บิ๊กโปรเจ็กต์ แกรนด์เซลล์ ดึงเงินนอกหนุนหนองงูเห่า


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศนโยบายของรัฐบาลจากปากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจอย่างศุภชัย พานิชภักดิ์ ด้วยวิถีที่จะมุ่งเข้าหา "ทางอยู่รอดของประเทศไทย" ภายใต้กฎเหล็กของ "มหามิตร" ที่ส่งผ่านมาทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ทำให้ไทยต้องเร่งมาตรการที่ดองมาแสนนานในเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยดึงเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเสริมโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ

เติมต่อความฝันที่จะปั้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทาง อากาศในภูมิภาค ซึ่งไม่ยอมแตกดับไปพร้อมกับเศรษฐกิจฟองสบู่ มีการนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง

สามโครงการหลักที่ศุภชัย ประกาศต่อหน้านักลงทุนทั้งไทยและ ต่างประเทศในการสัมมนาระดับนานาชาติ ว่าด้วยเรื่อง "โครงการศูนย์กลางการผลิตและขนส่งทางอากาศยานนานาชาติ เตรียมไทยสู่ศูนย์กลางด้านการบินและธุรกิจ ศตวรรษที่ 21" เมื่อ 21 มกราคมที่ผ่านมาก็คือ

- โครงการศูนย์กลางการผลิตและขนส่งทางอากาศยานนานาชาติที่สนามบินอู่ตะเภา หรือ Global Transpark
- โครงการทางอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่สอง ที่หนองงูเห่า
และ - โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งที่ 2 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ทั้ง 3 โครงการเป็นแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกระยะที่ 2

เป็นการประกาศนโยบายด้านโครงการขนาดใหญ่ที่แน่ชัด เมื่อเริ่มต้นปีเผาจริงของเศรษฐกิจไทย และเป็นการยืนยันว่า แม้รัฐบาลไทยจะประสบปัญหาด้านการเงินการคลังขนาดหนัก แต่ก็ยังพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดมหาศาลต่อไป

เพียงแต่ครั้งนี้ ปรับกลยุทธ์เปิดทางเอกชนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ลดเงื่อนไขสร้างแรงจูงใจครั้งมโหฬาร

Global Transpark ที่อู่ตะเภานั้น ได้รับความช่วยเหลือจากตัวแทนการค้าและการพัฒนาของสหรัฐ หรือ U.S. Trade and Development Agency

ศูนย์ซ่อมเครื่องบินลำตัวกว้างของการบินไทย ประกาศหาผู้ร่วมทุนแล้ว

โครงการสนามบินหนองงูเห่ายังอยู่ในที่นั่งลำบาก ตั้งแต่เริ่มปั้นโครงการมาเมื่อปี 2535 เป้าหมายเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี 2543 จนป่านนี้ความคืบหน้าด้านการก่อสร้างยังไม่มีความชัดเจน กำหนดการก่อสร้างและใช้งานได้ล่วงเลยไปถึงปี 2547

การทิ้งบอมบ์ของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ให้ล้มประมูลถมทรายกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และเป็นภาระที่รัฐบาลชุดนี้ต้องสะสางและเปิดประมูลใหม่ ไม่ให้มีปัญหายืดเยื้ออยู่กับเอกชน โดยเฉพาะการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย อาจเป็นอีกปัจจัยที่ดึงให้โครงการล่าช้า

สำหรับบริษัท ท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ จำกัด หรือ บทม. ผู้ดูแลที่ถูกอนุมัติจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 และรับมอบหน้าที่ควบคุมดูแลงานจ้างออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างต่อมาในวันที่ 11 เมษายน เริ่มเจออุปสรรคตั้งแต่แรกเริ่มลงมือทำงานเดิมงานทุกอย่างของหนองงูเห่ายังมีเต็มโครงการมีทางวิ่ง 2 เส้น รับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี

เมื่อสภาพเศรษฐกิจผันแปร โครงการต้องลดขนาดลงเหลือเพียงการก่อสร้างทางวิ่ง 1 เส้น รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุนประมาณ 68,800 ล้านบาท เปิด ให้บริการได้ปี 2547 จากงบประมาณ เดิมที่ตั้งไว้ถึงประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

บทม.เองไม่ได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะโครงการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จมีเพียงเงินดอกเบี้ยเงินฝากเท่านั้น

เงินทุนจดทะเบียนเป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่กระทรวงการคลัง และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ ทอท. เรียกชำระแล้ว ประมาณ 8,748 ล้านบาท จากทุน 10,000 ล้านบาท

เมื่อบทม.ต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 20,650 ล้านบาท ก็ต้องเรียกชำระเพิ่มจากผู้ถือหุ้นรายเดิมซึ่งเท่ากับยังเหลือเงินอยู่อีกประมาณ 11,000 ล้านบาทจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทั้งสองก็ทำได้ยาก

กระทรวงการคลังซึ่งเป็นกระเป๋าเงินของรัฐบาลต้องเจียดเงินทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า หลังการตัดงบประมาณครั้งมโหฬารภายใต้กฎเหล็กของไอเอ็มเอฟ คงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณมาจ่ายค่าหุ้นให้กับ บทม.ได้

ขณะที่ ทอท.ยอมที่จะชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือให้ครบเต็มตามจำนวนสัดส่วนร้อยละ 51.39 จากทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาทเท่านั้น

วาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2541 เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา จะมีเรื่องการเพิ่มทุนเข้าสู่ที่ประชุม ก็ถูกตีตกให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการซื้อเวลาการชี้ขาดชะตาของโครงการหนองงูเห่า

มีการโยนภาระให้อยู่ในอุ้งมือของคณะกรรมการเร่งรัดการดำเนินงานโครงการท่าอากาศยานหนองงูเห่า และกรรมการศึกษาแนวทางการเพิ่มบทบาทเอกชน ในการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ ที่มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธาน

คณะกรรมการฯ ต้องเร่งหาข้อสรุปการปรับปรุงจราจรทางการบินระหว่างสนามบินดอนเมือง และหนองงูเห่าให้สอดคล้องกัน ใช้ข้อมูลของที่ปรึกษา ทอท.คือบริษัท ทิสโก้ กับที่ปรึกษาบทม.คือบริษัทนาป้า ศึกษาเพื่อแบ่งงานการบริหารให้ลงตัวและชัดเจนมากขึ้น

แผนที่แน่นอนเพื่อใช้ชักจูงนักลงทุนต่างชาติมาลงขันให้หนองงูเห่า โดยการแบ่งซอยงานในสนามบินถึง 14 งาน และตั้งบริษัทลูกรองรับการร่วมทุน

ผ่อนภาระของรัฐบาลและทอท.ในการลงทุนของหนองงูเห่า

"การแปรรูปที่เกิดขึ้นจะต้องมีการปรับปรุงแผนการเงินใหม่ ทอท.เองก็ต้องถูกแปรรูป เงินที่มีอยู่จึงต้องเก็บไว้เพื่อรองรับแผนใหม่ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มทุนให้กับบทม. เพราะ บทม.เองเมื่อได้ข้อสรุปเรื่องการแปรรูป ก็อาจไม่ต้องใช้เงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมก็ได้" ผู้บริหารระดับสูงของทอท.สรุปนโยบายของทอท.ที่มีต่อบริษัทลูก

การแปรรูปนั้น อาจนำมาซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหม่ เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนก็อาจเป็นของเอกชนทั้งในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้

สถานการณ์บทม.จึงต้องรอผลสรุปของหม่อมเต่าที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม แม้ปรีติ เหตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บทม.เองต้องการให้ผู้ถือหุ้นยอมเพิ่มทุนในบทม. เพื่อรักษาระดับความเชื่อมั่นจากสถาบัน การเงินต่างประเทศที่จะปล่อยกู้ให้กับโครงการก็ตาม

แต่เมื่อรัฐบาลกระเป๋าฉีก และเร่งเร่ขายโครงการยักษ์เพื่อต่อชีวิตแผนลงทุนและอนาคตของประเทศ ความต้องการของ บทม.ก็ดูจะกลายเป็นเรื่องเล็กเกินไปเสียแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.