวๆ แล้วว่า ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเพียง 45-60 วันในการเรียกเจ้าหนี้เข้ามาพิจารณาแผนขอให้เห็นชอบ หลังจากนั้นจะส่งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) เพื่อให้เจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูต่อไป"

พล.อ.มงคล กล่าวว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดคาดว่าจะใช้ระยะเวลาเพียง 2-3 เดือน จะสามารถดำเนินการได้ตามแผน เพื่อให้ทีพีไอเร่งดำเนินธุรกิจ เพราะมั่นใจว่าทีพีไอมีศักยภาพที่เพียงพอในการพัฒนาอุตสาหกรรมรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศได้ ภายในปีนี้น่าจะเห็นการเปลี่ยน แปลงหรือดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฉบับล่าสุดได้

อย่างไรก็ตาม หากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะมีการฟ้องร้องหรือคัดค้านแผนฟื้นฟูดังกล่าวก็สามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนของการพิจารณาของศาล ซึ่งคณะกรรมการขอยืนยันว่าทำแผน ฟื้นฟูฯ ยึดหลักความถูกต้องและเป็นธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ส่วนจะเป็นที่พอใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ก็จะต้องว่ากันด้วยเหตุผล เพราะการเป็นหนี้ก็จะต้องชดใช้ ต้องมีวินัยทางการเงิน

สำหรับประเด็นที่จะต้องมีผู้ร่วมทุนรายใหม่นั้น หากกระทรวงการคลังเห็นชอบที่จะสรรหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาทำให้ทีพีไอดีขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ซึ่งแผนฟื้นฟูจะระบุถึงกรอบของผู้ร่วมทุนไว้ ว่าจะต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ที่ เป็นคนไทย มีความรู้และประสบการณ์ ในอุตสาหกรรมปิโตเคมี หรือเป็น กองทุนของรัฐ โดยเท่าที่เห็นในประเทศไทยก็มีไม่มีกี่ราย

ขณะที่นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูน ซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) กล่าวว่า ไม่สนใจที่จะเข้าไปลงทุนใน ทีพีไอ เนื่องจากยังอยู่ในกระบวน การฟื้นฟูกิจการ และยังรอศาลล้มละลายกลางตัดสินว่าท้ายที่สุดแล้วจะฟื้นฟูทีพีไออย่างไร และเรื่องนี้ก็ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานแล้ว

"ถ้าถามผมเกี่ยวกับธุรกิจของทีพีไอ ผมว่าปตท.น่าจะเหมาะสมมากกว่า ในการเข้าไปร่วมทัพ เพราะปตท.มีธุรกิจโรงกลั่นอยู่แล้ว และเราก็ไม่มีความรู้ และไม่มีนโยบายทำอยู่แล้ว"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.