บัวหลวงรับแผนฟื้นทีพีไอรอขุนคลังอนุมัติก่อนโหวต


ผู้จัดการรายวัน(16 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารกรุงเทพ ไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ "ทีพีไอ" ฉบับใหม่ที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบให้รัฐและปตท. ถือหุ้นทีพีไอ ไม่ต่ำกว่า 50% พร้อมการันตีคุณสมบัติ "ปตท." เหมาะสมที่จะเข้ามา บริหารทีพีไอ ส่วนปูนใหญ่จะเข้ามาถือหุ้น 30% น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้าน "ประชัย" ไม่แปลกใจที่เจ้าหนี้เห็นชอบกับแผน เนื่องจากผู้บริหารแผนฯ ได้มีการหารือกับเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่กระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นชอบเบื้องต้นกับแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ โดยมีกรอบหลัก
คือ รัฐบาลและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะเข้า ไปถือหุ้นทีพีไอในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% พร้อมทั้งการลดทุนจดทะเบียนทีพีไอจาก 78,498.11 ล้านบาท ราคาตามมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เหลือราคาพาร์ 1 บาท เพื่อล้างขาดทุนสะสมจำนวน 8.6 หมื่น ล้านบาท รวมทั้งจะได้เงินลงทุนใหม่ 650-670 ล้านเหรียญสหรัฐ มาชำระหนี้

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ทีพีไอ กล่าวว่า ธนาคารทราบรายละเอียดเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ ฉบับที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งธนาคารเห็นด้วยกับแผนที่ผู้บริหารแผนเสนอมา ขณะที่ประเด็นของพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนนั้น ธนาคารยังไม่สามารถแสดงความเห็นได้ ส่วนหุ้นที่ธนาคารถืออยู่ในทีพีไอประมาณ 20% นั้น ในอีก 1 ปีข้างหน้าจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร

"ธนาคารเห็นด้วย และไม่มีความเห็นขัดแย้งกับผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่าจะใช้เวลาการจัดสรรหุ้นให้เรียบร้อยภายใน 1 ปี ซึ่งผมเข้าใจว่าขั้นตอนต่อไปผู้บริหารแผนจะเสนอเรื่องให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนจะส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาถือหุ้น 30% คงจะเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งผมยังไม่เห็นรายละเอียด" นายโฆสิต กล่าว

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยหลักการในส่วนของเจ้าหนี้เห็นด้วยที่จะให้ปตท. เข้ามาถือหุ้นในทีพีไอ เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งเรื่องของเงินทุน และศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธนาคารอยากได้พันธมิตรร่วมทุนในลักษณะนี้

"ส่วนประเด็นที่แผนฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่ไม่มีการแปลงหนี้เป็นทุนให้กับเจ้าหนี้นั้น เจ้าหนี้คงไม่คิดว่าเป็นปัญหา เพราะหลักการทำธุรกิจธนาคาร ธนาคารอยากได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนมากกว่าการเข้าไปทำธุรกิจ" นายสุวรรณ กล่าว

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกแปลกใจที่แบงก์กรุงเทพเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯฉบับแก้ไข เนื่องจากแผนดังกล่าวทางตัวแทนกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯได้มีการหารือกับเจ้าหนี้มาตั้งแต่ต้น ดังนั้นทางเจ้าหนี้ก็ต้องเห็นชอบกับแผนฯ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริหารลูกหนี้ หากจะคัดค้านแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว สามารถทำได้โดยยื่นคำร้องคัดค้านแผนฯต่อศาลล้มละลายกลาง หลังจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ได้นำแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวเสนอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งรับแผน หลังเจ้าหนี้โหวตรับแผนแล้ว

"ประชัย" เข้าชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน วานนี้ (15 ก.ค.) นายประชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ได้เข้าชี้แจงต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาเสนอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณี พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/17 ขัดแย้งกับมาตรา 48 และ 50 ประกอบมาตรา 29

นายไพบูลย์ วราหะไพทูรย์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการชี้แจงของนายประชัย ว่า นายประชัยและเจ้าหน้าที่ของ ทีพีไอได้ร่วมกันยกเหตุผลเพื่อแสดงให้เห็นว่ามาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและได้มีการยกสิทธิในเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หลักของการประกอบกิจการโดยเสรีขึ้นมาชี้แจง และในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ จะเป็นการชี้แจงเพิ่มเติมของผู้แทนกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้รักษาการตามพ.ร.บ. ล้มละลาย และพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ หรือผู้แทน

ด้านนายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ รองคณะกรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ในฐานะผู้ริเริ่มส่งคำร้อง กล่าวยืนยันว่า การที่นายประชัย ระบุว่า ลูกหนี้ขาดโอกาสในการฟื้นฟูกิจการ ทำให้ให้กมธ. เห็นว่ามาตรา 90/17 น่าจะขัดกับหลักการและเหตุผลในการออกพ.ร.บ. ล้มละลายช่วงแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2541 ซึ่งกรณีดังกล่าวกมธ.ถือว่าเมื่อมีผู้ร้องเรียนก็ต้องทำการศึกษา สืบสวนสอบสวน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องเรียนเสนอต่อกมธ.

ขณะที่นายประชัย ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลหลังการเข้าชี้แจงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ระบุสั้นๆ ว่าเป็นการให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและทางศาลได้บันทึกไว้หมดแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.