|
"สุริยะ"ไม่สน"คีรี"ขวางยันซื้อBTS3.4หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(15 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"สุริยะ" ไม่สนท่าที "คีรี" อ้างปรับโครงสร้างหนี้ล่าช้า เผยเดินหน้าเจรจาซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสกับผู้ถือหุ้นรายอื่นต่อ หลังเจ้าหนี้ยอมลดหนี้ให้ 45% คาดใช้เงินซื้อทั้งโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท มั่นใจภายในสิ้นปีซื้อคืนเรียบร้อย เผยตัวเลขบัญชี บีทีเอส ขาดทุนแถมไออาร์อาร์ต่ำ ส่งผลราคาหุ้นซื้อคืนหุ้นละ 5 บาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การเจรจาเพื่อซื้อโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสมีความคืบหน้าไปมาก เพราะกลุ่มเจ้าหนี้ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มีเคเอฟดับบลิวเป็นแกนนำยืนยันชัดเจนเรื่องการลดหนี้ประมาณ 45% ให้รัฐ ส่วนการที่นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บีทีเอส ออกมาระบุว่า จะไม่มีการขายคืนสัมปทานให้รัฐนั้นเป็นเรื่องของเอกชน ส่วนตนยืนยันว่าจะเดินหน้าเรื่องการซื้อคืนต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะเจรจากับกลุ่มผู้ถือหุ้นอื่นๆ ของบีทีเอสต่อไป
"ก่อนหน้านี้ บีทีเอสเคยบอกว่า ขอเวลาในการปรับโครงสร้างหนี้ และจะเร่งเจรจากับเจ้าหนี้ให้จบ ผมก็รอมาเป็นปีก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งหากบีทีเอสทำได้อย่างที่พูดก็ไม่มีปัญหา แม้ว่าคุณคีรีจะออกมาพูดก็จะไม่ส่งผลต่อการเจรจาต่อไป เพราะผู้ถือหุ้นของบีทีเอสมีหลายราย และคาดว่าจะไม่มีปัญหาในการเจรจาเพราะราคาที่ซื้อจากผู้ถือหุ้น จะเป็นธรรมคือตามที่ลงบัญชีไว้ จะไม่มีการ รังแกเอกชนอย่างแน่นอน ภายในปี 2547 นี้เชื่อว่าจะสามารถซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสได้เรียบร้อย"
นายสุริยะกล่าวว่า การที่เจ้าหนี้บีทีเอสทั้ง เคเอฟดับบลิว ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และไอเอฟซี ยอมลดหนี้ ให้ 45% จะทำให้รัฐใช้เงินในส่วนของการซื้อหนี้และดอกเบี้ยประมาณ 21,000 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นคาดว่าจะซื้อประมาณ 50% ของทุนจดทะเบียน (18,000 ล้านบาท) หรือไม่เกิน 9,000 ล้านบาท ส่วนหนี้การค้านั้นใช้เงินอีกไม่เกิน 3,800 ล้านบาท รวมแล้วคาดว่าจะใช้เงินในการซื้อคืนรถไฟฟ้าบีทีเอส ประมาณ 33,800 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รมว.คมนาคมได้ตำหนินายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) กรณีที่เชิญผู้แทนของทั้งบีทีเอสและบีเอ็มซีแอล เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการเจรจาซื้อคืนสัมปทานเดินรถไฟฟ้าที่มีนายอุทิศ ธรรมวาทิน รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่า คณะกรรมการฯ เพิ่งประชุมครั้งแรกควรจะหารือเพื่อวางกรอบในส่วนของภาครัฐให้เรียบร้อยก่อนที่จะเรียกเอกชนมาร่วมประชุม ซึ่งเป็นผลทำให้นายคีรี ออกมาพูดว่าถูกรัฐบาลบีบให้ขายคืนสัมปทาน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบตัวเลขทางบัญชีของทางบริษัทพบว่า มีผลประกอบการที่ขาดทุน ในขณะเดียวกันมีตัวเลขผลตอบแทนการลงทุน (ไออาร์อาร์) อยู่ที่ 4% ซึ่งถือว่าน้อยมากในด้านความคุ้มค่าในการลงทุน ดังนั้น หากนำตัวเลข ดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณการซื้อคืน เชื่อว่าราคาที่จะซื้อคืนนั้นจะต่ำมาก ราคาหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 5 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมยังยืนยันที่จะซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากเร็วๆ นี้ จะมีการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าอีกกว่า 4 แสนล้านบาท และจะต้องมีการเชื่อมโครงข่ายหากไม่เร่งซื้อมาเป็นของรัฐอาจจะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้เอกชน เมื่อมีโครงข่ายเพิ่มแล้วเอกชนยังเป็นเจ้าของโครงข่ายส่วนที่อยู่ในเมืองอยู่
เร่งแก้ขาดทุน ขสมก.
นายสุริยะกล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เรื่องการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจวานนี้ว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีหลายรัฐวิสาหกิจที่ยังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นต้น ซึ่งในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) จะพิจารณาแผนแก้ปัญหาขสมก. ซึ่งขณะนี้มีหลายแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาขาดทุน การแยกบริการสังคม (PSO) ที่ต้อง ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณให้ชัดเจนรวมทั้งการปรับปรุงการให้บริการ เช่น การปรับเส้นทางเดินรถการลดจำนวนรถธรรมดามาเป็นรถปรับอากาศ เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|