สถาบันไทย-เยอรมัน ถ่ายทอดเทคโนโลยีเยอรมันสู่ไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1995 เป็นวันที่มีการเซ็นสัญญาให้มีการก่อตั้งสถาบันไทย-เยอรมันแห่งนี้ขึ้น และในเดือนกรกฎาคม 1995 ดร.เอิร์นส์ กุนเทอร์ ชิลลิ่ง ผู้อำนวย การฝ่ายเยอรมันเดินทางมาที่นิคมอุตสาหกรรม บางปะกง 2 "ในตอนนั้นที่นี่ยังไม่มีอะไรเลย การก่อสร้างอาคารต่างๆ เริ่มต้นในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน แต่ก็มาชะงักในเดือนตุลาคม เพราะเหตุเรื่องน้ำท่วม"

นี่เป็นคำบอกเล่าของดร.ชิลลิ่ง ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ในฝ่ายเยอรมันมาตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน สถาบันแห่งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐของประเทศไทย และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งเมื่อสำเร็จขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่างในวันนี้นั้น ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมมาแต่ต้นก็รู้สึกยินดีและสุขใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ความพยายามผลักดันความร่วมมือเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเบื้องต้นนี้

โดยเฉพาะฝ่ายเยอรมันนั้นถึงกับกล่าวว่า หากโครงการที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างดี เขาจะถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาโครงการเช่นนี้กับประเทศอื่นๆ ต่อไป

"เป้าหมายของสถาบันมิใช่แค่ฝึกให้คนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคอย่างเดียว แต่ว่าทำอย่างไรฝึกให้คนมีจิตสำนึก จริยธรรม รู้จักจัดระบบวางแผนงานของตนเอง สามารถคิดและทำได้ทั้งระบบเอง ไม่ใช่รู้แค่เรื่องเทคนิค" ณรงค์ รัตนะ ผู้อำนวยการฝ่ายไทยเล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง ทั้งนี้หน้าที่ของฝ่ายไทยคือดูแลงานมาร์เก็ตติ้งและลูกค้าที่จะเข้ามารับการฝึกอบรม ขณะที่ฝ่ายเยอรมันนั้น รับผิดชอบเรื่องความรู้ความชำนาญในการฝึกอบรมเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้งาน และการจัดหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

ดร.ชิลลิ่งเล่าว่า "เราได้มีการทำสำรวจความคิดเห็นของเจ้าของกิจการในไทย ซึ่งพบว่าเราต้องแนะนำเทคนิคหรือ วิศวกรรมให้กับคนไทยตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การดีไซน์เครื่องจักรและกลไกต่างๆ รวมทั้ง methodology หรือแนวทางการประดิษฐ์ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานของสถาบัน"

ทางด้านกลุ่มเป้าหมายลูกค้า ณรงค์กล่าวว่า "เรามี 2 ประเภท คือลูกค้าทั่วไปในภาคอุตสาหกรรม และแบบ tailor made คือทำความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้เราเป็นองค์กรไม่ค้ากำไร"

เขาอธิบายเกี่ยวกับการบริหารงานของสถาบันฯ ว่า "แนวทางคือต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่รัฐบาลไทยให้โอกาสผม 10 ปี นับจากปีนี้ไป ปีที่แล้วรัฐบาลก็ให้เงินช่วยเหลือผม 149 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ก็ต้องทำงบเสนอขึ้นไปอนุมัติ ผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงฯ ผ่านมาทางมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม แล้วมูลนิธิฯ ก็ตัดมาให้ผมทั้งก้อนเพื่อมาดำเนินกิจการ รัฐบาลสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนไป 10 ปี หากเรามีลูกค้าไม่มากพอ เราก็ยังอยู่ได้ แต่มันก็มีความเสี่ยงคือในช่วง 4-5 ปีนี่เราจะทำอย่างไรให้เครื่องจักรที่มีอยู่ทันสมัย คือตอนนี้ที่เราคิดเงินลูกค้า เราก็เก็บไว้เพื่อเอามาใช้จ่ายในการเปลี่ยนซอฟต์แวร์ เปลี่ยนกลไกภายในให้ทันสมัยตลอดเวลา"

เหตุที่ต้องเปลี่ยนเครื่องจักรเพราะ "เครื่องจักรที่เรามีในตอนนี้ อีก 5 ปี มันจะมีรุ่นใหม่เกิดขึ้น เราต้องเก็บเงินไว้เพื่อเอามาเปลี่ยนมันในอนาคต"

ทั้งนี้ อาจมีข้อสังเกตว่าสถาบันฯแห่งนี้ทำหน้าที่ฝึกช่างไทยให้ใช้เครื่องจักรเยอรมันเป็นใช่หรือไม่

ณรงค์ให้ความเห็นว่าอาจจะใช่ "มันก็เหมือนกับเรามีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์ซับซ้อน เราก็ต้องสอนให้คนทำงานกับซอฟต์แวร์โปรแกรมนั้นได้ แต่ถ้าเราถามกลับว่า ก็ทำให้คนของเราเป็นทาสเทคโนโลยีเขาหรือไม่

ประเด็นนี้ผมเห็นว่ามันมีประโยชน์ 2 อย่าง คือเราพัฒนาเครื่องจักรได้ไม่เร็วเท่าเขา ดังนั้นเราจึงต้อง 1. ใช้เครื่องจักรที่เราซื้อเข้ามาให้คุ้มค่ามากที่สุด แต่ถ้าให้ดีคือ 2. ทำอย่างที่ญี่ปุ่นทำ คือต้องพัฒนาเครื่องจักรเหล่านี้ให้ได้เองด้วย ญี่ปุ่นไปซื้อเทคโนโลยีรถไฟจากเยอรมันมา วิธีคือซื้อเครื่องจักรมา และก็ต้องทำวิจัยคู่กันไปด้วย โดยการวิจัยนั้นต้องมีเป้าหมายแน่ชัดว่าต้องสร้างเทคโนโลยีเช่นนี้เองให้ได้ ซึ่งในที่สุดญี่ปุ่นก็ทำได้สำเร็จ"

ปรีชา อรรถวิภัชน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวในโอกาสนี้ว่า "สถาบันนี้เป็นตัวอย่างในความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมัน มีการร่วมมือกันเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่เทคนิคไทย ในการปรับคุณภาพและฝีมือในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ทั้งสองฝ่ายได้ลงเงินไปเท่าๆ กันฝ่ายละประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ได้ลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท และทางเยอรมันจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มอีกประมาณ 10 ล้านมาร์กหรือ 300 ล้านบาท ในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่โรงงานต่างๆ ที่ลดการผลิตลงหรือวางแผนปรับปรุงเครื่องจักร บุคลากร จะได้ส่งบุคลากรเข้ามาปรับปรุงเพิ่มพูนความรู้ และมาเรียนรู้เครื่องจักรใหม่ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะความรู้ของทางเยอรมันนั้นเป็นที่ยอมรับว่า เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบจัดการที่ดี"

ทางด้าน ดร.ไรเนอร์ เกอร์เดอเรอร์ อธิบดีกรมเอเชีย ยุโรปกลางและตะวันออก สาธารณรัฐเยอรมันกล่าวว่า "ความพยายามของสถาบันเป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ที่แสดงออกถึงสัมพันธภาพมิตรไมตรีที่ประเทศทั้งสองมีต่อกันมาอย่างช้านาน เยอรมันยังคงยืนเคียงข้างประเทศพันธ มิตรแม้ในยามยากลำบาก นี่คือตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน"

และดร.แกท โฟคท์ ประธาน Kfe กล่าวว่า "ขอแสดงความยินดีต่อประเทศไทยและเยอรมนี ที่โปรเจกต์นี้ได้สำเร็จลุล่วงออกมาเป็นสถาบันไทย-เยอรมัน หลังจากฝ่าฟันความยากลำบากในช่วงเริ่มต้น ตอนนี้เราก็เริ่มดำเนินงานสถาบันแห่งนี้ได้แล้ว สถาบันเป็นจุดริเริ่มสำคัญสำหรับความร่วมมือที่จะมีต่อๆ ไปในอนาคตของทั้งสองประเทศ ซึ่งดังที่ ดร.เกอร์เดอเรอร์กล่าวว่ามีความสัมพันธ์กันมากว่า 30 ปี

สถาบันจะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นต่อกันมากขึ้น มิใช่เฉพาะด้านบุคลากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านเทคโนโลยี เราเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อประเทศไทย

Kfw ในฐานะที่เป็น promotion bank ของรัฐบาลเยอรมนี ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่โครงการต่างๆ ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน มีมูลค่ารวมกว่า 8 พันล้านดอยช์มาร์ก และ Kfw ก็มีนโยบายว่าจะไม่ถอนเงินกู้เหล่านี้ออกจากประเทศไทย Kfw จะยังคงให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารต่อไป"

สิ่งน่าประทับใจของประธาน Kfw ซึ่งดูจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ทั้งที่เพิ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยในตอนเช้าและเข้าร่วมงานในช่วงสายๆ หลังจากเข้าคารวะนายกฯ ชวน หลีกภัย มาแล้ว ก็คือการที่เขากล่าวอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับความช่วยเหลือของเยอรมันที่มีต่อไทยว่า

"We will not withdraw the umbrella once it starts raining and there is heavy raining. I don't mean outside the nation. But in the economic situation at the moment, there is rain and we will not withdraw the umbrella."

ขณะที่ ดร. แบนด์ ไอเซ็นแบลทเทอร์ ประธานคณะกรรมการองค์การเยอรมันเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ GTZ กล่าวว่า "โครงการนี้มีความสำคัญมากต่อทั้งสองฝ่าย มันชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือด้านเทคนิคและความร่วมมือด้านการเงินกำลังดำเนินไปด้วยกัน มันมีพลังความ เข้มแข็งและความสามารถมากในการสร้างความก้าวหน้าขึ้น ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในยามที่ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นน ี้เป็นแนวโน้มหรือทิศทางใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในด้านการเงิน แต่ในด้านเทคนิคยังไม่ค่อยมีสโลแกน ที่ ดร.เกอร์เดอเรอร์ได้กล่าวไว้ว่า public private partnership ได้เกิดขึ้นเป็นจริงที่นี่ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายรัฐ แต่รวมถึงฝ่ายเอกชนที่มาร่วมงานกันได้ ซึ่งนี่ทำให้เราให้เห็นว่าโครงการนี้สำคัญมาก"

สถาบันนี้เป็นโฉมหน้าใหม่ของการพัฒนาบุคลากรด้านช่างฝีมือ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการยกระดับฝีมือ เพื่อให้เข้าได้กับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในช่วงนั้นๆ แต่สถาบันฯ คงจะเป็นการฝังรากด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากร ที่เข้ามารับการฝึก ซึ่งกว่าที่จะทำให้เกิดโครงการตรงนี้ได้ ไม่มีใครมองเห็นความสำคัญมาก่อน แต่เมื่อเกิดสถาบันนี้ขึ้นก็คงจะเห็นว่ามันมีความสำคัญมาก

ทั้งนี้เงินอีก 10 ล้านมาร์กที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนของความร่วมมือทางวิชาการ ที่จะใช้ไปในการฝึกอบรมบุคลากรของสถาบัน เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดการฝึกอบรม ซึ่งจะมาจากรัฐบาลเยอรมันผ่านทาง GTZ

โดยสรุปนั้นความช่วยเหลือทั้งหมดจากฝ่ายเยอรมันมี มูลค่า 30 ล้านมาร์ก มาจาก Kfw 10 ล้านมาร์กเพื่อใช้ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ในการฝึกอบรม อีก 20 ล้านมาร์กผ่านทาง GTZ ใช้ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.