ย้อนรอยปุ๋ยแห่งชาติ


ผู้จัดการรายวัน(23 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

จากกรณีที่มีการช่วงชิงเพื่อครอบครองบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) (NFC) หรือ ปุ๋ยแห่งชาติ เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีสัดส่วนเกิน 50% ระหว่างนายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี เอ็นเอฟซี (ถือหุ้น 39.73%) กับนายดิเรก ฉัตรพิมลกุล (ถือหุ้น 32.36%) และนายวิชัย ทองแตง (8.04%) โดยนายวิชัยเป็นพันธมิตรกับนายดิเรก ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นรวม 40.40% นั้น "ผู้จัดการรายวัน" มีโอกาสสัมภาษณ์ประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบสท. ซึ่งรับผิดชอบการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูเอ็นเอฟซี มาตั้งแต่มีการโอนหนี้เข้ามายังบสท. เพื่อฉายภาพที่ไปที่มาและอนาคตของปุ๋ยแห่งชาติที่กำลังกลายสภาพ จากธุรกิจเชิงนโยบายรัฐไปเป็นธุรกิจเอกชนเต็มตัวภายใต้ชื่อใหม่

นายประเสริฐยอมรับว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม จึงแย่งกันเพื่อให้ได้หุ้นเพิ่มและเพื่อคุมอำนาจบริหารและไม่รู้ว่าทั้งสองฝ่ายจะขัดแย้งกันเรื่องอะไร เพราะเดิมทีนายณัฐภพเป็นพันธมิตรกับนายดิเรก แต่ข่าวที่ออกมาล่าสุดระบุว่าทั้งสองคนทะเลาะกัน

การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะนายณัฐภพที่เสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ซึ่งรวมถึงขอซื้อหุ้นจากบสท.ในราคา 11.50 บาท นายประเสริฐคิดว่าไม่มีความจำเป็นเนื่องจากบสท.สนับสนุนนายณัฐภพเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อยู่แล้ว แม้เอ็นเอฟซีจะมีท่าเรือที่ระยอง สามารถต่อยอดธุรกิจได้จริงก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ ยิ่งถ้าเป็นมุมมองจากคนนอกคงสงสัยไม่น้อยว่าเอ็นเอฟซีมีอะไรดีจึงต้องลงทุนลงแรงแย่งกันทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเป็นบริษัทล้มละลาย

"ผมในฐานะผู้ที่รับผิดชอบตั้งแต่รับโอนหนี้มา คิดว่าเอ็นเอฟซี ต้องมีบสท.และรายย่อยถือหุ้นอยู่หรืออย่างน้อยบสท.ต้องอยู่เพื่อรายย่อย ที่สำคัญผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ดีพอในการขอซื้อหุ้นครั้งนี้"

นายประเสริฐเปิดเผยว่า ตนในฐานะผู้รับผิดชอบได้เสนอบอร์ดบสท. รักษาสัดส่วนการถือหุ้นในปุ๋ยแห่งชาติไว้ที่ 17.35% เช่นเดิม เนื่องจากไม่สามารถ หาคำตอบถึงความจำเป็นที่บสท.ต้องเร่งขายหุ้นออกมา และที่สำคัญถ้าหากบสท. นำหุ้นออกมาประมูลก็จะเป็นการทิ้งปัญหาให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย

นายประเสริฐมั่นใจว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเดินมาถูกทาง เจ้าหนี้ยอมลดหนี้ให้ หาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ที่โชคดีคือมีการแปลงหนี้เป็นทุน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หลังจากที่นายณัฐภพเข้ามาซื้อหุ้นและเข้ามาบริหารเอ็นเอฟซีเริ่มมีอนาคตเพราะมีทั้งเงินทุนใหม่และประสบการณ์ด้านธุรกิจเกี่ยวเนื่องของนายณัฐภพน่าจะช่วยเอ็นเอฟซีให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สถาบันการเงินสนใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็กำลังจะให้เครดิตสินเชื่ออีกว่า 2 พันล้านบาท

นายประเสริฐเปิดเผยว่า ขณะนี้เอ็นเอฟซีอยู่ระหว่างการหารือกับ นายประยุทธ์ มหากิจศิริ เจ้าของไทยคอปเปอร์ เพื่อขายกรดกำมะถันซึ่งเป็นของเสียจากการผลิตทองแดงให้เอ็นเอฟซีนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตปุ๋ย ซึ่งจะถูกกว่ากรดกำมะถันที่เอ็นเอฟซีผลิตเอง

"ต้องยอมรับว่าปุ๋ยแห่งชาติในขณะนั้นเกิดผิดที่ผิดเวลา เพราะในขณะที่ปุ๋ยแห่งชาติเกิดขึ้นแล้ว บริษัทผู้ผลิตทองแดงไม่มี แตกต่างจากต่างประเทศที่โรงงานปุ๋ยกับโรงงานทองแดงอยู่คู่กันเพื่อเอื้อซึ่งกันและกัน"

ทั้งนี้โรงงานปุ๋ยเอ็นเอฟซีกับไทยคอปเปอร์อยู่ห่างกันเพียง 2 กิโลเมตร ที่อ.มาบตาพุด จ.ระยอง

ดิ้นเข้าตลาดหุ้นพาเจ๊ง

สำหรับที่มาของเอ็นเอฟซีภายใต้ชื่อปุ๋ยแห่งชาติก่อนจะถึงวันนี้ แหล่งข่าว ในวงการค้าปุ๋ยวิเคราะห์ว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการลงทุนที่เกินตัว ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการผลักดันปุ๋ยแห่งชาติให้สามารถเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงทำให้บริษัทต้องไปสร้างโรงงานผลิตกรด เพื่อผลิตกรดซัลฟิวริก มาใช้สำหรับกระบวนการผลิตปุ๋ย ขึ้นมาแทนที่จะสั่งนำเข้าจากต่างประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า

"การสร้างโรงงานกรดทำให้บริษัทมีเงินลงทุนเกิน 10,000 ล้านบาท ตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่ได้ตั้งใจที่ทำธุรกิจโรงกรดอย่างจริงจัง นี่เป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาขาดทุนและกลายเป็นหนี้สิน"

นอกจากนั้น การที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีบริษัทปุ๋ยแห่งชาติเป็นของรัฐบาล ก็ขาดการวางแผนด้านการตลาด และการส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกร แม้ว่าในวงการอุตสาหกรรมปุ๋ยจะยอมรับว่าโรงงานผลิตปุ๋ยของบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัส ได้อย่างมีคุณภาพ เมื่อเทียบกับโรงงานปุ๋ยทั่วไป แต่ระยะเวลาเห็นผลช้ากว่าปุ๋ยทั่วไป ที่ระยะเวลาเห็นผลจากการใส่ปุ๋ยเพียง 3 เดือนเท่านั้น ขณะที่ปุ๋ยแห่งชาติใช้เวลากว่า 6 เดือน นี่คืออีกปัจจัยสำคัญ

"ถามว่าทำไมปุ๋ยแห่งชาติจึงแจ้งเกิดไม่ได้ ก็เพราะว่าขาดการวางแผนด้านการตลาดมาตั้งแต่แรก ขาดการส่งเสริม การให้ความรู้เกษตรกรว่า การใช้ปุ๋ยของปุ๋ยแห่งชาติในระยะยาวส่งผลดีกับดินหรือพืชพันธุ์ทางการเกษตรอย่างไร พอเกษตรกรทดลองใช้กว่าจะเห็นผลก็ปาเข้าไป 6 เดือน แต่ถ้าเขายังคงใช้ปุ๋ยในรูปแบบเดิมๆ เห็นผลภายใน 3 เดือน และที่สำคัญเกษตรกรบ้านเรามีรายได้มาจากการขายพืชผลทางการเกษตร ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนอะไรง่ายๆ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปุ๋ยแห่งชาติยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้" แหล่งข่าวกล่าว

และจากปัญหาข้างต้น จึงทำให้ปุ๋ยแห่งชาติตัดสินใจกระโดดเข้าแข่งขันด้านราคากับบริษัทปุ๋ยที่เป็นเจ้าตลาด โดยในระหว่างปี 2539-2540 ปุ๋ยแห่งชาติได้ตัดสินใจขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน ซึ่งทำให้ช่วงนั้นมียอดขายสูงประมาณ 3-4 พันล้านบาท แต่นั่นก็ทำให้ปุ๋ยแห่งชาติเองขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถทำให้ปุ๋ยแห่งชาติเข้ามาเบียดในตลาดปุ๋ยได้

ที่ผ่านมา จึงเห็นว่าการใช้กำลังการผลิตของปุ๋ยแห่งชาติไม่สามารถทำได้เต็มที่ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% เท่านั้น นอกจากนี้โรงงานปุ๋ยแห่งชาติยังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เพราะจะมียิปซัมเหลือจากกระบวน การผลิต ซึ่งยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้...

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าสนใจว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการซื้อหุ้นอีก 17% จากบสท. มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การโยกย้ายถ่ายเท หรือเป็นหุ่นเชิดให้กับบิ๊กในวงการธุรกิจในรัฐบาลหรือไม่ คงไม่อาจฟันธงได้ในขณะนี้ รู้แต่ว่า "ปุ๋ยแห่งชาติ" นอกจากจะแปรสภาพจากองค์กรที่ต้องรับผิดชอบต่อเกษตรกรไทยเป็นบริษัทธุรกิจเอกชนแล้ว "ปุ๋ยแห่งชาติ" จะเหลือแต่ชื่อเพราะตามเงื่อนไขฟื้นฟูกิจการหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทใหม่ห้ามใช้ชื่อ (คำว่า) "ปุ๋ยแห่งชาติ แต่ให้ใช้ "ปุ๋ยเอ็นเอฟซี" แทน...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.