ไอบีซีผนึกยูทีวี เดิมพันครั้งใหญ่ของทีเอ


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีที่ผู้บริหารของบริษัทไอบีซีและยูทีวี จรดปากกาลงบนสัญญาการรวมกิจการของทั้งสองเสร็จสิ้นลง บันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของธุรกิจเคเบิลทีวีก็กำลังเริ่มต้น ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นทองแผ่นเดียวกัน อะไรคือสาเหตุทำให้ทีเอเป็นผู้กำหนดชะตาของไอบีซี ในขณะที่ชินวัตรกลับเป็นฝ่ายถอยไปจากเส้นทางนี้ ทีเอจะวางอนาคตของธุรกิจนี้ภายใต้เศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ และจะรับมือกับการค้าเสรีที่จะเกิดในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้านี้อย่างไร?

เรื่องโดย ไพเราะ เลิศวิราม

"ยูบีซี" คือชื่อบริการใหม่ มาแทนที่ชื่อบริการไอบีซีและยูทีวี ที่แม้ตัวบริษัทจะยังคงมีอยู่ แต่ชื่อบริการจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกิจการของทั้งสอง

การรวมกิจการในครั้งนี้ เป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งของการเดิมเกมธุรกิจ ของธุรกิจเคเบิลทีวีไทยที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น

ดีลนี้ จึงไม่เพียงเป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางธุรกิจเคเบิลทีวีไทยในอนาคต แต่ยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึง จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชินวัตรและซีพีบนเส้นทางธุรกิจเคเบิลทีวี


ทีเอแกนนำไอบีซี

"ประเด็นสำคัญของการรวมกิจการในครั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับบริษัทไอบีซีเป็นหลัก เพราะไอบีซีจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นไอบีซีจะเป็นตัวตั้งในการพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น" ผู้บริหารของ บล.ภัทร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบทำดีลการรวมกิจการครั้งนี้ เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง

สัดส่วนการถือครองหุ้นในไอบีซี จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงทิศทางอนาคตของไอบีซี และการเลือกเส้นทางในธุรกิจเคเบิลทีวีของชินวัตรและทีเอ ก็มาถึงจุดเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของไอบีซี ที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงของการรวมกิจการ ส่งผลให้ทีเอช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของยูทีวีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในไอบีซี ที่ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 49.46%

ในขณะที่ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งไอบีซีนั้น ลดสัดส่วนการถือครองหุ้น จาก 34.61% ลดเหลืออยู่เพียงแค่ 17.49% เท่านั้น

ขณะเดียวกันไอบีซีจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในยูทีวี สัดส่วน 97.85% จะเห็นได้ว่า ชินวัตรไม่ได้เข้าไปถือหุ้นในยูทีวีโดยตรง แต่ถือผ่านไอบีซี ซึ่ง ชินวัตรก็เป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้นจากโครงสร้างการบริหารใหม่ของไอบีซี หลังจากการรวมกิจการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางของไอบีซีและยูทีวี ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง การลดบทบาทของชินวัตรลงอย่างเห็นได้ชัด (ดูตารางโครงสร้างผู้บริหารประกอบ)

จะเห็นได้ว่า ไม่มีคนของชินวัตร นั่งอยู่ในตำแหน่งบริหารสำคัญๆ เลย ในขณะที่ตำแหน่งเหล่านี้ตกเป็นของผู้บริหารของยูทีวี และมัลติชอยส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (มหาชน) หรือ MIH ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของไอบีซี คือ สุภกิต เจียรวนนท์ นั่งในตำแหน่ง ประธานบริหาร, สมพันธ์ จารุมิลินท์ เป็นกรรมการผู้จัดการ และเนวิลล์ ไมเยอร์ส์ นั่งเป็นรองประธานบริหารฝ่าย ปฏิบัติการ

แม้ว่าเนวิลล์ ไมเยอร์ส์ ผู้บริหารของ MIH จะมาจากฝั่งของผู้ถือหุ้นเดิม ของไอบีซีที่ชินวัตรเป็นผู้ดึงเข้ามาลงทุน ในไอบีซี แต่ไม่ได้หมายความว่า MIH จะเป็นตัวแทนของฝ่ายชินวัตร เพราะ MIH นั้นเข้ามาในฐานะของผู้ลงทุนรายหนึ่ง ที่ต้องการทำธุรกิจเคเบิลทีวีในเมืองไทย ไม่ว่าจะลงทุนกับใครก็ตาม หากทำให้ต้นทุนลดลงและทำให้โอกาสทางธุรกิจดีขึ้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีสำหรับ MIH

ขณะเดียวกันด้วยศักยภาพของ MIH เอง ซึ่งมีประสบการณ์จากการเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทยักษ์ใหญ่เคเบิล ทีวีที่ทำธุรกิจทั่วโลก ทั้งยังประสบความสำเร็จจากดิจิตอลแซทเทิ่ลไลท์เทเลวิชั่น (DSTV) มาแล้วในแอฟริกา อิตาลี ตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ และกลุ่มประเทศนอร์ดิก MIH จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ยูทีวีที่ต้องการให้ MIH เข้ามาร่วมบริหารงาน

แหล่งข่าวในเทเลคอมเอเซีย เล่าว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ยูทีวีต้องการรวมกิจการกับไอบีซีให้ลุล่วงโดยเร็วก็คือ การที่ไอบีซีได้ MIH เข้ามาร่วมถือหุ้น ซึ่งพอหลังจาก MIH มา ร่วมทุนกับไอบีซีได้ไม่นาน สถานการณ์ของไอบีซีก็กระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จะเห็นได้ว่า ภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ ได้มีการแบ่งภาระรับผิดชอบให้ขึ้นตรงกับทีเอ และ MIH เท่านั้น คือ ในส่วนของทีเอจะเป็นผู้กำหนดทิศทางธุรกิจ รับผิดชอบในด้านของการตลาด การผลิตรายการ การขาย และประชาสัมพันธ์

ส่วนทางด้าน MIH จะรับผิดชอบในส่วนของการออกอากาศ วิศวกรรม บริการลูกค้า การรายงานข่าวและกีฬา รายการภาพยนตร์และบันเทิง

"ชินวัตรนั้นจะถือสิทธิไปตามสัดส่วนที่ถือหุ้น ซึ่งไอบีซีก็ไม่ได้เป็นบริษัทลูก หรือบริษัทในเครือของชินวัตรมาตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน หรือการดำเนินธุรกิจ ก็เป็นของไอบีซีเองมาตลอด" นิวัฒน์ บุญทรง ผู้บริหารไอบีซี กล่าว


เปิดเบื้องลึก
ชินวัตรถอย-ทีเอบุก

ชินวัตรนั้นต้องเหน็ดเหนื่อยกับธุรกิจเคเบิลทีวีมาตลอดหลายปีมานี้ จากตัวเลขขาดทุนของไอบีซีที่ติดต่อมาเป็น เวลา 3-4 ปี (ดูตารางผลประกอบการ)

หากเปรียบธุรกิจโทรศัพท์มือถือเป็น CASH COW ของชินวัตรที่ทำรายได้ให้กับชินวัตรเสมอมา ธุรกิจเคเบิลทีวีกลับตรงกันข้าม เคเบิลทีวีเป็นธุรกิจ ที่สร้างภาระชินวัตรใช้เงินลงทุน

การทยอยขายหุ้นในไอบีซีให้กับพันธมิตรอย่างช่อง 7 สี และแกรมมี่ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และการขายหุ้นให้กับบริษัทเอ็มไอเอช ในปี 2540 จนทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของชินวัตรลดลงไปเรื่อยๆ

นับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ชินวัตรลดบทบาทในธุรกิจเคเบิลทีวีลงมาตั้งแต่หลายปีมาแล้ว

"หลายคนเข้าใจว่าไอบีซีเป็นบริษัทในเครือของชินวัตร แต่จริงๆ แล้วไอบีซีถูกแยกออกไปตั้งแต่การขายหุ้น รูปแบบการบริหารงาน หรือการดำเนินธุรกิจก็ไม่ได้อิงกับตัวชินวัตรมานาน" แหล่งข่าวในไอบีซีชี้แจง

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ด้วยแล้ว การถอยจากธุรกิจเคเบิลทีวี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับชินวัตร

จะว่าไปแล้ว แม้ว่าชินวัตรจะขาดทุนจากผลประกอบการของธุรกิจเคเบิลทีวี แต่ตลอด 7-8 ปีที่ทำธุรกิจมา ชินวัตรก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ จากการทยอยขายหุ้นของไอบีซีให้กับพันธมิตรในแต่ละครั้งไปได้ไม่น้อย

แม้การรวมกิจการในครั้งนี้ จะยิ่งทำให้บทบาทของชินวัตรลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ชินวัตรก็ยังได้รับประโยชน์จากการหารายได้ในการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียม และการให้บริการระบบดีทีเอช ซึ่งทีเอจำเป็นจะต้องนำไปให้บริการแก่ลูกค้าเคเบิลทีวี ในพื้นที่ที่ไฟเบอร์ออพติกไปไม่ถึง

ตรงกันข้ามกับทีเอ จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจนี้ หรือบริการเสริมบนเครือข่ายได้เลย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ที่ต้องประสบปัญหาขาดทุนจากค่าเงินบาทนับหมื่นล้านบาท และยังเจอกับปัญหาของบริการเสริมพีซีที ที่ยังไม่รู้อนาคตว่าจะเปิดให้บริการได้หรือไม่


แต่ทางเลือกของทีเอมีไม่มากนัก !

สาเหตุประการแรก ทีเอใช้เงินลงทุนในการเข้าสู่ธุรกิจเคเบิลทีวีไปมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อให้บริการเคเบิลทีวี ซึ่งทีเอต้องลงทุนวางเครือข่ายเคเบิลใยแก้วเพิ่มเติมจากชุมสายโทรศัพท์ย่อย เพื่อใช้เป็นสื่อสัญญาณเคเบิลทีวีไปยังบ้านพักอาศัย ซึ่งลักษณะของการลงทุนวางเครือข่ายแบบไฟเบอร์ออพติกนั้น ยิ่งมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ การลงทุนก็ต้องยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

กระทั่งทีเอต้องแยกในส่วนการวางเครือข่ายไฟเบอร์ออพติก ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของยูทีวี โดยจัดตั้งบริษัท เอเซีย มัลติมีเดีย ขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบแทน ซึ่งนอกเหนือจากเอเซียมัลติมีเดีย จะมีหน้าที่ในการลงทุนเครือข่ายเคเบิลใยแก้ว ยังเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลทีวี (SET TOP BOX) ให้กับสมาชิกของยูทีวี

ผลจากการแยกการวางเครือข่ายออกจากบริษัทยูทีวี ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในเรื่องตัวเลขการลงทุน มาเป็นการเช่าใช้โครงข่ายจากเอเซียมัลติมีเดีย โดยยูทีวีจะมีหน้าที่ในการจัดหาซอฟต์แวร์รายการเพื่อให้บริการแก่สมาชิก

สาเหตุประการที่สอง ทีเอยังให้ความสำคัญและเชื่อมั่นกับธุรกิจมัลติมีเดีย ซึ่งเคเบิลทีวีเป็นหนึ่งในบริการเสริมที่เกิดจากโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเข้าสู่เส้นทางของโลกธุรกิจดิจิตอล ที่ทีเอให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น

"คุณธนินท์ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจทางด้านมัลติมีเดีย เพราะมองว่าเมืองไทยจะต้องเข้าไปสู่ยุคของอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ซีพีไม่สามารถมองข้ามได้" สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในการแถลงข่าวถึง โครงการร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง ซีพีและไมโครซอฟท์ หลังจากที่ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้บินลัดฟ้าไปพบกับบิลล์ เกตต์ ที่มาเลเซียเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หนึ่งในข้อตกลงร่วมธุรกิจระหว่าง ซีพีและไมโครซอฟท์ ก็คือ การร่วมมือกันพัฒนาอุปกรณ์ SET TOP BOX เป็นอุปกรณ์ทำหน้าที่ในการแปลงสัญญาณดิจิตอลให้เป็นสัญญาณข้อมูล ภาพ และเสียง

แนวทางในการพัฒนาก็คือ การนำซอฟต์แวร์ภาษาไทยของไมโครซอฟท์มาเพิ่มประสิทธิภาพ SET TOP BOX เคเบิลทีวีของกลุ่มซีพีให้สามารถทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ พร้อมคำสั่งการใช้งานเป็นภาษาไทย

ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเคเบิลทีวีสามารถต่อเชื่อมเข้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถทำธุรกิจในลักษณะของอิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง VALUE ADDED บนเครือข่ายโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย

นั่นก็หมายความว่า เมื่อการเจรจาระหว่างธนินท์ เจียรวนนท์ และ บิลเกตต์ เจ้าพ่อซอฟต์แวร์บรรลุข้อตกลง บริการเคเบิลทีวีก็จะยิ่งทวีความสำคัญ เพราะจะเป็นช่องทางแรกที่จะกระจายบริการเสริมในรูปแบบต่างๆ ไปถึงผู้ใช้

ประการที่สาม การรวมกิจการในครั้งนี้ ทีเอชกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในไอบีซี เท่ากับว่าทีเอได้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาโดยปริยาย และทีเออาจได้ประโยชน์จากจุดนี้เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เหมือนอย่างที่ชินวัตรเคยได้รับประโยชน์มาแล้ว


ลดต้นทุนเต็มพิกัด
แชร์รายการ-เครือข่าย

"ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ไอบีซีและยูทีวีประสบปัญหาขาดทุนมานาน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และค่าเงินบาท โดยเฉพาะต้นทุนในเรื่องรายการ ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันอย่างรุนแรง ซึ่งหากปล่อยไปแบบนี้เรื่อยๆ เราก็คงอยู่ไม่ได้ ต้องปิดกิจการไปในที่สุด" วัลลภ วิมลวณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเทเลคอมโฮลดิ้ง กล่าวถึงสาเหตุของการรวมกิจการ

แม้การรวมกิจการจะมีเป้าหมายคือ เพื่อความอยู่รอด แต่ไม่ได้หมายความว่าไอบีซีและยูทีวีจะฟื้นตัวได้ทันที

การนำเอาตัวเลขขาดทุนของ ไอบีซีและยูทีวีมารวมเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท และต้นทุนส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการรวมกิจการทั้งสอง ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจซบเซาย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเคเบิลทีวี ซึ่งจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ที่มักจะถูกเลือกเป็นอันดับแรกๆ ในการลดค่าใช้จ่ายลง

"เศรษฐกิจในเวลานี้ ทุกคนยังไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ แม้ว่ารวมกันแล้วเราก็ยังขาดทุนอยู่ ต้องมองภาพในระยะยาว ทุกอย่างยังต้องอาศัยเวลา" สุภกิต กล่าว

สุภกิต เชื่อว่า ไอบีซีและยูทีวีจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ในการล้างตัวเลขขาดทุน

"เวลานี้ฝุ่นยังตลบอยู่ ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เรายังคงทำอะไรไม่ได้มาก" คำกล่าวของสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานบริหาร บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จะเห็นได้ว่าการรวมกิจการระหว่างไอบีซี และยูทีวี เป็นการแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างกัน ไม่มีการจ่ายเงินสดเพื่อซื้อหุ้น ดังนั้นไอบีซีจึงต้องเพิ่มทุนไอบีซีจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 7,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

หุ้นเพิ่มทุนจำนวน 150 ล้านหุ้น จะถูกจำหน่ายให้กับผู้ถือหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PRIVATE INVESTMENT) และหุ้นเพิ่มทุนอีก 150 ล้านหุ้น จะจำหน่ายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

เท่ากับว่า สัดส่วนการถือหุ้นของไอบีซีอาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ถือหุ้นใหม่จะเป็นใคร และผู้ถือหุ้นเดิมจะเพิ่มทุนตามไปด้วยหรือไม่

โจทย์สำคัญอีกข้อที่รออยู่คือ การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจลงให้เร็วที่สุด

พนักงานจำนวน 1,980 คน ซึ่งเกิดจากการรวมกันระหว่างไอบีซีและยูทีวีได้ถูกคัดออก 780 คน พนักงานจำนวน 1,200 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสย้ายไปอยู่ที่อาคารทิปโก้ อันเป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของไอบีซีและยูทีวี

ขณะเดียวกัน การเจรจาต่อรองเพื่อขอลดค่าโปรแกรมซอฟต์แวร์ก็เริ่มขึ้นด้วย เป้าหมายของทีเอคือ การสร้างเงื่อนไขใหม่ในการซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างประเทศ

แต่เดิมไอบีซีและยูทีวีต้องซื้อซอฟต์แวร์รายการจากต่างประเทศ ในลักษณะแบบเหมาจ่าย ไม่ว่าจะมีจำนวนสมาชิกมากหรือน้อยจะต้องจ่ายเท่าเดิม เงื่อนไขนี้เป็นข้อเสนอจากทางเจ้าของซอฟต์แวร์ต่างประเทศ ที่ทั้งไอบีซีและยูทีวีไม่อาจปฏิเสธได้

เงื่อนไขในการจัดซื้อรายการแบบใหม่ก็คือ การเปลี่ยนจากเหมาจ่าย มาเป็นการคิดต่อจำนวนสมาชิก ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ซึ่งในกรณีนี้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีจะจ่ายมากขึ้นต่อเมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น และการจ่ายเงินค่าซื้อซอฟต์แวร์รายการก็จะเป็นเงินบาทเท่านั้น

แน่นอนว่า ผลจากการลดต้นทุนในเรื่องซอฟต์แวร์รายการ ช่องรายการของไอบีซีและยูทีวีที่รวมกันมากกว่า 60 ช่อง จะถูกจัดสรรใหม่หมด โดยจะตัดรายการที่ซ้ำกันหรือไม่ได้รับความนิยม ให้เหลือเฉพาะช่องรายการมาตรฐานจำนวน 10 ช่อง และจะเลือกเฉพาะช่องรายการที่มีคนดูมากๆ เช่น HBO, CINIMAX, รายการข่าว CNN, รายการ ข่าวในประเทศ, ดิสคัฟเวอรี่, ช่องกีฬา, ช่องเพลงชาแนลวี เป็นต้น

สำหรับช่องพิเศษ (SPECIAL CHANNEL) ที่สมาชิกต้องจ่ายเงินเพิ่มหากต้องการรับชม ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ยูทีวีเคยให้บริการ จะยังนำมาให้บริการด้วย แต่จะเหลืออยู่เพียงแค่ 2-3 ช่องเท่านั้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าต่างประเทศโดยเฉพาะคือ ช่องข่าวภาคภาษาจีน และช่องข่าว NHK ของญี่ปุ่น

ตามแผนธุรกิจของยูบีซีในระยะแรกจะยังไม่เน้นช่องพิเศษนี้มากนัก เนื่องจากต้นทุนของช่องรายการประเภทนี้จะสูงมาก และที่ผ่านมาช่องรายการพิเศษก็ไม่ได้รับความนิยม จะมีเฉพาะลูกค้าต่างประเทศกลุ่มเดียวเท่านั้น

ภายหลังจากการติดตั้งอุปกรณ์ที่จะใช้ในการแพร่สัญญาณบนอาคารทิปโก้เสร็จลง ในช่วงกลางปีนี้ ลูกค้าของไอบีซีและยูทีวีจะได้รับชมรายการเหมือนกันทั้งหมด แต่จะต่างกันที่เครือข่ายที่สมาชิกจะเลือกรับชมเท่านั้นว่า จะเลือกแบบใดระหว่างจานดาวเทียมดีทีเอช หรือเคเบิลใยแก้วนำแสง

"รายการที่ส่งออกไปกับสมาชิกของไอบีซีและยูทีวีนั้นจะเหมือนกัน และจะส่งไปจากจุดเดียวกัน แต่จะไปแยกรับที่อุปกรณ์ปลายทางว่าจะเป็นรับด้วยจานดีทีเอช" นิวัฒน์ บุญทรง กรรมการบริษัทไอบีซี กล่าว

ราคาค่าบริการ จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง เพราะราคาค่าบริการที่ต่ำเกินความเป็นจริง เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ไอบีซีและยูทีวีต้องประสบกับการขาดทุน

วิธีการที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาก็คือ การจัดทำเป็นแพ็กเกจราคาให้ลูกค้าเลือก แบบเดียวกับที่ยูทีวีเคยทำมาแล้ว คือจ่ายน้อยได้ดูน้อย จ่ายมากจะได้ดูมาก ซึ่งวิธีนี้ผู้บริหารเชื่อว่าจะสอดคล้องกับต้นทุนมากที่สุด

ยุทธศาสตร์ของการลดต้นทุนในเรื่องของเครือข่ายเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ไม่แพ้ต้นทุนซอฟต์แวร์รายการ ซึ่งวิธีการของทีเอคือ การใช้เครือข่ายร่วมกัน

อย่างที่รู้ว่า เครือข่ายไฟเบอร์ออพติกและดาวเทียมดีทีเอชนั้นมี ข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน

ไฟเบอร์ออพติก มีข้อดีในเรื่องของการรับสัญญาณและการที่เป็นการรับและส่งสัญญาณได้ 2 ทาง ในลักษณะของอินเตอร์แอกทีฟ และต้นทุนของอุปกรณ์ปลายทางที่ใช้ในการรับสัญญาณของลูกค้า หรือไออาร์ดี มีราคาต่ำประมาณ 2,000 บาท แต่ข้อเสียของระบบนี้ คือต้องใช้เงินลงทุนสูงในการวางเครือข่ายสูงมาก

ที่แล้วมาต้นทุนในการวางเครือข่ายเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตลาดของยูทีวี เพราะการลงทุนในการขยายเครือข่ายได้แยกมาเป็นของบริษัทเอเซียมัลติมีเดีย ดังนั้น หากพื้นที่ไหนมีลูกค้าไม่เพียงพอหรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนบริษัทเอเซีย มัลติมีเดียก็จะไม่ลากสายให้ ซึ่งจะสวนทางกับแผนการขยายของยูทีวี

ระบบดาวเทียมดีทีเอช มีข้อดีในเรื่องของการติดตั้งง่ายและไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่บริการ แต่ข้อเสียคืออุปกรณ์แปลงสัญญาณของดีทีเอชมีราคาแพง ประมาณเครื่องละ 20,000 บาท ซึ่งที่แล้วมาไอบีซีต้องลดราคาเพื่อเพิ่มยอดสมาชิก จึงต้องเป็นฝ่ายแบกรับกับต้นทุนในส่วนนี้มาตลอด

วิธีการของทีเอคือ ในพื้นที่เขตไหนๆ ที่ไฟเบอร์ออพติกยังไปไม่ถึง ยูบีซีจะนำระบบดีทีเอชไปให้บริการแก่ลูกค้าก่อน และเมื่อสมาชิกเพิ่มจำนวนจนถึงระดับที่คุ้มค่า จึงลากสายไฟเบอร์ออพติกให้บริการแทน ส่วนอุปกรณ์ดีทีเอชที่ให้บริการไปแล้ว ก็จะนำไปให้บริการในพื้นที่อื่นๆ แทน

เช่นเดียวกับในต่างจังหวัดจะใช้วิธีรับด้วยจานดาวเทียม หลังจากนั้นจะส่งสัญญาณผ่านสายไฟเบอร์ออพติกไปยังบ้านของลูกค้า

ทีเอเชื่อว่า วิธีนี้จะทำให้สามารถลดต้นทุนในเรื่องของเครือข่ายลงได้ จากการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายร่วมกันได้ เพราะไม่ต้องลงทุนลากสายไฟเบอร์ออพติกก่อนเพื่อรอลูกค้า ขณะเดียวกันจะลดต้นทุนของอุปกรณ์ดีทีเอชลง เพราะจะใช้เฉพาะในพื้นที่ไฟเบอร์ออพติกยังไปไม่ถึงเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การลงทุนเครือข่ายต่อจากนี้จะอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทแซทเทิ่ลไลท์ เซอร์วิส (เอสเอสวี) บริษัทลูกของไอบีซี ที่ได้ไปซื้อทรัพย์สินของเอเซียมัลติมีเดีย และเน็ทเวิร์ค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งทั้งสองเป็นบริษัทลูกของทีเอช ที่ทำหน้าที่ในการวางเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อให้บริการแก่เคเบิลทีวี


ทวนกระแสการค้าเสรี

อีก 2 ปีข้างหน้า จึงเป็นเรื่องที่ สุภกิตและผู้บริหารของไอบีซีจะต้องมองให้ลึกไปกว่านั้น ก็คือ การรวมกิจการในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการฝืนกระแสการเปิดเสรีที่จะมีขึ้นในอนาคต

ไอบีซีและยูทีวีคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การรวมกิจการครั้งนี้ในทางปฏิบัติเท่ากับเป็นการผูกขาดตลาดโดยปริยาย แม้จริงๆ แล้วกรมประชาสัมพันธ์เปิดให้ใบอนุญาตอยู่ตลอดเวลา แต่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ก็คงไม่มีใครจะเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันเป็นแน่

การที่ไม่มีคู่แข่งขันในตลาดนั้นในระยะยาวไม่ใช่เรื่องดีแน่ เพราะเท่ากับเป็นการสวนกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในวันหน้า ซึ่งเป็นโลกการค้าเสรี และโลกของดิจิตอล หลายธุรกิจก็กำลังเจอกับบทเรียน จากการที่เคยชินกับตลาดผูกขาด เมื่อมีการแข่งขันเข้ามาก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

สำหรับธุรกิจเคเบิลทีวีนั้น การรวมกันของไอบีซีและยูทีวีนั้นอาจจะเป็นการสกัดคู่แข่งในระยะสั้น เพราะคงไม่มีนักธุรกิจรายใดที่จะทุ่มเงินมาแข่งกับยูทีวีและยูบีซี แต่ไม่มีหลักประกันว่า ในยามที่เศรษฐกิจดีขึ้นจะไม่มีคู่แข่งขันเข้ามาในตลาดเคเบิลทีวี

จะเห็นได้ว่า ซอฟต์แวร์รายการของเคเบิลทีวีนั้นเกือบ 90% นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งการเป็นธุรกิจผูกขาดย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีสำหรับผู้ผลิตซอฟต์แวร์นัก เมื่ออำนาจต่อรองต้องกลายเป็นของผู้ให้บริการเคเบิลทีวี รายได้ที่เคยได้รับต้องลดน้อยแน่นอน

เว้นเสียแต่ว่า ทีเอจะวางยุทธศาสตร์เพื่อรองรับแผนอนาคตไว้ด้วย

ประการแรก การหันมาให้ความสำคัญกับการซอฟต์แวร์รายการท้องถิ่น โดยไม่ต้องพึ่งพาซอฟต์แวร์รายการจากต่างประเทศมากเกินไป เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่า ช่องรายการท้องถิ่นที่ผลิตขึ้นเองในเวลานี้ก็มีเพียงช่องข่าวในประเทศ ซึ่งจะมีการรวมทีมงานของไอบีซีและยูทีวีไว้ด้วยกัน และช่องเพลงของชาแนลวี ของบริษัทบรอดคาสติ้งเน็ทเวิร์คเท่านั้น

ประการที่สอง การตลาดจะต้องใช้วิธีกระจายอำนาจออกไป โดยอาศัยเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศแทนที่จะรวมศูนย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นแขนขาในการสร้างกระแสความนิยมให้ติดตลาด

ลักษณะเดียวกับที่รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าเคยทำสำเร็จในตลาดเมืองไทยมาแล้วหลายสิบปี เพราะแม้ว่าตลาดรถยนต์จะเปิดเสรี มีรถยนต์จากค่ายยุโรป หรือเกาหลีเข้ามาให้เลือกมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถพังปราการของความนิยมของคนไทยไปได้

การสร้างตลาดเคเบิลทีวีเองก็ไม่ต่างกันเท่าใดนัก การกระจายอำนาจ และสร้างพันธมิตรทั่วประเทศ เพื่อเป็นแขนขาในการกระจายธุรกิจ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ยูบีซีต้องตระหนักให้ดี

ประการที่สาม เครือข่ายที่ให้บริการ แม้ว่าระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงและดาวเทียมจะมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน แต่จริงๆ แล้วระบบเครือข่ายทั้งสองไม่สามารถทดแทนกันได้

ระบบดาวเทียมดีทีเอช เป็นหนึ่งกระแสของการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก ที่ได้ให้ความสำคัญกับระบบการรับ-ส่งสัญญาณด้วยดาวเทียม เพราะจุดเด่นที่สำคัญคือ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ เหมือนกับเคเบิลใยแก้วนำแสง ที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะลากเครือข่ายเคเบิลใยแก้วเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด

ความสามารถของอุปกรณ์ไออาร์ ดี ที่ไอบีซีบริการอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ใช้ในการรับสัญญาณเคเบิลทีวีเท่านั้น แต่ยังใช้ต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายข้อมูลอื่นๆ ได้อีก เพียงแต่ว่ายังไม่ได้มีการนำไปใช้อย่างเต็มที่เท่านั้น

แต่จากแผนการใช้เครือข่ายร่วมกันของทีเอนั้น จะเห็นได้ว่าผู้บริหารใหม่ของไอบีซีต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายร่วมกัน และมุ่งเน้นไปที่การใช้เครือข่ายไฟเบอร์ออพติก ส่วนระบบดาวเทียมดีทีเอชจะใช้เฉพาะทดแทน ในกรณีที่เครือข่ายของไฟเบอร์ออพติกยังไปไม่ถึงเท่านั้น

ผลจากการรวมกิจการจะทำให้ไอบีซีและยูทีวีรอดตายได้ในวันนี้ แต่ก็ต้องไม่ลืมกับโลกอนาคตที่เป็นโลกของการค้าเสรี ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ยูบีซีเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.