ขึ้นสู่ฐานส่งออก "มิตซูบิชิ" แลกกับการปิดตลาดในไทย!?


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีที่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นแห่งประเทศญี่ปุ่นแถลงข่าวถึงผลประกอบการในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยแนวโน้มว่าอาจต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ปิกอัพที่ลาดกระบัง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก ยังมีเรื่องน่าขบคิดที่สำคัญจนดูแปลกยิ่งกว่านั้น

ก่อนหน้านี้บริษัทรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของญี่ปุ่นอย่างมิตซูบิชิ พยากรณ์ผลประกอบการก่อนหักภาษีว่าจะได้กำไร 15,000 ล้านเยน แต่มาตอนนี้ต้องปรับใหม่คาดว่า ผลประกอบการก่อนหักภาษีจะปรากฏออกมาเป็นขาดทุน 60,000 ล้านเยน โดยมียอดขาย 3,700,000 ล้านเยน แทนที่จะเป็น 3,900,000 ล้านเยนตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

สำหรับธุรกิจในต่างประเทศของมิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ ที่ได้รับการกระทบกระเทือนหนักที่สุดคือในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งยอดขายตกลงฮวบฮาบ เป็นผลให้เกิดการขาดทุน 45,000 ล้านเยน จำนวนนี้ยังไม่รวม เงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่บริษัทลูกในไทยกู้ไป

ผู้บริหารของมิตซูบิชิกล่าวยอมรับว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในญี่ปุ่นและความปั่นป่วนด้านการเงินในเอเชีย รุนแรงยิ่งกว่าที่คาดไว้

นอกจากนี้ คัตสึฮิโกะ คาวาโซเอะ ประธานบริษัทยังกล่าวยอมรับว่า ความยุ่งยากของบริษัทเป็นผลเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ที่ผิดแนวของบริษัท ตรงที่ไม่มีรถขนาดเบาเพื่อการพักผ่อน เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น ปล่อยให้บริษัทอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป

บริษัทรถยนต์อื่นๆ ของญี่ปุ่นก็ได้รับความกระทบกระเทือน จากวิกฤติการณ์ในเอเชียและเศรษฐกิจที่ชะงักงันของญี่ปุ่นเช่นกัน ทว่าบริษัทอื่นต่างจากมิตซูบิชิ ตรงที่ได้มีการส่งออกไปยังประเทศทางตะวันตกมาช่วยชดเชยได้ส่วนหนึ่ง การส่งออกได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง

เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่มิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ รายงานผลขาดทุนหนักหน่วงและไม่จ่ายผลกำไร นับตั้งแต่ที่นำหุ้นออกขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี 1988

เมื่อปีที่แล้วมิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ มียอดกำไรสุทธิ 11,600 ล้านเยน จากยอดขาย 3,675,000 ล้านเยน

ความสำคัญของถ้อยแถลงที่นับว่าอาจมีผลต่อไทยอย่างมาก เมื่อมิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ ได้ประกาศแผนการปรับโครงสร้างอย่างกว้างขวาง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายให้ได้ถึง 350,000 ล้านเยนในช่วงระยะเวลา 3 ปี พร้อมกันนั้นก็จะลดหนี้สินที่ต้องเสียดอกเบี้ยให้ได้ 300,000 ล้านเยน

แผนการปรับโครงสร้างกำหนดให้ลดแบบฐานของรถยนต์ที่ใช้จาก 12 ฐานในขณะนี้ให้เหลือเพียง 6 และลดจำนวนชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในด้านทุนจะลดลง

แผนลดค่าใช้จ่ายที่สำคัญก็คือ การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ปิกอัพที่ลาดกระบังในประเทศไทย

การปิดโรงงานที่ลาดกระบัง เพื่อหันมาเน้นโรงงานที่แหลมฉบังอีก 3 โรง ซึ่งเป็นโรงงานที่เทคโนโลยีการผลิตใหม่กว่าทันสมัยกว่า อาจเป็นสิ่งที่ดีในเชิงการลงทุนระดับโลก และแน่นอนมิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ จะยังเน้นการส่งออกรถยนต์จากไทยให้มากขึ้น เพื่อหนีปัญหาการขาดทุนจากฐานการผลิตในไทย แต่ปมปัญหาตรงนี้จะกระเทือนต่อตลาดของรถยนต์มิตซูบิชิในไทยอย่างมาก

ปัญหาความไม่แน่ใจต่อนโยบายการตลาดจะเป็นเรื่องหลัก ทั้งต่อผู้บริโภคและต่อดีลเลอร์ของมิตซูบิชิเอง

กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงวิกฤตอย่างมากสำหรับการทำตลาดรถยนต์ในไทย และผู้ที่รับชะตากรรมอย่างมากกลุ่มหนึ่งก็คือ เหล่าดีลเลอร์ทั้งหลาย

และดูเหมือนว่าดีลเลอร์ของมิตซูบิชิ จะออกอาการมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

ภาพรวมของทุกยี่ห้อ ดีลเลอร์จะปิดตัวลงกว่า 30% ซึ่งในจำนวนดังกล่าว จะเป็นดีลเลอร์มิตซูบิชิกว่า 50% "ต่อไปดีลเลอร์รถจะเหลือน้อยลง การหันมาให้ความสำคัญด้านศูนย์บริการเท่านั้น ที่จะทำให้ดีลเลอร์มีรายได้มาเลี้ยงฝ่ายขาย ดีลเลอร์ที่จะอยู่ได้ต้องมีสายป่านยาวและมีเครือข่ายศูนย์บริการมากแห่ง"

ตัวแทนกลุ่มรายเดิมกล่าวยกตัวอย่างสถานการณ์ธุรกิจของตนเองให้ฟังว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายรถที่ 1,000 คัน แต่ในปีนี้คาดว่ายอดขายจะลดลงเหลือเพียงประมาณ 200 คัน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแม่ไม่ได้ให้การช่วยเหลือเลยแม้แต่น้อย ไม่มีการผ่อนผันหนี้สิน หรือช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของดีลเลอร์ รวมถึงการทำตลาด โดยจะให้การช่วยเหลือเพียงการยืดเครดิตเทอม จาก 60 วันมาเป็น 90 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ ระหว่างดีลเลอร์มิตซูบิชิกับเอ็มเอ็มซี สิทธิผลยังมีปัญหาขัดแย้งกันมาโดยตลอด เนื่องจากไม่มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันเท่าที่ควร ปัญหาหลักที่มีการถกเถียงกันเสมอก็คือ การช่วยเหลือที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะบริษัทแม่รถยนต์เกือบทุกรายจะเน้นการช่วยเหลือดีลเลอร์ที่มีสายป่านยาว และเครือข่ายศูนย์บริการมากราย ที่ขาดคุณสมบัติจะถูกละเลยและปล่อยให้ล้มลงไป

"มีการประชุมกันหลายครั้งแล้วว่าดีลเลอร์มีปัญหา และพูดกันว่าบริษัทแม่น่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เช่นจะรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้อย่างไร โดยไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งแย่งส่วนแบ่งตลาดไปครอง ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทแม่มักจะพูดว่า เรื่องหนี้สินให้ไปเคลียร์กันเอาเอง แต่ไม่มีการแนะนำว่าจะรักษาตลาดของตัวเองไว้อย่างไร นอกจากนั้น กิจกรรมการตลาดก็ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร"

การที่มิตซูบิชิปล่อยให้ดีลเลอร์ต้องโดดเดี่ยวในสถานการณ์เช่นนี้ นับว่าน่ากลัวสำหรับการรักษาฐานตลาดในไทยอย่างมาก เพราะแม้ว่ามิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ จะตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในไทย ด้วยการเน้นการส่งออกให้มากขึ้น แต่การรักษาฐานที่มั่นของแหล่งผลิตนั้นๆ ก็น่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

นอกจากสภาพของดีลเลอร์มิตซูบิชิที่ดูจะต่ำต้อยลงแล้ว ในงานมอเตอร์โชว์ที่เป็นงานใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้น มิตซูบิชิก็ยังยอมปล่อย โดยไม่ได้เข้าร่วมแสดงรถยนต์ ปล่อยให้คู่แข่งสำคัญอย่างโตโยต้า และฮอนด้า รวมทั้งอีซูซุ เก็บเกี่ยวประโยชน์ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทีเดียว

จากนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาในเรื่องของฐานผลิต เพื่อลดการขาดทุนในระดับองค์กรรวม จากพฤติกรรมที่กระทำต่อดีลเลอร์ และการไม่เข้าร่วมสังฆกรรมมอเตอร์โชว์ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ กับแนวทางที่จะเน้นการส่งออกจากฐานผลิตในไทยให้มากขึ้น

คงต้องเข้าใจได้ว่ามิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปฯ กำลังจะยอมถอยกับสงครามและวิกฤตการณ์ตลาดในไทยเสียแล้วกระมัง ซึ่งก็ไม่รู้ว่านโยบายเช่นนี้ เหมาะสมและถูกต้องกับอนาคตของมิตซูบิชิในไทยหรือไม่ แค่ไหน

เมื่อมิตซูบิชิ เน้นการผลิตเพื่อส่งออกจากฐานในไทย แต่กลับปล่อยโอกาสกับตลาดรถยนต์เมืองไทย

ไม่แปลก ก็ต้องนับว่าแปลกเสียแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.