11 ยุทธวิธีเพื่อความอยู่รอด


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อภาพของช่องทางงานใหม่ๆ อาจจะเข้ามาหลังปี 2543 ณ วันนี้ สถาปนิกเองก็จำเป็นต้องคิดค้นงานต่างๆ ทำไปก่อนเพื่อความอยู่รอด และประคองตัวไปให้ได้ เพื่อฟันฝ่าไปให้ถึงเวลาดังกล่าว

การลดขนาดองค์กรให้เล็กลง หรือการซีร็อคย่อองค์กร โดยการลดพนักงานหลายบริษัทจากคนร้อยกว่าคน อาจจะลดเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมาตรการนี้กล่าวได้ว่าปัจจุบันทุกบริษัทได้ทำไปแล้ว

หลังจากนั้นก็พยายามมองงานใหม่เข้ามา จากการสอบถามและการสัมมนาของสมาคมสถาปนิกเองพบว่า สิ่งแรกที่จะแวบเข้ามาในหัวสมองของระดับผู้บริหารบริษัทก็คือ การมองงานในต่างประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน

นิติศักดิ์ ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายเดือน" เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า แต่ละบริษัทจะมีข้อจำกัดเหมือนกันว่าเขาพร้อมจะไปแค่ไหน และหลายๆ ประเทศ เช่น มาเลย์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ตอนนี้ตลาดก็ซบเซา ประเทศบรูไนที่เป็นประเทศร่ำรวยก็จริง แต่ตลาดก็แคบ เพราะเจ้าของเงินคือสุลต่านเพียงคนเดียว ส่วนทางด้านเมืองจีนยังค่อนข้างดีอยู่ เช่นเดียวกับทางด้านตะวันออกกลางก็ยังมีความเป็นไปได้

สุนันทพัฒน์ แห่งบริษัทเคทีจีวาย ซึ่งขณะนี้มีงานออกแบบในต่างประเทศหลายโครงการให้ความเห็นว่า ถ้าบริษัทใดที่มีการเตรียมตัวที่ดี ก็อาจจะมีโอกาสในการรับงานต่างประเทศ เพราะยังมีจุดดีในเรื่องที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นยอมรับสถาปนิกจากเมืองไทย คือเขาเคยใช้สถาปนิกต่างประเทศ ซึ่งราคาแพงมาก เมื่อเขาเห็นผลงานว่ามีสถาปนิกมาตรฐานอยู่เมืองไทยแค่นี้เอง ทำไมไม่ใช้ด้วย และยิ่งเป็นคนเอเชียด้วยกันก็จะง่ายกว่าชาวตะวันตก (อ่านล้อมกรอบเคทีจีวายบุกตลาดต่างประเทศ) แต่เมื่องานต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำตลาด ก็ต้องหันกลับมองหางานในประเทศประทังไปก่อนต่อไป เป็นยุทธวิธีที่ 3 คือมองว่าเคยได้งานจากแหล่งไหนก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเอางานจากแหล่งนั้นเข้ามา เช่นเคยได้งานจากส่วนราชการก็ต้องพยายามติดต่อให้ได้เข้ามาอีก

4. ต้องพยายามมองงานข้างเคียงว่าพอจะให้บริการอะไรเพิ่มได้บ้าง 5. การสร้างโอกาสใหม่ให้เกิดขึ้นเช่นการเข้าไปออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมพื้นบ้านซึ่งเมื่อก่อนอาจจะทำโดยไม่ต้องอาศัยหลักวิชามากนัก 6. มีการก้าวถอยหลังไป 1 ก้าว ดูงานเมื่อก่อนไม่ยอมทำ เพราะเล็กน้อยเกินไปแต่ตอนนี้ต้องเอาไว้ก่อน เช่น งานทางด้านซ่อมแซมอาคาร ซึ่งคาดว่าผลมาจากการเร่งรีบก่อสร้างในช่วงที่เศรษฐกิจบูม ทำให้อาคารเหล่านั้นอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและอายุการใช้งานไม่เต็มที่ ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากมาย

ยุทธวิธีที่ 7 ต้องพยายามพลิกแพลงวัสดุเหลือใช้ในองค์กรมาทำประโยชน์ 8. อาจจะขยายงานไปทางรับเหมาด้วย 9. ทำการรีเสิร์ชเพื่อการลงทุน 10. อยู่เฉยๆ สำหรับบริษัทขนาดกลางๆ ค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงมากนักและรายได้อยู่ตัวแล้ว

และ 11. สุดท้ายเมื่อไปไม่ไหวแล้วจริงๆ ก็ควรปิดบริษัทไปเลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.