|
จับตาNPLหวนคืนธปท.สังตรวจเข้ม
ผู้จัดการรายวัน(27 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติ จับตาหนี้เอ็นพีแอลธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งตั้งสำรอง เพิ่มทันทีหากเจอปัญหาเอ็นพีแอลเหมือนกรณีแบงก์กรุงไทย ระบุจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีปัญหาการชำระหนี้แล้ว ด้านผู้บริหารแบงก์กรุงเทพ แจงหุ้นแบงก์รูด ไม่เกี่ยวกับหนี้เน่าและการตั้งสำรอง ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชี้บริษัทขนาดเล็ก-กลาง เตรียมหนีไปใช้บริการบริษัทไฟแนนซ์แทน หลังแบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท. ได้จับตาลูกหนี้ ของธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นอยู่ หลังจากได้สั่งให้ธนาคารกรุงไทยนำลูกหนี้ ที่มีแนวโน้มจะมีปัญหาในการชำระหนี้ กลับมาจัดชั้นเป็นหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) พบว่ามีธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งจะต้องสั่งให้นำกลับไปจัดชั้นเป็นหนี้เอ็นพีแอล และกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มอย่างที่ได้ดำเนินการกับธนาคารกรุงไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว
"จากการที่ฝ่ายตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบ ทำให้เริ่มเห็นแล้วว่าบางธนาคารส่อแววที่จะมีเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับเพิ่ม ธปท.กำลังจับตาดูอยู่และอาจจะต้องสั่งให้มีการตั้งสำรองหนี้เน่าเพิ่ม ซึ่ง ธปท. จะสั่งการให้นำหนี้ดังกล่าวกลับมาจัดชั้นเป็นหนี้เอ็นพีแอลอีกรอบ ซึ่งคละกันไประหว่างสินเชื่อที่ปล่อยกู้ใหม่และสินเชื่อที่เคยเป็นหนี้มาก่อนและได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว"
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่คาดว่าจะกลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอลใหม่เป็นหนี้ที่ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้วและกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ เนื่องจากกระบวนการ ปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงแรกได้เน้นการยืดเวลาชำระหนี้และให้ลูกหนี้ไปชำระเงินกู้ในอัตราสูงช่วงปีท้ายๆ แต่ทางธปท.มองว่าหากพิจารณากระแสเงินสด และรายได้ที่จะเข้ามาในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอที่ชำระหนี้ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ธปท.จึงต้องสั่งให้กลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่และตั้งสำรองหนี้จัดชั้นใหม่
"ยอมรับว่าการยืดเวลาชำระหนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะวิธีการยืดหนี้ทำให้หนี้กลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอลเป็นจำนวนมาก แต่การกำกับของธปท.ได้ทำไปตามเกณฑ์การเน้นคุณภาพสินเชื่อ แม้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นแต่ฐานะของแบงก์ก็ไม่เปลี่ยนแปลงหรือแย่ลง" นางธาริษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ที่ ธปท.เน้นคุณภาพของ เอ็นพีแอลนั้นจะพิจารณาจากความเสี่ยงในการปล่อยกู้และความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ซึ่งความเสี่ยงในการปล่อยกู้ของแต่ละกลุ่มธุรกิจอาจ ไม่เท่ากัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลก็มีแยกย่อยเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลได้อีก
"สินเชื่อที่อยู่อาศัย ธปท.เห็นว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยกู้น้อย เนื่องจากทุกแห่งมีความระมัด ระวังในการปล่อยกู้ไว้แล้ว"
นางธาริษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารกรุงไทยตั้งสำรองหนี้สูญ เนื่องจากดูที่คุณภาพของสินเชื่อที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้มีความเสี่ยง แต่การสั่งให้ตั้งสำรองเพิ่มไม่ใช่เป็นการสร้างภาระให้กับธนาคารเนื่องจากกรณีของธนาคารกรุงไทยได้มีการกันสำรองส่วนเกินอยู่แล้ว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การตั้งสำรองหนี้เสียในไตรมาส 2 ที่เพิ่มขึ้น 62,000 ล้านบาท ของธนาคารกรุงไทย ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่เป็น การเพิ่มศักยภาพในการบริหารงานของธนาคาร โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ มิถุนายน 2547 ของธนาคารกรุงไทย อยู่ที่ 125,697 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรก 2547 มีเอ็นพีแอล 79,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 46,047 ล้านบาท ทำให้การกันสำรองในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 62,000 ล้านบาท และส่งผลให้กำไรของธนาคารลดลงจากที่ประมาณการไว้ 3,000 ล้านบาท เหลือเพียง 1,600 ล้านบาท
ไทยธนาคารไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่ม
ด้านนายพีระศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารไทยธนาคารเอง ได้มีการตั้งสำรองหนี้สูญ ไปเมื่อปีที่แล้วเป็นจำนวนมาก และเน้นที่คุณภาพของสินเชื่อหลัก ดังนั้น ธนาคารจึงยังไม่มีความจำเป็นต้องกันสำรองเพิ่มในปีนี้
ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นการปรับตัวตามภาวะตลาดหุ้นโดยรวม และภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลดลง เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เป็นทางเลือกของนักลงทุน ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับภาระการตั้งสำรองหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารมากนัก
"ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ได้มีการกันสำรองครบตามที่กฎหมายกำหนด และในไตรมาสที่ 2 เราก็มีกำไรมาก และกันสำรองมากเช่นกัน" นายเดชา กล่าว
นายธงชัย เจริญสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้มีการปรับวิธีพิจารณาความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเครดิตตามภาวะเศรษฐกิจ และมีการทบทวนเครดิตอยู่สม่ำเสมอ อีกทั้งผู้อนุมัติสินเชื่อและพนักงานที่หาลูกค้าสินเชื่อปฏิบัติหน้าที่ในคนละส่วนงานกัน ไม่มีการก้าวก่ายกันอย่างเด็ดขาด
นายประวิทย์ องค์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ถือเป็น เรื่องที่ดีเนื่องจากเข้ากับหลักเกณฑ์ของ Basel II อยู่แล้ว แต่การจะตั้งสำรองในสินเชื่อทุกๆ ส่วนเลยนั้นคงทำได้ยากและจะเกิดผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เนื่องจากรายละเอียดของเกณฑ์นี้มีข้อปลีกย่อยมากต้องทยอยทำในแต่ละกลุ่มสินเชื่อ
"ธนาคารก็เริ่มทยอยปรับเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับ Basel II บ้างแล้ว ส่วนเรื่องการตั้งสำรองเพิ่มของลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงนั้นธนาคารยังไม่ได้รับคำสั่งจากธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด และเท่าที่มีการปล่อยสินเชื่อมาธนาคารก็มีการพิจารณาสินเชื่ออย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว เกณฑ์ที่แบงก์ชาติออกมาถือว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคาร ต่างๆ เข้าสู่ความเป็นสากลและสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายประวิทย์กล่าว
จัดสรรเล็ก-กลางหันซบไฟแนนซ์
นายอิสระ บุญยัง อุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า กรณีที่สถาบันการเงินเพิ่มความ ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้น เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดย ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินรายงานการปล่อยสินเชื่อโครงการตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อป้องกันการเกิดโอเวอร์ซัปพลาย ซึ่งจากมาตรการนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็เพิ่มความระวัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเริ่มไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ในส่วนของรายกลางยังพอปล่อยสินเชื่อให้บ้างบางโครงการ
ส่วนกรณีที่ธปท.ให้ธนาคารกรุงไทยตั้งสำรองเพิ่มดังกล่าว อาจทำให้ธนาคารอื่นๆ เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมนั้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กในการขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการบ้าง ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนมากมีหนทางในการระดมทุนได้หลายช่องทาง จึงไม่น่าจะประสบปัญหามากนัก
"การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์คงไม่ทำให้ธุรกิจอสังหาหยุดชะงัก เนื่องจากผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก อาจหันไปขอสินเชื่อจากบริษัทเงินทุนหรือบริษัทไฟแนนซ์แทน โดยบริษัทเหล่านี้จะปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และไม่ได้คำนึงว่ามีหนี้สินต่อทุนมากน้อยเพียงใด แต่จะให้สินเชื่อขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของโครงการมากกว่า แม้ว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า แต่การที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญก็คือ เรื่องของสภาพคล่องในการดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้กลุ่มบริษัทดำเนินโครงการต่อไปได้" นายอิสระ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|