งานเชื่อมโลกมือถือกับโลกคอมพิวเตอร์


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

จากงานอดิเรก ที่เกิดเพราะความชอบในเทคโนโลยี เขาทั้ง 4 กำลังสร้างโลกใหม่ธุรกิจ เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง โลกอินเทอร์เน็ต และโลกของโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกัน

"อุปกรณ์พวกนี้จะทำอะไรได้มากกว่าการเป็นแค่จดบันทึก" คำถามของ ร.อ.ดนุภพ รัตนพานิช ที่กลายเป็นการจุดประเด็นของการเริ่มต้นธุรกิจข้างกายของเขาคือ เครื่องพีดีเอ ซึ่งเป็นเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ต่ออินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือโนเกีย คอมมิวนิเกเตอร์ 9110

ถึงแม้ว่า คำตอบ ที่ได้จาก ดร. เกษชญง สกาวรัตนานนท์ เพื่อนสนิทของเขา ซึ่งเป็นผู้ช่วยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยอินเทอร์เน็ต และพาณิชย์อิเล็ก ทรอนิกส์ ก็คือ "ได้แต่ต้องรออนาคต"

แต่พวกเขากลับไม่เลือก ที่จะรอ

ความชื่นชอบเทคโนโลยีของ ร.อ.ดนุภพกลายเป็นผู้จุดประกายความคิดของการรวมตัวกับ เพื่อนสนิท ที่กำลังนำเอาประสบการณ์ ความรู้ ที่แตก ต่างกัน กลับมารวมตัว เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า การเชื่อมโลกของคอมพิวเตอร์เข้ากับโลกของอินเทอร์เน็ต และหากสำเร็จไม่ใช่แค่พวกเขาเท่านั้น ที่จะมีโอกาสใช้ แต่อาจเกิดเป็นธุรกิจได้ด้วยในอนาคต

"เรามาคิดกันว่าจะทำเป็นบริการที่จะทำให้อุปกรณ์ประเภทพกพา ให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสมบูรณ์แบบ มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งการส่งข้อมูลยังมีความล่าช้า" ดร.เกษชญงเล่าถึง ที่มา

ในช่วงนั้น อุปกรณ์พกพาเหล่านี้ ยังเป็นแค่อุปกรณ์ ที่ยังต้องพึ่งพาโมเด็ม เพื่อเป็นสื่อกลางให้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คก่อนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งเมื่อ wap เทคโนโลยี ที่จะทำให้โทรศัพท์มือถือ ต่อเชื่อมเข้ากับอินเทอร์เน็ตก็เกิดขึ้นมา และด้วยคุณสมบัติของ wap นี้เอง ทำให้พวกเขาเริ่มมองเห็นโอกาส ที่จะทำให้ความต้องการของพวกเขา ในการที่จะทำให้อุปกรณ์พกพาทั้งหลาย ที่เป็นไอเดียดั้งเดิมเป็นจริง

" ที่เรามอง wap ว่าดี เพราะว่ามันไม่ได้ดึงข้อมูลมาจากเว็บทั้งหมด แต่เป็นการย่อ และดึงเฉพาะข้อมูลที่สำคัญๆ ด้วยความเร็ว 9600 เมกกะไบต์ มันมีความเป็นไปได้แล้ว"

พวกเขาได้ไอเดียในการสร้าง แอพพลิเคชั่น บน wap เทคโนโลยี มาจากจุดเริ่มของอินเทอร์เน็ต ที่เกิดมาจาก search engine และนั่นก็คือ ที่มาของ yahoo ที่เป็นแหล่งรวม เว็บไซต์ ที่ให้คนที่ไมรู้จะเริ่มต้นกับเว็บไซต์ได้อย่างไร ซึ่งเขาเชื่อว่า ใน wap site ก็เช่นกัน ควรจะมี search engine สำหรับ wap site

แต่สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่แค่การรวบรวมรายชื่อเว็บไซต์ ทำเป็นไดเร็กเทอรีส์ แต่ยังคิดไปในเรื่องของ การสร้างเครื่องมือ ในการคีย์ชื่อ url เพื่อเรียกดูเว็บไซต์ ที่ต้องการ เนื่องจากข้อจำกัดของโทรศัพท์มือถือ ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์

บริการที่เกิดจากแนวคิดในการประยุกต์ทั้งส่วนเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้เมื่อเข้าไปค้นหา wap site จากบริการ search engine จากนั้น ก็จะ bookmark wap site ที่ต้องการเอาไว้ จะทำให้สามารถเรียก wap site ที่ต้องการขึ้นมาดูได้ โดยไม่ต้องคีย์ url จากเครื่องมือถือ ซึ่งไม่สะดวกเหมือนพิมพ์จากคีย์บอร์ด

และด้วยแนวคิดเหล่านี้เอง ทำให้ บริการ wap of thailand ได้รับเลือกจากบริษัทโมโตโรล่า ประเทศไทย ให้เป็น 1 ใน 2 ของผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อ ที่โมโตโรล่าจะนำไปใช้สำหรับให้บริการแก่ลูกค้า ที่ใช้มือถือ ที่มีระบบ wap โดย จะเน้นไป ที่ แอพพลิเคชั่น ในเรื่องของการเป็นเครื่องมือ และเป็นข้อมูลด้าน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และอีกรายคือ อี-ไทยแลนด์ ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้พัฒนาข้อมูลทางด้านธุรกิจ

ความลงตัวในเรื่องความแตกต่างของประสบการณ์ และความรู้ของคนทั้ง 4 คือ ที่มาของการสร้าง wap thailand และบริการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

ประสบการณ์จากการเรียน และใช้ชีวิตการสอนหนังสือ ดร.เกษชญง มีความรู้ทางด้านทฤษฎี ที่จะบอกว่า เทคโนโลยีจะไปในทิศทางใด ในขณะที่ นพพล เผ่าสวัสดิ์ ที่เรียนจบทางด้าน computer arts จะมาช่วยในเรื่องงานศิลปะการออกแบบเว็บไซต์ ส่วนประสบ การณ์จากการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ร.อ.ดนุภพ รัตนพานิช จะช่วยในเรื่องของการทดสอบบริการก่อนจะคลอดสู่ตลาด เจตต์ บุลสุข จบทางด้านบิสซิเนส ช่วยในเรื่องการวางแนวทางธุรกิจ และการทำตลาด

"อย่างผมบอกว่า wap เป็นเทคโนโลยีเชื่อมโลกกับอินเทอร์เน็ต จากนั้น ก็มาถามคุณเจตต์ว่า ทำได้มั้ยเขาบอกว่า ดีเลย เพราะคนใช้มือถือมีเป็นล้านคน ถ้าเชื่อมโลก 2 โลกได้ หรือ อย่างคุณนพพล ถ้าให้เขาทำเว็บคงไม่ได้ แต่ออกแบบได้ หรืออย่างดนุภพ ไม่เคย สร้างเทคโนโลยี แต่ใช้เทคโนโลยี เขาบอกได้ว่า ผู้ใช้ต้องการอะไร หรืออย่างผม เป็นผู้สร้างแต่ไม่ค่อยได้ใช้เทคโนโลยี"

บริการ wap of thailand ที่พวกเขาทั้งสี่ร่วมกันคิดขึ้นมานั้น จะเป็น การรวบรวมมากกว่าเป็นผู้สร้าง content เช่น บริการ bookmark ที่เลือก wap site ที่น่าสนใจเอาไว้ 6-7 wap site

search engine ของพวกเขา จะไม่ใช่เชื่อมโยงไป ที่ wap site การที่ wap site ยังมีอยู่น้อย ของไทยเวลานี้ ก็มีอยู่จำกัด แต่ ดร.เกษชญงมองว่า ไม่ใช่ข้อจำกัดในการเป็น search en-gine บน wap site

"ลูกค้าเขาไม่สนใจหรอกว่า wap site นี้ชื่ออะไร แต่เขาจะดูว่า มีบริการอะไรบ้าง ดังนั้น การแบ่งประเภทของข้อมูล เราจะเลือกจากบริการข้างใน และเราจะ bookmark แต่ละหน้าเอาไว้ เพื่อให้ง่ายแก่ลูกค้า เพราะการใช้ wap ไม่เหมือนกับ web ไม่ต้องเข้าไป ที่หน้าแรกก่อน แต่เขาต้องการเข้าถึงบริการได้เลย อย่างสยามทูยู เขามีพยากรณ์อากาศ ผมจะไปดึงเอามา" ดร.เกษชญงเล่าถึงรายละเอียดของบริการ

อันที่จริงแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำอยู่นี้เป็นเพียงแค่งานอดิเรก เพราะทุกคนมีงานประจำ ที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว การทำงานของพวกเขาจึงเป็นในช่วงเวลา ค่ำหลังเลิกงาน และหากมีกรณีเร่งด่วน จะต้องพึ่งพา virtual office ที่ต่างคนจะแยกย้ายไปทำงาน ส่งงานกันผ่านทางอีเมลบ้าง โทรศัพท์บ้าง

และพวกเขาใช้เวลา 3 เดือนในการจัดตั้งบริษัท และสร้างแอพพลิเคชั่น ออกมา เพื่อเสนอกับโมโตโรล่า

พวกเขารู้ดีว่า wap of thailand ไม่ใช่สิ่งที่จะทำเงิน แต่เป็นแค่โครงการนำร่อง ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบริการ สร้างตัวตนขึ้นมาบนธุรกิจนี้เท่านั้น อันที่จริงแล้วบริษัทเบื้องหลังของเขาคือ yless.net สิ่งที่พวกเขากำลังทำคือ วายเลสดอทเน็ต ที่จะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างโลกมือถือกับโลกของคอม พิวเตอร์อย่างแท้จริง

บริการ voice mail ที่จะฝากจากเครื่องพีซีไปยังเครื่องมือถือ คือ ตัวอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นภายใต้ไอเดียเหล่านี้

สำหรับพวกเขาแล้ว รายได้ ที่แท้ จริง จะเริ่มต้นจากบริการ cyber office building ออฟฟิศเสมือนจริงในโลก อินเทอร์เน็ต เป็นการนำเอาระบบการทำงานของอินเทอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัสมาโดยตรง นำมาประยุกต์เป็นบริการให้ผู้ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีเว็บไซต์มาเช่าใช้เป็นเสมือนหนึ่งออฟฟิศ เช่น ห้องประชุมส่วนบุคคล มีเว็บบอร์ด chat room ส่วนบุคคล

แน่นอนว่า พวกเขาจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะนี่คือ จุดเริ่มของการแปรความสนุก และการนำเทคโนโลยีมาเป็นธุรกิจ ในงาน ที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างโลกอินเทอร์เน็ต และโลกของโทรศัพท์มือถือ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.