กสท รื้อสัญญาฮัทช์ปัญหาค่าเช่าระบบ


ผู้จัดการรายวัน(26 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ดกสท เตรียมทบทวนสัญญาฮัทช์ มุ่งประเด็นเรื่องค่าเช่าโครงข่ายของบริษัท BFKT เกรงเกิดการผ่องถ่ายรายได้ทำให้ กสท เสียเปรียบ ด้านซีดีเอ็มเอภูมิภาค รอสรุปทีโออาร์ขั้นสุดท้าย หลังบอร์ดล้วงลูกล็อกสเปกสถานี ฐานเอื้อประโยชน์เวนเดอร์รายใหญ่สวีเดน

แหล่งข่าวจากบริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า บอร์ดกสท เตรียมทบทวนสัญญาการตลาดที่ทำไว้กับบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบซีดีเอ็มเอ 2000 1X ในกรุงเทพฯ และภาคกลางในชื่อบริการฮัทช์

"ตัวแทนจากอัยการเริ่มศึกษาถึงรายละเอียดและโอกาสในการแก้ไขโดยเฉพาะประเด็นที่ฮัทช์เช่าโครงข่ายจากบริษัท BFKT ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นกิจการในกลุ่มฮัทช์ ตามสัญญา 15 ปี"

นายวิทิต สัจจพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวในทำนองยอมรับว่า ยังไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่อีกระยะหนึ่งจะต้องถูกเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้กำลังดูรายละเอียดกันอยู่

แหล่งข่าวกล่าวว่า โมเดลของฮัทช์ ถือว่าใกล้เคียงกับกรณีไอเอสพี ที่กสท ถือหุ้นลม 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ ไอเอสพี มักไม่มีกำไรจ่ายคืนเงินปันผลให้กสท แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเอไอเอสพี กลับมีกำไร มีการผ่องถ่ายรายได้กันไป

กสท ถือหุ้นในบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอทีฯ ประมาณ 33% หรือ 5 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ กสท ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของ ครม.โดยมีข้อตกลงว่า หากมีการเพิ่มทุนในบริษัทนี้ ฮัทชิสัน จะใส่เงินในสัดส่วนของกสทให้ และถือหุ้นไว้แทนกสทก่อน อย่างไรก็ตาม จะรักษาสัดส่วนหุ้นของกสท ไม่ให้ต่ำกว่า 25% เพื่อรักษาสิทธิของกสท ในการ veto ไว้

ส่วนด้านโครงข่าย อุปกรณ์ และสถานีฐานต่างๆ จะจัดซื้อและเป็นเจ้าของโดยบริษัท BFKT ซึ่ง BFKT จะให้บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอทีฯ เช่าเพื่อให้บริการ ลูกค้า ตามสูตรค่าเช่าที่ประกอบด้วย investment + operation cost + cost of financial โดยมีเลแมน บราเดอร์ส เห็นชอบในสูตรนี้ด้วย

ฮัทชิสัน ซีเอทีฯ ลงทุนไปแล้วไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสมไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในส่วนของ BFKT มีรายได้ที่แน่นอนมาจากค่าเช่าที่ฮัทชิสัน ซีเอทีฯ ต้องจ่าย ซึ่งมี financial term ที่ระบุอัตราดอกเบี้ยคงที่ตามสัญญา

"บอร์ดและผู้บริหารกสท เห็นว่าหากทำธุรกิจเช่นนี้ต่อไป โดยไม่มีการทบทวนสัญญา ฮัทช์ก็จะไม่มีทางกำไรกลับคืนมาให้กสท แต่ในขณะที่ BFKT ที่ให้เช่าโครงข่ายกลับมีรายได้แน่นอน ซึ่งกสทต้องการ เคลียร์ปัญหาดังกล่าวก่อนการเกิดขึ้นของเน็ตเวิร์กซีดีเอ็มเอ ในภูมิภาค" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับโครงการซีดีเอ็มเอภูมิภาค มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง (Ex-Com) ที่มีนายอำนวยศักดิ์ ทูลศิริ รองประธานบอร์ดที่เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัทอีริคสัน เป็นประธาน โดยจะเป็นการสรุปทีโออาร์ ขั้นสุดท้าย ท่ามกลางข้อสงสัยว่า มีการเขียนสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเวนเดอร์ บางรายแบบล็อกสเปกในเรื่องสถานีฐาน (Base station) ส่วนที่เรียกว่า Carrier/Sector (C/S) ให้เป็น 5/3 เนื่องจากอีริคสัน มีอุปกรณ์ที่พอดีกับเงื่อนไข ดังกล่าว ในขณะที่เวนเดอร์รายอื่นสามารถเข้าประมูลได้ แต่อุปกรณ์ต้องมีการปรับปรุงซึ่งทำให้ต้นทุนสูงกว่าเป็นพันล้านบาท

"ถ้าเป็น 3/3 เวนเดอร์ ทุกรายประมูลได้ในราคาอุปกรณ์ประมาณ 2 พันล้านบาท ไม่มีใคร ได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ถ้าเป็น 5/3 อีริคสัน มีอุปกรณ์ที่ลงตัวพอดีในราคาประมาณ 3,500 ล้านบาท เวนเดอร์รายอื่นหากปรับปรุงให้เป็น 5/3 ต้องมีต้นทุน 4,500 ล้านบาท แพงกว่า 1 พันล้านบาท เห็นได้ชัดว่าเกิดการเอื้อประโยชน์กันขึ้น"

การประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองดังกล่าว คาดว่าจะเกิดความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างผู้บริหาร กสท กับกรรมการกลั่นกรอง เพราะผู้บริหารกสทไม่ต้องการให้สเปกออกมาไม่โปร่งใสในทำนองล็อก สเปก เพราะเกรงว่าอาจทำให้โครงการถูกดึงล่าช้าออก ไปอีก ในขณะที่กรรมการบางรายกลับต้องการให้ สเปกอุปกรณ์สถานีฐานเป็น 5/3 ให้ได้ เพื่อประโยชน์ ของบริษัทเดิมที่ตัวเองเคยเป็นผู้บริหาร

"เพื่อลดความขัดแย้งกับกรรมการบางราย ผู้บริหารกสท ยอมให้ปรับสถานีฐานเป็น 5/3 ได้ในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีความต้องการใช้งานมากอย่าง ไอซีทีซิตี้ ประมาณ 10% ของจำนวนสถานีฐานทั้งหมด 1,200 แห่ง แต่ดูเหมือนกรรมการยังไม่ยอมต้องการ ให้เป็น 5/3 ทั้งหมด 1,200 สถานี"

แหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่ควรคำนึงสำหรับโครงข่ายซีดีเอ็มเอ ภูมิภาค คือ ต้องมีความชัดเจนว่าเน็ตเวิร์กภูมิภาคเป็นประโยชน์และสร้างมูลค่าให้กับกสท โดยเฉพาะการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้า กสทพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าเน็ตเวิร์กซีดีเอ็มเอภูมิภาค เป็นประโยชน์กับ กสท หรือ ฮัทช์ มากกว่า ก็เท่ากับการลงทุนสูญเปล่า เพราะนักลงทุนคงไม่สนใจหุ้นของบริษัทที่มีหนี้เน็ตเวิร์กมหาศาล โดยมองไม่เห็นโอกาสในการสร้างรายได้

กสท ต้องจัดการปัญหาเรื่องการตลาดให้ชัดเจน กรณีการคิดค่าใช้จ่ายโรมมิ่งเครือข่ายระหว่างกันว่าเป็นเช่นไร รวมทั้งโครงสร้างอัตราค่าบริการ การตั้งราคาโทรศัพท์มือถือ เพราะหากการทำตลาดไม่ประสานหรือสอดคล้องกัน ย่อมเป็นผลเสียกับกสทมากกว่า ตัวอย่างง่ายๆ กรณีเครื่องลูกข่าย หาก กสทใช้วิธีตัดราคาเครื่อง ยอมรับภาระขาดทุนจากตัวมือถือ โดยหวังยอดจดทะเบียน แต่ลูกค้าในภูมิภาคซื้อเครื่องไปใช้ในกรุงเทพฯ ภาคกลางในเครือ ข่ายฮัทช์ กสท ก็จะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เต็มๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.