สยามซิตี้ แอสเซท แมแนจเม้นท์ ขนาดเล็ก คล่องตัวกว่า


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.สยามซิตี้ แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด เพิ่งออกกองทุน มาเพียงกองเดียวในลักษณะ balanced fund ใช้ชื่อ "กองทุนเปิดสยามซิตี้ บาลานซ์ ฟันด์" เริ่มจำหน่ายและลงทุนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 มูลค่าเริ่มต้นที่ประมาณ 400 ล้านบาท มีการจ่ายปันผลไปครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ที่หน่วย ลงทุนละ 0.40 บาท(หรือคิดเป็นอัตรา 13% ต่อปี) และมีกำไรสะสมอยู่บางส่วน

balance fund เป็นการลงทุนระหว่าง fixed income กับ equity ซึ่งข้อดีของกองทุนแบบนี้ มนูญ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการ บลจ.สยามซิตี้ แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "เราสามารถยืดหยุ่นระหว่างการลงทุนในหุ้นกับ fixed income ได้ประมาณ 75% กลับไปมาได้ และที่ผ่านมาที่เราเลือกออกตัวนี้เพราะสถานการณ์ในตลาดหุ้นไม่ค่อยดี ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เราจึงเอาเงินมาลงทุนในตลาด fixed income แต่เมื่อภาวะตลาดหุ้นกลับมาดี เราก็สามารถมาลงในตลาดหุ้นได้ และลดสัดส่วนของ fixed income ลงมา มันก็ยืดหยุ่นได้"

ซึ่งตอนนี้กองทุนเปิดสยามซิตี้ บาลานซ์ ฟันด์ ลงทุน 75% ในตลาด fixed income และอีก 25% เป็นการลงทุนในหุ้นและถือเงินสด ทั้งนี้มูลค่าหน่วยลงทุนทั้งหมดตอนนี้หดลงเหลือ 366.67 ล้านบาท (งบดุลเมื่อ 31 ม.ค. 2541)

สำหรับการออกกองทุนใหม่ในปีนี้ มนูญเปิดเผยว่าจะมีการออกอีก 2 กองทุน คือ Government Bond Fund ซึ่งได้รับอนุมัติจาก กลต.แล้วและรอจังหวะการออกกองทุนอยู่ คาดว่าภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า กองทุนนี้จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีการออกพันธบัตรออกมามาก และมีอัตราผลตอบแทนที่ดีไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงเทียบเท่าฐานะรัฐบาล กองทุนนี้มีชื่อภาษาไทยว่า "สยามธนรัฐ" เป็นกองทุนเปิด โดยคาดหมายขนาดกองทุนที่ 800-1,000 ล้านบาท ขายให้บุคคลทั่วไปรวมถึงสถาบัน

ทั้งนี้มนูญอยากจะเน้นผู้ลงทุนสถาบันต่างชาติ เพราะมีผลตอบแทนที่ดีหากถือไว้ระยะยาว เช่น อายุ 5 ปี มีอัตราผลตอบแทน 16% เป็นต้น

เขามองว่า "เศรษฐกิจประเทศไทยตอนนี้ลงไปสู่จุดต่ำสุดหรือ bottom out แล้ว ซึ่งผมคิดว่าในอนาคต ดอกเบี้ยคงไม่ค้างอยู่อย่างนี้ เศรษฐกิจดีขึ้น ดอกเบี้ยก็ต้องลดลง ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยเช่นนี้คงไม่ได้เห็นใน 2-3 ปีข้างหน้าแน่ yield จะไม่ได้ขนาดนี้ หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผลตอบแทนแค่ 6% เท่านั้น ตอนนี้ขึ้นมา 16% แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสภาพตลาด"

อีกกองหนึ่งที่มีแผนจะออกคือ property fund ซึ่งมนูญกำลังปรึกษากับนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่สนใจจะออกกองทุนประเภทนี้ "เท่าที่ดูอยู่ตอนนี้คงมีขนาดราว 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นขนาดตามที่ทาง กลต.กำหนด และการขายกองนี้จะเป็นการขายแบบเฉพาะเจาะจงหรือ private placement ซึ่งลักษณะของการลงทุนคงเป็นอาคารพาณิชย์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เราต้องดูความพร้อมของนักลงทุน เพราะว่ามันยังไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนในการออกกองทุนประเภทนี้" มนูญกล่าว

ทั้งนี้ กลต.ได้อนุมัติให้ออกกองทุนประเภท property fund ได้ แต่ผู้บริหารกองทุนส่วนมากยังไม่มีใครกล้าออกกองทุนประเภทนี้ ได้แต่ทำการศึกษา เพราะรายละเอียดเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน

การออกกองทุนของ บลจ.ทั้งหลายในปีนี้ จะเปลี่ยนแนวไปจากเดิมอย่างมากตามภาวะตลาด ที่ไม่เอื้อให้กองทุนประเภทลงทุนในหลักทรัพย์และในตราสารหนี้รุ่งเรืองดังที่เป็นมาในอดีต จะเห็นได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้สร้างบาดแผลเจ็บปวดให้แก่ บลจ.ไม่น้อย มูลค่ากองทุนหดหายไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งปัจจุบันทั้งระบบมีกองทุนอยู่ 165 กอง มูลค่าเงินลงทุนรวม 87 พันล้านบาทเท่านั้น (ดูตารางประกอบ)

มนูญก็เปลี่ยนแนวทางโดยให้เหตุผลว่า "ช่วงนี้จังหวะยังไม่ค่อยดี บลจ.หลายแห่งช่วงนี้ก็ต้องถอยหลัง 1 ก้าว เพราะติดปัญหาเรื่องการลงทุนของลูกค้าทั่วไป และมีการระแวงพอสมควรในการลงทุนต่างๆ แต่ในระยะยาวนั้น ลูกค้าที่มีเงินออมน่าจะมาลงทุนในกองทุน เพราะผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ทีเดียว"

สยามซิตี้ฯ ยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมากเพราะเพิ่งออกกองทุนมากองเดียว ดังนั้นจึงเจ็บตัวน้อยที่สุด "เรามีการคุมค่าใช้จ่ายในภาวะตลาดช่วงนี้ และเรื่องขนาดกองทุน แม้จะเล็กสุด แต่เราก็บริหารได้ดีในช่วงภาวะอย่างนี้" มนูญกล่าว

สมพงษ์ ฝ่ายจำปา ประธานกรรมการ บลจ.สยามซิตี้ แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า "ธุรกิจกองทุนรวมนั้นจะเร่งให้เร็วไม่ได้ หากเราเร่งเร็ว มันก็จะเป็นแบบเรือ Titanic เราต้องไปเป็นขั้นตอน สร้างความเข้าใจให้ลูกค้าและไม่ฉวยโอกาส"

สำหรับประเด็นเรื่องผู้ถือหุ้น บลจ.สยามซิตี้ฯ ซึ่งมีบงล.ที่ถูกปิดไปแล้วถือหุ้นอยู่ด้วยนั้น กรณีนี้มนูญอธิบายว่า "ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการดำเนินงานของบลจ.แม้แต่น้อย ส่วน เรื่องการหาผู้ลงทุนมาถือหุ้นใหม่นั้นก็อยู่ระหว่างการพิจารณาภายในหมู่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งคาดว่าน่าจะตกลงกันได้ เพราะตอนนี้กฎหมายก็อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใน บลจ.ได้มากขึ้นแล้วด้วย"

ทั้งนี้มี บงล. 3 แห่งที่ถือหุ้น บลจ. สยามซิตี้ฯ รวมกัน 30%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.