|
ขุนคลังหนุนTMBสู่เอเชียเร่งล้างหนี้เน่า 5.4 หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(22 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
รมว.คลัง ปลุกพลังพนักงานธนาคารทหารไทยรวมเป็นหนึ่งเดียว หลังเข้ารับฟังผลควบรวมกิจการจากผู้บริหารแบงก์ สร้างยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ดึงจุดเด่นของทั้ง 3 แห่ง เครือข่ายสาขา วิเคราะห์โครงการ มีฐานเอสเอ็มอี พร้อมเป็นธนาคารในภูมิภาค ปฏิเสธข่าวควบรวมบง.สินเอเซียกับทหารไทย เผยมีแผนอยู่ในใจแล้ว ด้านผลงานเร่งลุยลดหนี้เน่ารายใหญ่ให้หมดในไตรมาสสาม เร่งกำจัดมะเร็งร้ายในการดำเนินธุรกิจหวังยกระดับเป็น Good Bank
วานนี้ (21 ก.ค) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตรวจเยี่ยมธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อรับฟังสรุปผลการควบรวมกิจการของ 3 สถาบันการเงิน คือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) บรรษัทอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) และธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการบริหาร และ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารให้การต้อนรับ
นายสมคิด กล่าวว่า หลังการควบรวมธนาคารทหารไทยจะมีศักยภาพสูง จากการที่มีจุดเด่นของแต่ละแห่งมาผสมเพื่อดำเนินธุรกิจ คือ ทหารไทย มีเครือข่ายสาขา พนักงาน และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในไอเอฟซีที มีความสามารถและเชี่ยวชาญทางด้านสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ มีทีมงานวิเคราะห์โครงการ ขณะที่ดีบีเอสมีความเชี่ยวชาญ ในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ ธนาคารทหารไทย มีเป้าหมายของการควบรวมกิจการอย่าง สมบูรณ์ตามกฎหมายภายในวันที่ 1 กันยายนนี้ ซึ่งธนาคารได้มี นโยบายที่สำคัญคือการกระชับความสัมพันธ์ของพนักงานในธนาคาร ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อประโยชน์สูงสุด
สำหรับธนาคารแห่งใหม่ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ 1. ในระยะ 4-5 ปี ประเทศไทยจะมีการพัฒนาขั้นพื้นฐาน ครั้งใหญ่ ซึ่งจะต้องดำเนินการด้านต่างๆ เข้ามารองรับระบบสาธารณูปโภค ดังนั้น ธนาคารทหารไทยมีจุดแข็งและเครือข่ายเกี่ยวกับโครงการใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาแข่งขันกับตลาด และเชื่อว่ามีศักยภาพสูงสุด 2. ธนาคารทหารไทย มีมาร์เกตแชร์ของฐานลูกค้าเอสเอ็มอีสูงถึง 15% และที่ผ่านมาได้พัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีได้ดี จึงเชื่อว่าจะรองรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะเติบโตในอนาคตได้ และ 3. ผู้ร่วมทุนอย่างดีบีเอสเข้าถึงโครงการใหญ่ในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง จีน มีกองทุนรวมของทหารไทยที่เน้นตลาดในประเทศ ในขณะที่ไอเอฟซีที มีฐานของต่างประเทศ ทำให้สามารถขยายฐานกองทุนรวมได้ทั้ง 2 ตลาด โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาควบรวมกิจการกัน
"หลังจากควบรวมแล้ว คลังจะปล่อยให้ทีม บริหารสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามอิสระเป็นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป การแข่งขันในเชิงธุรกิจสามารถทำได้ตามปกติ ทั้งโครงการของรัฐและเอกชน มั่นใจว่าทหารไทยมีศักยภาพสูงทางด้านเงินกองทุน ฐานะที่อยู่อันดับ 5 ต่อไปจะก้าวไปสู่ธนาคารในภูมิภาคได้"
นายสมคิด กล่าวว่านโยบายของรัฐบาลต้องการที่จะให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง โดยได้วางรากฐานของการควบรวมกิจการเพื่อเสริมศักยภาพ อย่างที่เคยดำเนินการมาแล้วประสบความสำเร็จคือ ธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารศรีนคร ซึ่งมีผลการดำเนินงานดีอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ธนาคารทหารไทยเองก็มีผลประกอบการที่ดีมีกำไรสุทธิที่ก้าวกระโดด ตัวเลขของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงอย่างมาก ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 10-11% ถือว่าเป็นธนาคารยุคใหม่ กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นจึงยังไม่มีนโยบายที่จะเร่งลดสัดส่วนของการถือหุ้นออกในขณะนี้
ส่วนนโยบายการจัดการบริษัทเงินทุน (บง.) สินเอเชีย ที่กระทรวงการคลังได้ถือหุ้นอยู่นั้น กระทรวงการคลังจะไม่นำบง.สินเอเชียเข้ามาควบรวมกับธนาคารทหารไทยอีก โดยขณะนี้มีแผนที่ จะดำเนินการกับ บง.สินเอเชียอยู่แล้ว และยังไม่ ถึงเวลาที่จะต้องเร่งตัดสินใจ เชื่อว่าสามารถสรุป แนวทางได้อย่างเหมาะสม
นายปราการ ทวิสุวรรณ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า จาก การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเบื้องต้นแล้วในการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ หรือเอ็นพีแอล ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 33,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ทั้งนี้เป็นเอ็นพีแอลเฉพาะของทหารไทยเพียงธนาคารเดียวยังไม่ได้รวมกับ ไอเอฟซีที และธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ
ประเด็นที่หารือกันในเบื้องต้นนั้นคือนำเอ็นพีแอลรายใหญ่ขายให้กับผู้ที่สนใจจะซื้อ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังด้วย เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ทั้งนี้คาดว่าคง ไม่มีปัญหาในการดำเนินการแต่อย่างใด เพราะรมว.คลังได้กำชับธนาคารมาโดยตลอดว่าให้เร่งกำจัดเอ็นพีแอลให้ได้โดยเร็วเพราะเอ็นพีแอลเปรียบเสมือนเป็นมะเร็งร้ายของการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องรอให้มีการรวมบัญชีของธนาคารทั้ง 3 แห่งให้เสร็จเรียบ ร้อยก่อน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เรียบ ร้อยภายในไตรมาสสามของปีนี้ โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ขายเอ็นพีแอลให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด หรือบสก.ไปแล้ว กว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้ยอดเอ็นพีแอลของธนาคารลดลงได้จำนวนมาก
"หากต้องการลดเอ็นพีแอลให้ได้เร็ว ก็ต้อง ขายเอ็นพีแอลรายใหญ่ออก และต้องขายขาด คาดว่าไตรมาสสามจะสรุปได้ แต่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรมว.คลังด้วย" นายปราการ กล่าว
นายปราการ กล่าวว่า หากรวม 2 สถาบันการเงินเข้ามาด้วยแล้ว ยอดเอ็นพีแอลรวมของทหารไทยจะอยู่ที่ประมาณ 54,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้สินเชื่อ ทั้งหมดหลังควบรวม จะอยู่ที่ประมาณ 530,000 ล้านบาท ซึ่งเป้าของทหารไทยก่อนควบรวมนั้นต้องการลดเอ็นพีแอลให้เหลือร้อยละ 8 แต่หลังจากควบรวมนั้นต้องการให้เหลือร้อยละ 6-7 ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดเอ็นพีแอลเหลือตัวเลขหลักเดียว
"นอกจากที่จะทำตามนโยบายของธปท.ให้เอ็นพีแอลในระบบลดลงแล้ว ธนาคารก็ต้องการ ที่จะล้างหนี้เน่าให้หมดเพื่อที่จะยกระดับให้ เป็น GOOD BANK ทั้งนี้การขายเอ็นพีแอล ในส่วนนี้ธนาคารจะไม่ขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท (PAMC) เพราะยังถือว่าเกี่ยวข้องกับธนาคารอยู่และจะไม่เป็นการขาย ขาดตามนโยบายที่ธนาคารได้วางไว้" นายปราการ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|