แม้สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยยังอึมครึม ทั้งปัญหาด้านราคาและต้นทุนการผลิต
แต่โดยภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการส่งออกยังคงสดใส ถ้าภาคเอกชนและรัฐบาลช่วยกันแก้ปัญหา
หลังจากความสับสนวุ่นวาย ในเรื่องการพยายามผลักดันให้มีการปรับราคาน้ำตาลของโรงงานและชาวไร่อ้อย
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ในที่สุดรัฐบาลก็มีมติไม่ให้ขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย
โดยให้ตรึงราคาน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศไว้เช่นเดิม ซึ่งสาเหตุการเรียกร้องให้ขึ้นราคาน้ำตาลทราย
เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ไทยประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
มาเป็นระบบลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2540 อีกทั้งมองว่าราคาน้ำตาลทรายของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับราคาตลาดโลก
(พิจารณาตาราง)
"ถ้าเปรียบเทียบราคาน้ำตาลทรายไทยกับราคาตลาดโลกแล้ว ขอยืนยันว่าราคาของเราถูกที่สุดในโลก
และเป็นเวลา 17 ปีที่น้ำตาลทรายไม่เคยขึ้นราคาเลย" ชนะ อัษฎาธร กรรมการบริหารกลุ่มโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรือง
กล่าว
จากเรื่องราวการขอขึ้นราคาน้ำตาลทราย ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยกลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอีกครั้ง
หลังจากที่เคยเงียบหายไปนาน ซึ่งถ้ามองเข้าไปถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยในตลาดโลกแล้ว
ปรากฏว่ายังเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปริมาณอ้อยในปีการผลิต 2540/2541
จะอยู่ที่ระดับประมาณ 42 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีการผลิต 2539/2540 ที่มีสูงถึง
56 ล้านตันอ้อย
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกปีการผลิต
2539/2540 อยู่ที่ระดับ 4.28 ล้านตัน ส่วนอันดับ 1 คือ บราซิล ที่มีปริมาณการส่งออก
5.7 ล้านตัน อันดับ 2 คือ ออสเตร-เลีย มีปริมาณการส่งออก 4.4 ล้านตัน (พิจารณาตาราง)
"ขณะนี้น้ำตาลทรายไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้เป็นอย่างดี แต่คาดว่าปีนี้เราจะสามารถส่งออกได้ประมาณ
2.3 ล้านตัน เนื่องจากสภาวะความแห้งแล้งทำให้อันดับตกลงไปอยู่ที่ 4 โดยจะมีคิวบาแซงขึ้นมาแทน"
อิสระ ว่อง กุศลกิจ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทมิตรผล กล่าวถึงศักยภาพน้ำตาลทรายไทยในตลาดโลก
นอกจากนี้เขายังกล่าวต่อไปว่า น้ำตาลทรายเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศประมาณ
15% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด อีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม
ที่เกิดจากการว่างงานในชนบท ทำให้เกิดการจ้างงานในชนบทมากกว่า 6 แสนคน
"โดยมีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี
และยังทำรายได้ในรูปของภาษีให้กับรัฐบาลหลายพันล้านบาทในแต่ละปี" อิสระ
กล่าวถึงผลดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
ต่อข้อถามที่ว่าทำไมน้ำตาลไทยถึงได้โดดเด่นในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดในเอเชีย
สืบเนื่องจากประเทศในเอเชียไม่รวมออสเตรเลีย ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวที่ผลิตน้ำตาลทราย
และสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้มากที่สุด อีกทั้งความต้องการการบริโภคน้ำตาลในเอเชียสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การผลิตน้ำตาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาการ "โรคขาดน้ำตาลทรายของคนเอเชีย"
เรื้อรังมาโดยตลอด อย่างเช่นตั้งแต่ปี 2533-2540 อัตราการบริโภคน้ำตาลทรายในเอเชียสูงกว่าอัตราการผลิตเฉลี่ย
5.40% และอาการเช่นนี้จะยังคงมีต่อไปในอนาคต โดยคาดว่าการบริโภคตั้งแต่ปี
2541-2548 จะสูงกว่าการผลิตน้ำตาลทรายประมาณ 9.79%
"เราคาดว่า ปีนี้การบริโภคน้ำตาลทรายในเอเชียจะสูงถึงประมาณ 48 ล้านตัน
ขณะที่การผลิตรวมมีเพียงประมาณ 37 ล้านตัน และถ้ามองถึงอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จะสูงขึ้นประมาณ
2-2.5% ต่อปี จึงบอกได้เลยว่าน้ำตาลทรายไทยมีอนาคตแน่นอน" อิสระกล่าว
ต้นทุนผลผลิตต่อไร่ยังสูง
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายประเทศไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลได้ลงทุนในการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาผลิต และส่งเสริมการพัฒนาในการผลิตเครื่องจักรเพื่อใช้ภายในประเทศ
จนสามารถลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ และสามารถส่งออกเทคโนโลยีเครื่องจักรไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้
ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลต่ำกว่าต้นทุนมาตรฐานของโลก
และปัจจุบันต้นทุนในส่วนนี้ของไทยถือว่าต่ำที่สุดในโลก
"ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีกำลังการผลิตรวมค่อนข้างสูง สามารถหีบอ้อยที่มีอยู่โดยใช้เวลาเพียง
3 เดือนเท่านั้น ถือว่าเป็นระยะเวลาหีบอ้อยที่สั้นมาก และจากกำลังการผลิตที่มีอยู่นั้นสามารถหีบอ้อยได้มากกว่า
70 ล้านตันอ้อย" อิสระกล่าว
แต่ถ้ามองถึงต้นทุนด้านไร่อ้อยแล้วปรากฏว่านับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา
ต้นทุนส่วนนี้กลับสูงขึ้นเนื่องจากค่าแรงงาน ค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยทางด้านไร่อ้อยของโลกเริ่มลดลง
ทำให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่และคุณภาพอ้อยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยผลผลิตอ้อยต่อไร่ของไทยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ
7-8 ตันต่อไร่ เมื่อเทียบกับประเทศโคลัมเบีย, ออสเตรเลีย, บราซิล, อินเดีย,
จีน และคิวบา ซึ่งได้ผลผลิตอ้อยต่อไร่ 21.6, 12.77, 11, 10.24, 9.1 และ 8.72
ตามลำดับ
"จะเห็นว่าอุตสาหกรรมเรายังมีศักยภาพในการพัฒนา ให้สามารถผลิตน้ำตาลทรายเพื่อการส่งออกแข่งกับบราซิลและออสเตรเลียได้
เพียงแต่ทางการเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง หากเข้ามาช่วยในภาคผลผลิต ในส่วนของชาวไร่อ้อยให้สามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยจากเดิม
ให้เพิ่มขึ้นเป็น 10-12 ตันต่อไร่ได้" อิสระ กล่าว
เขายังกล่าวต่อไปว่า ถ้าทำได้จะทำให้ในอนาคต ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ
1 ของโลกได้ และสามารถทำรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีได้อย่างแน่นอน
แต่คำถามต่อมา คือ หากเปิดเสรีทางการค้าแล้วสถานการณ์น้ำตาลทรายของไทยจะยังคงสดใสเช่นนี้อยู่หรือไม่
ซึ่งคำถามนี้ยังคาใจของวงการน้ำตาลทรายอยู่เสมอ เพราะเมื่อเปิดเสรีการค้าแล้วไทยจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มากแค่ไหน
ถ้ามองดูเฉพาะต้นทุนของโรงงานแล้วไทยสามารถแข่งขันได้
"แต่ถามว่าจะแข่งขันไปได้นานแค่ไหน เพราะจุดอ่อนของเราอยู่ที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก
คือ ต้นทุนโรงงานถูกแต่ต้นทุนต่อไร่ยังสูง ดังนั้นคาดว่าภายใน 3-4 ปี ข้างหน้าเราแข่งขันกับเขาได้
แต่หลังจากนั้นไม่แน่ใจว่าจะแข่งขันกับเขาได้หรือไม่" ทัศน์ วนากรกุล
ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดของกลุ่มบริษัท มิตรผล กล่าว
ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย
ปัญหาไม่ควรมองข้าม
แม้ว่าผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจะมองโลกในแง่ดีถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมของตัวเอง
แต่ถ้ามองลงไปยังชาวไร่อ้อยแล้ว ปรากฏว่ากำลังประสบปัญหาจากภาวะภัยแล้งของดินฟ้าอากาศ
ทำให้ปีนี้จะมีปริมาณอ้อยลดต่ำลง รวมทั้งผลผลิตอ้อยจะลดลงไปอยู่ที่ 83 กิโลกรัมต่อตัน
จากเดิมที่ได้สูงถึง 98 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ต้นทุนชาวไร่อ้อยกลับเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อพิจารณาจากปริมาณอ้อยที่จะได้ในปีการผลิตนี้ประมาณ 42 ล้านตันอ้อย
และกำไร 70% ชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยขั้นต้น 764.90 บาทต่อตัน และเมื่อรวมจากการขายกากน้ำตาลของโรงงานอีก
22.20 บาทต่อตันอ้อย ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้ขั้นสุดท้าย 785.92 บาทต่อตัน
"แต่ขณะนี้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายเพียง 600 บาทต่อตันเท่านั้น
แต่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อตันซึ่งไม่คุ้ม ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการให้ชาวไร่อ้อย
ได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไม่ต่ำกว่า 758 บาทต่อตัน"
ดังนั้นอนาคตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจะมั่นคงได้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและนโยบายของรัฐบาลว่าจะให้การสนับสนุนมากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี
ตัวอย่างความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็คือ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในฟิลิปปินส์
และอินโดนีเซียเดิมเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลเพื่อการส่งออกรายใหญ่ แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ
ทำให้ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวทั้ง 2 ประเทศถดถอยลงอย่างรุนแรง จนไม่สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้เพียงพอกับการบริโภค
และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซียต้องนำเข้าน้ำตาลทรายปีละไม่ต่ำกว่า
1 ล้านตัน
"ดังนั้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของเราจะเดินทางไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับนโยบายและเป้าหมายที่เด่นชัดของรัฐบาล"
อิสระกล่าวตบท้าย