|

ชูปตท.พัฒนาปิโตรเคมีไทยสัปดาห์หน้ายุติแผนฟื้นTPI
ผู้จัดการรายวัน(23 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"สมคิด" ชูปตท.เป็นเสาหลักในการพัฒนา ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย ควบคู่น้ำมันและก๊าซฯ รองรับการก้าว สู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้ โดยเปิดทางให้ปตท.ถือหุ้น ทีพีไอไม่เกิน 30% เมื่อรวมสัดส่วนหุ้นที่คลังถือแล้วเบ็ดเสร็จเกิน 50% เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหาร ลั่นสัปดาห์หน้าแผนฟื้นฟูทีพีไอได้ข้อยุติ ระบุการเจรจาราคาหุ้นทีพีไออยู่บนพื้นฐานธุรกิจและไม่บีบบังคับ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) วานนี้ (22 ก.ค.) ว่า ธุรกิจพลังงานถือเป็นคลัสเตอร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเช่นเดียวกับระบบขนส่ง โดยปตท.ถือเป็นเสาหลักในธุรกิจด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาคนี้ แข่งขันกับต่างประเทศได้
ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในอีก 5-6 ปีข้างหน้า จะเป็นอุตสาหกรรมหลักของ ประเทศ ในการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการให้ปตท.เป็นเสาหลักในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยด้วย รัฐพร้อมที่จะสนับสนุนทั้งด้านภาษีและอื่นๆ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นดีทรอยต์ของเอเชีย เพราะจะเป็นไปไม่ได้หากไทยต้องนำเข้าสินค้าปิโตรเคมีจากต่างประเทศ
"การมาเยี่ยมชมปตท.ครั้งนี้ ได้รับฟังความคืบหน้ากิจการของปตท. ซึ่งเป็นเสาหลักด้านออยล์แอนด์ก๊าซ โดยมีธุรกิจปิโตรเคมีเสริมมูลค่าสูงสุด นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม ปตท.จะนำบริษัท ไทยออยล์เข้าตลาดหลักทรัพย์หลังจากปรับโครงสร้างหนี้ จนปัจจุบันมีผลการดำเนินงานที่ดีมาก นับเป็นบริษัทที่ 6 ในเครือปตท.ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ" นายสมคิด กล่าว
ดังนั้น คลังจึงได้เสนอปตท.เข้าไปร่วมทุนในบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (ทีพีไอ) ซึ่งปตท.เองก็มีความสนใจ เพราะจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ปตท.ยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจไปด้วยกันได้ ที่ผ่านมามีเพียงบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจด้านปิโตรเคมีอย่างค่อนข้างครบวงจรรายใหญ่ของไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดทั้งหมดของแผนฟื้นฟู กิจการที่ตัวแทนกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯทีพีไอเสนอมา ร่วมกับข้อเสนอของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะผู้บริหารลูกหนี้ รวมทั้งโครงสร้างการถือหุ้นในทีพีไอใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะส่งให้ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯต่อไป
สำหรับสัดส่วนที่จะเสนอให้ปตท. ถือหุ้นทีพีไอนั้น คงจะไม่เกิน 30% ส่วนสัดส่วนที่เหลือก็จะมีการจัดสรรให้มีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นเดิม รวมทั้งพนักงานทีพีไอ
"ตอนนี้สัดส่วนการถือหุ้นในทีพีไอคิดอยู่ในใจ คร่าวๆ แล้ว รอให้ถึงเวลาแล้วจะเปิดเผย ซึ่งในส่วน ของปตท.จะให้ไม่เกิน 30% เมื่อรวมกระทรวงการคลังแล้วถือเกิน 50% แน่นอน" นายสมคิดกล่าว
สัดส่วนที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปถือนั้น คงจะเป็นตัวแทนของกระทรวงการคลัง เช่น หาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สนใจ ก็จะเข้ามาถือในนามของกระทรวงการคลัง เมื่อดูเรื่อง สัดส่วนแล้วจะไม่ทำให้ทีพีไอเป็นรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหนี้ทีพีไอเห็นชอบแผน ฟื้นฟูฯดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ขอยืนยันว่าทีพีไอจะต้องมีการลดทุนจดทะเบียนลง เพราะขาดทุนมหาศาล ขณะที่ปตท.จะเข้าไปถือหุ้นในทีพีไอหลังจากปรับโครงสร้างหนี้ใหม่แล้ว โดยราคาหุ้นที่ซื้อนั้นจะมีการเจรจาบนพื้นฐานธุรกิจ ไม่มีการบีบบังคับปตท.ให้เข้าไปถือหุ้นทีพีไอ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ในการ เข้าถือหุ้นทีพีไอในเรื่องเงื่อนไข และราคา จะต้องเหมาะสม เนื่องจาก ปตท.เป็นบริษัท(มหาชน) และกระทรวงการคลังไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ เพียงแต่เห็นว่าทีพีไอดำเนินธุรกิจเหมือนกับปตท. จึงน่าจะช่วยเสริมให้ปตท.โตต่อไปอีก
"ตอนนี้ทางด้านสัดส่วนนั้น กระทรวงการคลังเสนอให้เรา ในสัดส่วนไม่เกิน 30% แต่การถือหุ้นเราต้องพิจารณาและการตัดสินใจให้รอบคอบ เพื่อให้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|