|
เปิดแผนขายหุ้นอ.ส.ม.ท. ให้สิทธิรายย่อยจองไม่เกินแสนได้ก่อน
ผู้จัดการรายวัน(26 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"มิ่งขวัญ" มั่นใจ หุ้นอ.ส.ม.ท.เข้าตลาดฯเดือนกันยายน อีกไม่เกิน 3 สัปดาห์ จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน เผยแผนกระจายหุ้นแบบขั้นบันได 3 ระดับ รายย่อยหนึ่งหมื่นถึงหนึ่งแสนหุ้นได้สิทธิซื้อก่อน คนที่จองเกินแสน-ล้านหุ้น ต้องรอให้เหลือจากกลุ่มแรก ถ้าจองล้านหุ้นขึ้นไป รอคิวสุดท้าย ระบุ ปรับตัวรองรับ กสช.แล้ว เชื่อได้บริหารคลื่นทีวีและวิทยุเหมือนเดิม องค์กรภาคประชาชนยื่นหนังสือผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้ศาลรธน.ตีความ แปรรูป อ.ส.ม.ท.ขัดมาตรา 40 หรือไม่
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการ แปรรูปองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้แปลงสภาพ อ.ส.ม.ท. เป็นบริษัท อ.ส.ม.ท. จำกัด (มหาชน) และแปลงทุน เรือนหุ้น เป็นทุนจดทะเบียนมูลค่า 3,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5 บาทต่อหุ้น ว่า ขณะนี้คณะกรรมการระดมทุนของกระทรวงการคลังประเมินราคาทรัพย์สินของอ.ส.ม.ท.แล้วว่ามีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้จะจดทะเบียนเป็นบริษัท อ.ส.ม.ท. จำกัด (มหาชน) กับกระทรวงพาณิชย์ได้ หลังจากนั้นจะกระจายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 25% ของทุนจดทะเบียน หรือ 150 ล้านหุ้น และนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ประมาณเดือนกันยายน
นายมิ่งขวัญ กล่าวถึงแนวทางการกระจายหุ้นว่า นโยบายของรัฐบาลต้องการให้ประชาชนและนักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อหุ้นของ อ.ส.ม.ท.ได้อย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงได้คิดวิธีการขายหุ้นให้แก่นักลงทุนแบบขั้นบันได โดยกำหนดผู้จองหุ้นเป็น 3 ระดับคือกลุ่มที่ 1 ผู้จองซื้อตั้งแต่ 10,000-100,000 หุ้น 2. ผู้จองซื้อตั้งแต่ 100,000-1 ล้านหุ้น 3. ผู้จองซื้อตั้งแต่ 1 ล้านหุ้นขึ้นไป ทั้งนี้จะพิจารณาขายให้กับกลุ่มที่ 1 เป็นอันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจองซื้อจากนักลงทุน รายย่อยจริงๆ หากมีหุ้นเหลือจากผู้จองกลุ่มแรกนี้ จึงจะเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ 2 จอง เหลือเท่าไรจึงจะเป็นคิวของกลุ่มที่ 3 แต่ถ้าขายหมดตั้งแต่ผู้จองกลุ่มแรก ผู้จองกลุ่มที่ 2 และ 3 ก็หมดโอกาสไปโดยปริยาย
"วิธีนี้จะแก้ปัญหาการจองซื้อหุ้นไม่ให้ไปกระจุกตัวอยู่กับนักลงทุนกลุ่มใหญ่ ซึ่งหุ้นของ อ.ส.ม.ท.นี้จะไม่มีโควตาให้ผู้มีอุปการคุณ ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้การกระจายหุ้นครั้งนี้มีความโปร่งใส และเป็นธรรม"
ส่วนราคาหุ้นนั้น ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. กล่าวว่า ยังไม่มีการกำหนด เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการระดมทุนจะเป็นผู้กำหนด สำหรับการซื้อขาย หุ้นของ อ.ส.ม.ท.นั้นจะกำหนดให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยถือได้ไม่เกิน 5% และนักลงทุนสถาบันซึ่งเป็นต่างชาติถือได้ไม่เกิน 15% ซึ่งทางคณะกรรมการตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ควบคุม
สำหรับธุรกิจของบริษัท อ.ส.ม.ท. จำกัด (มหาชน) ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ประกอบด้วยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์น ไนน์ เป็นธุรกิจ หลักในการทำรายได้ ส่วนธุรกิจอื่นๆ คือ วิทยุของ อ.ส.ม.ท.จำนวน 62 คลื่นทั้งในกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด, สำนักข่าวไทย,บริษัทพาโนรามาเวิลด์ไวลด์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการสารคดี, สัมปทานช่อง 3, สัมปทาน บริษัท ยูบีซี
มั่นใจ กสช. จัดสรรคลื่นให้เท่าเดิม
ส่วนความเสี่ยงของผู้ลงทุน ในกรณีที่มีคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เกิดขึ้นแล้ว สถานีโทรทัศน์และวิทยุทุกแห่งจะต้องส่งมอบคลื่นความถี่ให้กับ กสช.เพื่อให้ กสช. จัดสรรคลื่นใหม่ ซึ่งอ.ส.ม.ท. อาจจะไม่ได้รับการจัดสรรคลื่นวิทยุและโทรทัศน์เหมือนเช่นปัจจุบัน นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ที่ผ่านมาอ.ส.ม.ท. ได้มีการปรับโครงสร้างต่างๆ มากมายทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ทีวีโมเดิร์น ไนน์ มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่หัวจดเท้า ตรงนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอ.ส.ม.ท.ได้มีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรองรับ กสช. เมื่อกสช.เกิดขึ้น ยังมั่นใจว่า อ.ส.ม.ท. จะได้รับการจัดสรรคลื่น วิทยุและโทรทัศน์ ที่ทำอยู่ในปัจจุบันต่อไป
"นี่เป็นสาเหตุที่อ.ส.ม.ท.ต้องมีการยกเครื่องและปรับตัวครั้งใหญ่ก่อนที่จะเกิดคณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งช่วงแรกปรับใน ส่วนของทีวี ต่อไปก็จะยกเครื่องในส่วนของรายการวิทยุ ตอนนี้จะยึดคืนมาบริหารเองทั้งหมด และนโยบายต่อไปคือไม่ให้มีการเช่าช่วงเวลา" นายมิ่งขวัญ กล่าว
สำหรับผลดีที่เกิดขึ้นกับ อ.ส.ม.ท.หลังยึดคลื่น วิทยุคืนมาคือมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เช่น เดิมมีการให้เอกชนเช่าช่วงเวลาจัดรายการมีรายได้เดือนละ 2 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเมื่อนำมาบริหารเองมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว บางคลื่นมีรายได้เพิ่มกว่า 8-10 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าคลื่นวิทยุของอ.ส.ม.ทจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในอนาคตเมื่อมีการบริหารจัดการอย่างเต็มตัว
ชี้ได้เปรียบต้นทุนสัมปทาน
แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ ให้ความเห็นถึง สถานะของ อ.ส.ม.ท. เมื่อเปรียบเทียบกับสถานีโทรทัศน์และวิทยุอื่นๆ ว่า อ.ส.ม.ท. มีความได้เปรียบช่องทีวีอื่นๆ เช่น ช่อง 3 และไอทีวี เนื่องจาก อ.ส.ม.ท.เป็นเจ้าของคลื่นและมีสัมปทานทีวีเอง ไม่มีต้นทุนค่าเช่าเวลา และค่าสัมปทาน และยังมีรายได้ค่าสัมปทานจากช่อง 3
แนวโน้มธุรกิจการแข่งขันของทีวีช่องต่างๆ ช่องโมเดิร์น ไนน์ ของ อ.ส.ม.ท.ถือว่ากำลังเบียดและแซง หลายๆ ช่องขึ้นมาอยู่ในแนวหน้าและมีอัตรารายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะธุรกิจทีวีคาดว่า 9 เดือนแรกของปีนี้จะมีรายได้กว่า 1 พันล้านบาท ตลอดปีนี้จะมีรายได้กว่า 1.2-1.3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้จากทีวียังมีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 45 นั้นเป็นรายได้จากวิทยุและค่าสัมปทาน
ยื่นตีความ แปรรูปฯขัดรธน.หรือไม่
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ ที่มูลนิธิอาสาสมัคร เพื่อสังคม (มอส.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) นายพิทยา ว่องกุล รองประธาน คปส. และ นายคณิณ บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการแปรรูปอ.ส.ม.ท.ที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 40 นายสุริยะใส กล่าวว่า ครป.คัดค้านมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 กค.ที่ให้แปลงสภาพ อ.ส.ม.ท. เป็นบริษัท เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า คลื่นวิทยุโทรทัศน์ถือเป็นทรัพยากร สาธารณะ และรัฐธรรมนูญยังมอบหมายให้องค์กรอิสระอย่าง กสช.เป็นผู้บริหารจัดการคลื่นดังกล่าว การนำ อ.ส.ม.ท.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากจะเป็นการปล้นอำนาจ กสช. แล้วยังเป็นการ แปลงทรัพยากรของแผ่นดินไปให้กับกลุ่มทุนธุรกิจขาประจำในตลาดหลักทรัพย์ ต่อไปกลุ่มธุรกิจการเมืองขาประจำก็จะเป็นเจ้าของทีวีเรียกว่ามีทีวีเป็น สมบัติประจำตระกูลกันคนละช่องในที่สุด และในวันพุธที่ 28 กรกฎาคมนี้ องค์กรภาคประชาชนจะยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติ ครม.ให้แปรรูป อ.ส.ม.ท.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายคณิน กล่าวว่า อ.ส.ม.ท.เป็นสื่อของชาติที่ทำหน้าที่เป็นสื่อของประชาชนเมื่อแปรรูปเป็นของเอกชนแล้ว ชาติและประชาชนจะขาดเครื่องมือที่เป็นกลางและรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม นับแต่ รัฐธรรมนูญประกาศใช้ อ.ส.ม.ท.ไม่ใช่เจ้าของคลื่นความถี่ ต้องเป็น กสช.เท่านั้น เพียงแต่ อ.ส.ม.ท. มีสิทธิที่จะใช้ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 335 (2) ดังนั้น อ.ส.ม.ท. หรือใครก็ตามไม่มีสิทธิ์ เอา อ.ส.ม.ท.ไปแปรรูปให้เอกชน นอกจากนี้การที่ ครม. อ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีการเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของฝ่ายบริหารไม่ใช่องค์กรวินิจฉัยสูงสุด
นายพิทยา กล่าวว่า การแปรรูปอ.ส.ม.ท. ของรัฐบาลครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้จัดรายการรายย่อยมากมายนับพันรายการ ซึ่งรอคอยความหวังว่า เมื่อมีกสช.เรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ประมาณ 40% ของคลื่นความถี่ทั้งหมดตามกฎหมาย แต่รัฐบาลกลับชิงตัดหน้าแปรรูปอ.ส.ม.ท.หลีกเลี่ยงกฎหมาย เพื่อนำคลื่นความถี่หรือรายการไปให้แก่กลุ่มทุน โดยเฉพาะกลุ่ม ทุนการสื่อสารที่แวดล้อมรัฐบาล หรือมีความสัมพันธ์กับตระกูลนายกรัฐมนตรี
อีกประเด็นหนึ่งที่นักวิชาการสื่อสารมวลชนวิตกกัน ก็คือ ขณะนี้ใกล้ถึงช่วงเวลาเลือกตั้ง ถ้าหากมีการแปรรูปอ.ส.ม.ท.ไปก่อนแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงสื่อวิทยุโทรทัศน์ของพรรคอื่นๆที่ไม่ใช่รัฐบาล ในการเช่าเวลาแพง หรือเวลาถูกจำกัด อยู่ในกลุ่มทุนสื่อฝ่ายรัฐบาล ที่อาจกีดกันพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ได้ เนื่องจากสื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อทางไกลที่กระจายได้กว้างขวาง และประชาชนรับได้ทั่วไป
ด้าน น.ส.สุภิญญา เลขาธิการ คปส.กล่าวว่า การลักไก่แปรรูป อ.ส.ม.ท. ก่อนที่กสช.จะเกิดขึ้นนั้น เพราะรัฐบาลต้องการหนีการควบคุมของ กสช. ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ กำหนดว่า รูปแบบของสื่อสารมวลชนมี 3 ประเภทคือ 1. องค์กรสื่อสารมวลชนของรัฐต้องทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะแสวงหากำไรมิได้ 2. องค์กรสื่อสารฯของเอกชนสามารถแสวงหาผลกำไรได้ 3. สื่อสารฯของชุมชน ต้องทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนและสาธารณะ ฉะนั้น ความพยายามเร่งรีบแปรรูป อ.ส.ม.ท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เพื่อแสวงหากำไรมากกว่า บริการสาธารณะ
"คปส.เรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้กสช. และร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้กสช.ทำหน้าที่ปฏิรูปสื่อเพื่อประชาชน เพราะตอนนี้มีการเตะถ่วงกสช.ให้ล่าช้าและรัฐบาลไม่สนใจที่จะให้ กสช.เกิดขึ้น" น.ส.สุภิญญากล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|