สุภกิต เจียรวนนท์ เดิมพันด้วยเคเบิลทีวี


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวัย 30 ต้นๆ ของใครหลายคนอาจอยู่ช่วงของการก่อร่างสร้างตัวหรือการเริ่มต้นธุรกิจ

สุภกิต เจียรวนนท์ ทายาทคนโตของธนินท์ เจียรวนนท์ ก็เช่นเดียวกัน เขากำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นอีกครั้งในธุรกิจเดิม แต่เป็นบทบาทใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม

ผลจากการรวมกิจการของไอบีซีและยูทีวี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนเส้นทางธุรกิจเคเบิลทีวีเท่านั้น แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของทายาทรุ่นที่ 3 ของเจียรวนนท์ด้วย

สุภกิต ถูกเลือกให้มารับผิดชอบสายงานด้านมีเดีย ในขณะที่ศุภชัย ลูกชายคนรองถูกกำหนดให้ดูแลกิจการธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน 2 ล้านเลขหมาย

ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นคนที่เชื่อในเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่แรกแล้ว เป้าหมายของซีพีในทศวรรษหน้าก็คือ การก้าวไปยืนอยู่บนโลกของอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีแบบไม่ตกหล่น

สุภกิต และศุภชัย จึงเป็นตัวแทนของธุรกิจบนโลกดิจิตอลของซีพี ที่ธนินท์ตั้งใจจะสานฝันเหล่านี้ด้วยทายาท

สุภกิต จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจจาก NEWYORK UNIVERSITY สหรัฐอเมริกา เริ่มงานครั้งแรกเมื่อปี 2532 เป็นกรรมการบริษัทไทย โคดามา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเกรท อิเล็กทริค จำกัด

ปี 2534 นั่งเป็นกรรมการบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบริษัทไทยโคดามา จำกัด และเป็นประธานกรรมการ บริษัทเอทีแอนด์ที เน็ตเวิร์ค เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

ก่อนหน้าที่จะมารับผิดชอบงานยูทีวี สุภกิตเคยทำงานในทีเอพร้อมกับศุภชัย จนเมื่อทีเอเริ่มทำธุรกิจเคเบิลทีวี สุภกิตจึงย้ายมารับผิดชอบงานทางด้านนี้โดยตรง

ระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา สุภกิตถูกบ่มเพาะความรู้และประสบการณ์ ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีโดยมาโดยตลอด

เส้นทางชีวิตของสุภกิต ก็เหมือนกับทายาทเชื้อสายจีนทั่วไปที่ถูกกำหนดไว้แล้ว แต่สำหรับเขาคือ เส้นทางที่ต้องโตไปพร้อมกับก้าวเดินของเจริญโภคภัณฑ์ !

นิสัยของสุภกิตเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว สมัยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในยูทีวี สุภกิตแทบไม่เคยเป็นข่าว แต่มีนิสัยอย่างหนึ่งที่คล้ายผู้เป็นพ่อคือ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัว รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

การรวมกิจการของไอบีซีและยูทีวี ซึ่งทำให้ทีเอกลายมาเป็นแกนนำในการบริหาร จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดของสุภกิต

3-4 ปีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ในยูทีวี หากจะเปรียบแล้วก็คงเป็นแค่ช่วงของฝึกงานและการบ่มเพาะประสบการณ์เท่านั้น แต่ไม่ใช่สำหรับภารกิจในเวลานี้ บนเก้าอี้ประธานบริหารบริษัทไอบีซี ที่เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือทิศทางของบริษัทนี้อย่างเต็มตัว

แม้ว่าการรวมกิจการระหว่างไอบีซีและยูทีวี จะทำให้สถานการณ์ของธุรกิจเคเบิลทีวีดีขึ้นจากต้นทุนที่จะลดลง แต่ภายใต้เศรษฐกิจที่ตกต่ำ และธุรกิจในฝั่งของทีเอที่ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก จากปัญหาขาดทุนค่าเงินบาทและบริการเสริมพีซีทีที่ยังไม่รู้อนาคต

สุภกิต จะนำพาซีพีก้าวข้ามสู่ยุคของอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีตามเส้นทางที่กำหนดไว้หรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.