|
ธปท.ห้ามBBLเป็นแกนรวมบ.ในเครือ
ผู้จัดการรายวัน(19 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติ เผยแผนควบรวมบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ 2 แห่ง "บง.สินเอเซีย - บง.บัวหลวงเอเชีย" สามารถทำได้ แต่ห้ามแบงก์กรุงเทพเป็นแกนนำ รวมทั้งต้องตัดเม็ดเงินกองทุนที่ลงทุนในแบงก์ใหม่ เพราะมีใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว พร้อมอนุญาตให้ถือหุ้นในแบงก์ใหม่ชั่วคราว
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีนโยบายจะควบรวมกิจการบริษัทในเครือ 2 แห่ง ว่า การควบ รวมกิจการระหว่างบริษัทเงินทุน สินเอเซีย จำกัด กับบริษัทเงินทุน บัวหลวง เอเชีย จำกัด เพื่อขอใบอนุญาตประกอบการเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Full Banking) สามารถทำได้ หากแกนนำในการจัดตั้งไม่ใช่ธนาคารกรุงเทพ แต่เป็นผู้ถือหุ้นรายอื่น
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Master Plan) กำหนดให้สถาบันการเงินดำรงสถานะเพียงอย่างเดียว (One Presence) เท่านั้น ดังนั้น ธนาคาร กรุงเทพ ซึ่งมีใบอนุญาตในการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว จะขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์อีก 1 แห่งจึงถือว่าผิดหลักเกณฑ์ของธปท.
สำหรับประเด็นสำคัญ คือ ธนาคารกรุงเทพ จะต้องตัดเม็ดเงินกองทุนในส่วนที่นำมาลงทุนในธนาคารแห่งใหม่ออกจากเงินกองทุนของธนาคารกรุงเทพในปัจจุบันด้วย เนื่องจากจะใช้ทุน จดทะเบียนรวมกันไม่ได้ เพราะตามหลักเกณฑ์ ของธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 แห่งใช้เงินกองทุนก้อนเดียวกันได้ เพราะผิดหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
"ในเรื่องนี้ ธปท.อาจจะอนุญาตให้ธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่วนเวลาในการถือหุ้นจะนานเพียงใดจะต้องเข้ามาหารือกับ ธปท.ก่อน อย่างไรก็ตาม การที่จะอนุญาตให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่นี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นหลักของ บง.สินเอเซีย จะได้ข้อตกลงอย่างไร" นางธาริษา กล่าว
สำหรับในส่วนของโครงสร้างการถือหุ้นของ บง. สินเอเซีย นั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดยรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้แก่ กลุ่ม SG Secrities Asia International Holding Limited ที่เข้ามาถือหุ้นจำนวน 573.4 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 36.5% รองลงมาคือกระทรวงการคลัง ซึ่งถืออยู่จำนวน 486.8 ล้านหุ้น หรือ 30.61% ธนาคารกรุงเทพ 437.26 ล้านหุ้น หรือ 27.49% บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผู้ฝาก 74.19 ล้านหุ้น หรือ 4.67% และนายชาตรี โสภณพนิช 6.12 ล้านหุ้น หรือ 0.39%
รายงานข่าวจากธปท. แจ้งเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สถาบันการเงินได้ทยอยส่งแผนควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน)มายัง ธปท.หลายรายแล้ว ซึ่งกำหนดให้ยื่นแผนภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยกรณีสถาบันการเงินที่ไม่มีแผนชัดเจน จะกลายเป็นบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอน-แบงก์) ในที่สุด แต่จะไม่มีผลบังคับทันที
ทั้งนี้ ธปท.จะอนุญาตให้บริษัทเงินทุน (บง.) หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) ที่ไม่ได้ยื่นแผนยังคงสถานะเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ขึ้นกับการจัดการสินทรัพย์ หนี้สินและภาระตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น) ของแต่ละแห่ง แต่อีกไม่นานเมื่อมีกฎหมายสถาบันการเงินใหม่ที่ดูแลเฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น สถาบันการเงินเหล่านี้จะกลายเป็นนอน-แบงก์โดยอัตโนมัติ หากเลือกอยู่ในสถานะเดิมก็คงลำบาก เพราะไม่มีโอกาสเติบโตในการดำเนิน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|