บสท.รื้อโครงสร้างปิดบัญชีหนี้


ผู้จัดการรายวัน(22 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บสท.จัดทัพปรับโครงสร้างองค์กร-ผู้บริหาร แต่งตั้ง 4 ผู้ช่วยรับผิดชอบ 4 สายงานหลัก ลุยปรับโครงสร้างหนี้ 2.1 แสนล้าน จากหนี้รวม 7.8 แสนล้านให้จบภายในสิ้นปีตามนโยบายรัฐ พร้อมเพิ่มอำนาจบอร์ดเบ็ดเสร็จเพื่อเพิ่ม-ยุบส่วนงานตามสถานการณ์ ขณะที่คนในร่อนหนังสือร้องเรียนไม่เป็นธรรม แถมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย "สมเจตน์" โต้ ใช้จ่ายแค่หลักร้อยล้านต่อปีขณะที่ดูแลหนี้หลายแสนล้าน

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เปิดเผยว่า บสท.ได้ปรับโครงสร้างองค์กรและผู้บริหารใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ที่รับโอนมารวม 7.8 แสนล้านบาท ให้ได้ข้อสรุปภาย ในสิ้นปี 2547 โดยผังองค์กรใหม่ ทั้งปรับปรุงและเพิ่มสายงานใหม่ ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งผู้ช่วยกรรม การผู้จัดการ 4 คน ประกอบด้วย นายสมชาย จอมสง่าวงษ์ รับผิดชอบฝ่ายจัดการสินทรัพย์ 1-4 นายวีระชัย เมฆวรวุฒิ รับผิดชอบฝ่ายจัดการสินทรัพย์ 5-6 นายประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ดูแลฝ่ายธุรกิจบริหาร สินทรัพย์ และนายกัญจนพันธุ์ พันธ์สุวรรณ รับผิดชอบสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ)

"ตามระเบียบสามารถตั้งผู้ช่วยฯได้ 6 คน ขณะนี้แต่งตั้ง 4 คน อีก 2 คนซึ่งดูแลงานด้านสนับสนุนอยู่ระหว่างการคัดเลือก เชื่อว่าการปรับ โครงสร้างครั้งนี้จะทำให้บสท.ปรับโครงสร้างหนี้ได้ ทั้ง 7.8 แสนล้านบาทก่อนสิ้นปีนี้"

ความคืบหน้าล่าสุดของการปรับโครงสร้างหนี้ 7.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.หนี้ได้ข้อสรุปแล้ว 4 แสนล้านบาท อยู่ในความดูแลของนายประเสริฐ 2.หนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แต่ต้องจับตาป้องกันการกลับมาเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ อีก 1.7 แสนล้านบาทอยู่ในความดูแลของนายวีระชัย 3. เอ็นพีเออยู่ระหว่างการจำหน่าย 4 หมื่นล้านบาทอยู่ในความดูแลของนายกัญจนพันธุ์ และ 4. หนี้ด้อยคุณภาพต้องติดตามแก้ไขอย่างเร่งด่วน 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในความดูแลของ นายสมชาย อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ครึ่งปีที่เหลือหนี้ที่ต้องติดตามแก้ไขและจำหน่ายเหลือเพียง 2.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยหนี้ด้อยคุณภาพและเอ็นพีเอ

การปรับโครงสร้างดังกล่าว คณะกรรมการ บสท.ได้มีมติแก้ไขข้อบังคับบสท.ว่าด้วยการแบ่ง ส่วนงานและอัตรากำลัง (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2547 เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กร อัตรากำลังและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบสท. โดยยกเลิกข้อความและผังโครงสร้างองค์กร แห่งข้อบังคับบสท.ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและอัตรากำลัง พ.ศ.2546 และให้ใช้ข้อความ และผังโครงสร้างองค์กรใหม่ประกอบด้วย 20 ฝ่าย 1 สำนัก 1 ศูนย์ และ 1 สำนักงาน

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มข้อความให้คณะกรรม การบริหารมีอำนาจอนุมัติปรับปรุงและยุบเลิกส่วนงานตามผังโครงสร้างองค์กร เฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อส่วนงาน หรือยุบเลิกส่วนงานเมื่อหมดความจำเป็นในงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีพนักงานบสท.ได้ร้องเรียนไปยัง "ผู้จัดการรายวัน" ถึงความไม่เป็นธรรมในการปรับเปลี่ยนสายงานและการแต่งตั้งผู้บริหาร โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจกรรมการผู้จัดการ ที่สำคัญในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาบสท.ได้ใช้จ่ายงบอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยเฉพาะการเดินทางไปต่างจังหวัดของเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายสมเจตน์ชี้แจงว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้อยู้ภายใต้กรอบกฎหมาย และระเบียบของบสท. เป้าหมายหลักคือการบรรลุเป้าหมายการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งจำนวนที่ได้รับโอนให้แล้วเสร็จภายในปี 2547 ตามนโยบายรัฐบาล ที่สำคัญสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้บสท.ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ อาจทำให้พนักงานหรือผู้บริหารบางคนปรับตัวไม่ทัน

"สถานะเศรษฐกิจรวมทั้งฐานะทางการเงินของเจ้าหนี้และลูกหนี้ทำให้เราอยู่เฉยไม่ได้ ส่วนโครงสร้างสายงานบังคับบัญชาใหม่อาจเหมือนกับกรรมการผู้จัดการควบคุมทั้งหมดทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติมีผู้ช่วยฯรับผิดชอบ และยังมีคณะกรรมการควบคุมอยู่ ผมเองยึดหลักกระจายงาน ให้ผู้ช่วยทั้ง 6 คน แต่ตอนนี้มีเพียง 4 คน ผมจึงต้องดูแลโดยตรง 2 สายงานซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน ส่วนค่าใช้จ่ายของบสท.ไม่ได้สิ้นเปลือง เหมือนที่มีคนร้องเรียน สังเกตจากรายงานประจำ ปี 2546 บสท.มีค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน 300 กว่าล้านหรือ 0.05% เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด"

นายสมเจตน์ยอมรับว่าปัจจุบันบสท.มีพนักงานเกือบ 400 คน เพิ่มจาก 140 คนนับจาก วันที่รับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 อย่างไรก็ตามยังเป็นจำนวนที่ไม่เกินที่กำหนดไว้ในระเบียบที่ร.อ.ยอดชาย ชูศรี กรรมการผู้จัดการ คนก่อนขอไว้ในระเบียบพนักงานบสท.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.