เคทีจีวาย บุกตลาดต่างประเทศ


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

การหางานออกแบบในต่างประเทศ เป็นสิ่งที่สถาปนิกทุกคนคาดหวัง เพราะแน่นอนว่าเป็นชิ้นงานที่ใหญ่และน่าจะได้รับผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำมากกว่า งานอะไรก็ได้ที่กำลังทำอยู่ในเมืองไทย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่ายนัก มีข้อจำกัดมากมายทีเดียว

บริษัทเคทีจีวาย อินเตอร์แอสโซซิเอทส์ จำกัด เป็นตัวอย่างของบริษัทหนึ่งที่กำลังมีผลงานการออกแบบในต่างประเทศหลายชิ้น วิธีการในการทำงานของบริษัทนี้จึงน่าสนใจ

"เมื่อมาเปิดบริษัทที่เมืองไทยใหม่ๆ ในปี 2534 นั้นเรามีนโยบายชัดเจนแล้วว่า ต้องเป็นบริษัทอินเตอร์ให้ได้ เราจะทำงานในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ด้วยความรู้สึกว่ามันไร้พรมแดนจริงๆ ทางบริษัทจึงได้วางแผนเตรียมงานไว้ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา"

สุนันทพัฒน์ เฉลิมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เคทีจีวาย อินเตอร์ แอสโซซิเอทส์ จำกัดกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ถึงสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้บริษัทสามารถออกไปรับงานต่างประเทศได้ทันท่วงที เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตทางด้านการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย

การวางรากฐานของบริษัทเคทีจีวายเพื่อเตรียมรับงานต่างประเทศ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่การวางแผนในการปฏิบัติงาน การทำโบรชัวร์เป็นภาษาอังกฤษ การทำบิสเนสคลาส การติดต่อสื่อสารก็จะเน้นให้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

"บางคนเขาบอกว่าทำไมเว่อจังเลย ทำไมต้องเน้นภาษากันจัง นามบัตรก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษทุกคน" คือผลสะท้อนที่กลับมาจากการปฏิบัติตัวดังกล่าว

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าได้เตรียมตัวในการรับงานต่างประเทศไว้แล้วอย่างดี แต่ทางเคทีจีวายก็ยังไม่มีโอกาสได้บุกงานต่างประเทศอย่างจริงจัง เพราะปรากฏว่างานในเมืองไทยตอนนั้นมีมากมายหลายชิ้น จนสถาปนิกในออฟฟิศมือไม่ว่างเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของบริษัทก็มีความต้องการที่จะได้พูดคุยกับระดับบริหารคือ สุนันทพัฒน์ และธนิตพงศ์ ตลอดเวลา โอกาสที่จะไปทำตลาดต่างประเทศจึงมีน้อยมาก แต่ผู้บริหารก็พยายามติดต่อกับลูกค้าในต่างประเทศ โดยใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวบ้าง โทรคุยบ้าง และก็ทำได้เพียงแค่นั้น เพราะต้องให้เวลากับลูกค้าที่แน่นอนอยู่แล้วในเมืองไทยมากกว่า

จากที่งานในมือ 90% เป็นงานในประเทศ ก็เริ่มเปลี่ยนไป งานเริ่มลดลงอย่างฮวบฮาบตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้บริหารเริ่มบินไปติดต่องานต่างประเทศบ่อยขึ้นๆ

"มันจำเป็นที่เราต้องลุยงานต่างประเทศอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นแล้วบริษัทก็ต้องมีปัญหาแน่นอน อย่างปีที่แล้วทั้งปี งานไม่มีเลย เหลือเพียงงานสร้างบ้านส่วนตัวเพียง 2-3 หลังเท่านั้น" สุนันทพัฒน์ยอมรับ

บังกลาประเทศ เป็นประเทศที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีสถาปนิกในเมืองไทยเข้าไปทำ แต่เคทีจีวายก็ได้เข้าไปทำแล้วประมาณ 10 กว่าตึก พม่าได้เข้าไปทำสนามกอล์ฟ ทำโรงแรม เวียดนาม ทำมาสเตอร์แพลนเมืองใหม่ ทำเม็มเบอร์ชิปสปอร์ตคลับแห่งแรกของเวียดนาม มาเลเซีย เมืองจีน ทำที่อยู่อาศัย นิวซีแลนด์ และล่าสุดคือประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ในระหว่างการเจรจา

สิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดอย่างต่อเนื่องเข้ามาก็คือ เมื่อมีการออกไปหางานต่างประเทศแล้ว ชาวต่างประเทศเองก็มีความสนใจที่จะเข้ามาเหมือนกัน คือกลุ่มที่จะเข้ามาซื้อของราคาถูก แล้วให้ทางบริษัทช่วยคิดว่าจะทำอะไร ซึ่งมีทั้งนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและชาวไต้หวัน และนั่นก็หมายถึงเนื้องานใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคตของบริษัทเช่นกัน

"อุปสรรคอย่างหนึ่งของการทำงานกับต่างประเทศคือการเก็บเงิน แต่ตอนนี้จะเป็นเงินสกุลอะไรๆ เรารับทั้งนั้น ไม่เรื่องมาก ก็ให้ได้งานเข้ามาก่อน"

เคทีจีวายอาจจะโชคดีตรงที่ว่าแทบจะไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย คอนเน็กชั่นที่เคยติดต่อไว้มีแล้ว จดหมายที่เคยส่งไปทางด้านการตลาดก็มีแล้ว โบรชัวร์ก็มีแล้ว ดังนั้นการออกไปต่างประเทศจึงเป็นการออกไปเพราะความพร้อม ไม่ได้ออกไปเพราะจวนตัว

"ไม่ใช่เรื่องยากที่คนอื่นจะทำบ้าง แต่มันจะเหนื่อย ต้องหาคอนเน็กชั่นใหม่ๆ เริ่มไปทำความรู้จักต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำโบรชัวร์ใหม่" สุนันทพัฒน์สรุป

ในขณะที่งานต่างประเทศเดินหน้า งานในเมืองไทย เคทีจีวายก็ต้องทำทุกอย่าง เช่น มีการตั้งแผนกใหม่ขึ้นมารับสร้างบ้านเดี่ยว ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้รับ เพราะมองว่าเป็นงานที่เล็กเกินไป หรือการรับงานเข้าไปซ่อมแซมต่อเติม พร้อมๆ กันนั้น ก็ลดค่าใช้จ่ายในบริษัทอย่างเต็มที่มีการลดเงินเดือนประมาณ 20% และไม่มีการรับพนักงานเพิ่มเช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.