ภัทรฯ เปิดใจ "IBC-UTV" ดีลหิน


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ข่าวการรวมกิจการระหว่างสองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเคเบิลทีวี IBC และ UTV มีออกมาเป็นระยะๆ คนส่วนใหญ่ก็ไม่คิดว่าดีลนี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็เป็นคู่แข่งที่มีความแข็งแกร่งด้วยกันทั้งคู่ แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าเข้ามาปรึกษากัน ในปัญหาหลักที่เผชิญร่วมกันอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมี บล.ภัทร ทำหน้าที่เป็น Central Advisor ให้กับทั้งสองฝ่าย

เรื่องโดย มานิตา เข็มทอง

ญหาหนักที่ทั้ง IBC และ UTV แบกอยู่นับตั้งแต่เปิดดำเนินธุรกิจมาก็คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้ที่จัดเก็บจากสมาชิกเป็นจำนวนมาก  ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าซื้อหรือเช่าโปรแกรมรายการจากต่างประเทศ และเมื่อรัฐบาลประกาศปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้ค่าเงินบาทตกต่ำลงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างค่าใช้จ่ายกับรายได้ของทั้งสองบริษัทยิ่งห่างกันมากขึ้น

เมื่อต่างก็ประสบชะตากรรมร่วมกัน หนทางที่จะทำให้อยู่รอดได้ทั้งสองฝ่ายก็มีอยู่เพียงไม่กี่วิธีคือ  การปรับเพิ่มราคาค่าบริการที่เก็บจากสมาชิก  หรือการรวมกิจการกัน หรือการเลิกดำเนินกิจการไปเลย

สำหรับวิธีแรกนั้น มีความเป็นไปได้ต่ำมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีนี้ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นนักสำหรับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในยุคเศรษฐกิจเฉกเช่นปัจจุบัน  ประกอบกับสมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนในเมือง การกระจายออกสู่ภูมิภาคยังน้อยมาก ดังนั้น หากทั้ง IBC และ UTV เลือกใช้วิธีขึ้นค่าบริการก็คงไม่ใช่ทางออกที่ดีนักในการรักษาฐานลูกค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ อีกทั้งมิได้เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย

ส่วนวิธีสุดท้ายนั้นแทบจะไม่ต้องกล่าวถึง เพราะหากทั้งสองเลือกวิธีนี้จริง ผู้ที่จะเสียหายมากที่สุดก็คือ สมาชิก ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็คงไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น ฉะนั้นยังเหลืออีกหนึ่งทางเลือกก็คือการรวมกิจการกัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีเดียวที่มีความเป็นไปได้สูงสุด เพราะเมื่อทั้งสองรวมกิจการกัน จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองซื้อโปรแกรมจากต่างประเทศสูงมากขึ้น  รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารงานก็ลดลงด้วย ดังนั้นเมื่อสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ ทั้งสองบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา หรือหากจำเป็นต้องขึ้นจริงๆ ก็จะขึ้นเพียงเล็กน้อย  เพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดทุนอยู่

วีธีนี้จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ถือหุ้นของทั้งสองฝ่ายที่จะได้รับประโยชน์ก้อนโตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ไปด้วย ทั้งหมดนี่เองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทั้งสองฝ่าย หันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการรวมกิจการกันอย่างจริงจัง

แน่นอนว่าดีลนี้ไม่ใช่ดีลธรรมดาแน่ เพราะต่างฝ่ายต่างก็เป็นทั้งยักษ์ทั้งเสือด้วยกันทั้งคู่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจับให้เสือสองตัวยอมมาอยู่ในถ้ำเดียวกัน

ผู้ที่รับบทหนักในการจับเสือสองตัวนี้เข้าถ้ำเดียวกัน ก็หนีไม่พ้นทีมงานฝ่ายวาณิชธนกิจของ บล.ภัทร เนื่องจากทั้งสองบริษัทต่างก็เป็นลูกค้าของ บล.ภัทรด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นความยุ่งยากในเบื้องต้นก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้ บล.ภัทรเป็นที่ปรึกษาให้กับตนเอง ซึ่งตามปกติดีลการรวมกิจการทั่วๆ ไป แต่ละฝ่ายก็จะมีที่ปรึกษาของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และที่สำคัญคือ แต่ละฝ่ายจะมั่นใจได้ว่า ที่ปรึกษาก็จะทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับฝ่ายของตนได้อย่างเต็มที่

แต่สำหรับกรณีนี้ หากต่างฝ่ายต่างใช้ที่ปรึกษาของตนเอง ดีลก็อาจจะไม่จบ เนื่องจากมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดเยอะมาก อาทิ โครงสร้างการถือหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น โครงสร้างการบริหาร และเรื่องพนักงานของทั้ง 2 บริษัท เป็นต้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องการเสียเปรียบซึ่งกันและกัน

บล.ภัทรตกที่นั่งคนกลางตั้งแต่แรก จึงพยายามหาหนทางที่จะประสานทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ด้วยการเสนอตัวเข้าเป็นที่ปรึกษากลาง (CENTRAL  ADVISOR) เพื่อประสานผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการวางตัวให้เหมาะสม โดยไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป

"ตอนแรกเราก็คิดว่าดีลนี้จะไม่จบเหมือนกัน  เพราะความไม่เข้าใจกันของทั้งสองฝ่ายในดีลนี้เกิดขึ้นตลอด แต่ผมคิดว่าสถานการณ์แบบนี้ หากต่างฝ่ายต่างเดินด้วยตนเองก็ลำบาก  แต่ถ้ารวมกันก็น่าจะสามารถให้บริการต่อไปได้ทั้งสองราย  นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต้องใส่ใจทุกครั้ง เมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันในการต่อรอง  และเราก็จะเป็นผู้ที่เข้าไปประสานให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย เราพยายามอ่านเกมให้ออก  พยายามมองผลประโยชน์ของทั้ง 2  ข้างให้เป็นกลางให้ได้" ศุภชัย วัชรวสุนธรา ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล. ภัทร กล่าวถึงความยากของดีลนี้

"ทุกดีลมีความยากเหมือนกัน หากแตกต่างกันที่เงื่อนไข สำหรับกรณี IBC-UTV นี้ ยากตรงที่ต่างฝ่ายต่างเป็นคู่แข่งกันมาก่อน ในแง่ของการทำดีลก็จะยาก เพราะจะมีเบรกกันไปตลอดทาง ต้องมีตัวกลางคอยดูว่า ที่เบรกเพราะอะไร และคอยเข้าไปไกล่เกลี่ยให้เข้าใจกัน ดีลนี้จึงค่อนข้างจะใช้เวลานาน เพราะต้องเดินกันทีละก้าวจนมีเจอกัน" นเรศน์ ชุติจิรวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ภัทร กล่าวเสริมในฐานะหนึ่งในทีมงานที่ปรึกษากลาง

อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ บล.ภัทรก็ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานผลประโยชน์ได้ดีทีเดียว

สำหรับขอบข่ายหน้าที่ที่ภัทรต้องรับผิดชอบ นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากลางในการเจรจาต่อรองของทั้งสองฝ่ายแล้วก็คือ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ประเมินมูลค่าของกิจการ และคิดรูปแบบวิธีการรวมกิจการ ติดต่อกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจในด้านการเงินที่เกิดจากการรวมกิจการ เช่น ถ้ารวมกันแล้วเหลือคนเท่านี้ เหลือค่าใช้จ่ายเท่านี้ จะทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างไร หรือจะส่งผระทบต่อราคาหุ้นหรือมูลค่าของผู้ถือหุ้นอย่างไร เป็นต้น ส่วนในเรื่องของรายละเอียดการบริหารธุรกิจ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายที่จะต้องตกลงกันให้ได้ว่า เมื่อรวมกันแล้วจะเดินไปในทิศทางไหน อย่างไรต่อไป


สัดส่วนการถือหุ้นต้อง 50:50

การตกลงรวมกิจการของทั้งสองฝ่ายนั้นมีเงื่อนไขที่ต้องการร่วมกันคือ ต้องการถือหุ้นฝ่ายละ 50:50 เท่าๆ กัน จึงเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ ในการคิดออกแบบโครงสร้างการรวมกิจการที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย และหลังจากที่มีการพิจารณาข้อดีข้อเสียของรูปแบบการรวมกิจการหลายๆ ทางเลือกแล้ว ในที่สุดก็มาลงตัวที่ใช้วิธีของการรวมสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งครึ่งออกเป็นสองส่วนให้ถือเท่าๆ กัน โดยใช้ IBC เป็นตัวตั้ง เนื่องจากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ IBC ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 237,782,376 หุ้น ให้แก่ UTV ในราคาหุ้นละ 15 บาท จากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นสามัญของ TH ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ UTV รวมทั้งซื้อหุ้นสามัญและทรัพย์สินของบริษัทย่อยของ UTV ด้วย (ดูล้อมกรอบรายละเอียดการรวมกิจการ)

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ IBC ภายหลังจากรวมกิจการแล้ว ประกอบด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ IBC ในสัดส่วน 51.53% และ TH ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ UTV (หรืออีกนัยคือ TA นั่น เอง) จำนวน 49.46% สำหรับสัดส่วนที่หย่อนไปจาก 50% ก็คือ ส่วนของ MCOT ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของ UTV ที่ถืออยู่ประมาณ 3% (ดูตารางโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ IBC หลังรวมกิจการ)

"อย่างที่บอกคือ ดีลนี้ไม่มีใครยอมเสียเปรียบใครหรอก เราใช้เวลาในการทำ TRANSECTION นี้ประมาณ 10 เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่เรารับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากลาง ซึ่งดีลปกติจะไม่ค่อยใช้เวลานานขนาดนี้ แต่ที่ดีลนี้นานก็เพราะต้องใช้เวลาในการตกลงประโยชน์ที่ลงตัวทั้งสองฝ่าย" ศุภชัยกล่าวย้ำยืนยันผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

และแล้วทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดี วันนี้ 2 ยักษ์ต่างยอมเก็บเขี้ยวมาจับมือกัน แต่อนาคตหากสถานการณ์เป็นใจ ความเปลี่ยนแปลงใดๆ สามารถเกิด ขึ้นได้เสมอ...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.