EGVยันถูกMAJORกลืนมีแต่ได้


ผู้จัดการรายวัน(13 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สรุปประเด็นซักถามในการประชุมชี้แจง (Presentation) เพื่อเสนอแนะความเห็นเกี่ยวกับการขอเพิกถอนหุ้น และข้อเสนอของผู้เสนอซื้อหลักทรัพย์ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR) ในบริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (EGV) ซึ่งเป็นของตระกูลพูลวรลักษณ์ทั้ง 2 กลุ่ม ยันมีแต่ได้กับได้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ณ โรงภาพยนตร์ แกรนด์ อีจีวีอาคารสยามดิสคัฟเวอรี่ เซ็นเตอร์ ชั้น 6 ถนน พระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

คำถาม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ที่จะทำให้แผนการรวมกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ และทำไมถึงต้องมีทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2

คำตอบ การรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เนื่องจากบริษัทดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ และมีการเปิดเผยข้อมูล พร้อมทั้งแถลงข่าวให้สื่อมวลชน และนักลงทุนรับทราบมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของการดำเนินการตามทางเลือกที่ 1 ภายใต้ประกาศของ ก.ล.ต. นั้น ต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการอนุมัติ ก็จะเลือกใช้ทางเลือกที่ 2 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ประกาศของ ก.ล.ต. ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการติดขัดในการรวมกิจการต่อไป

คำถาม การรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน มีผลต่อกฎหมายเรื่องการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ ไม่เข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เนื่องจาก

1. คำว่าตลาดในที่นี้ ต้องรวมถึงตลาดของของวีซีดีและ ดีวีดีด้วย เนื่องจากเป็นการชมภาพยนตร์เหมือนกัน แม้ว่าการรวมกิจการ จะมีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 70% ของโรงภาพยนตร์ แต่ถ้ารวมตลาดวีซีดีและดีวีดี แล้ว จะมีส่วนแบ่งตลาดน้อย ผู้บริโภคปัจจุบัน สามารถเลือกชม ภาพยนตร์ได้หลายลักษณะ ไม่จำเป็นต้องชมที่โรงภาพยนตร์เสมอไป

2. สินค้าที่มีอำนาจเหนือตลาดนั้น จะต้องมีประกาศจากคณะกรรมการของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ออกมา ซึ่งได้ประกาศไปแล้ว คือรถจักรยานยนต์ และกำลังจะประกาศในธุรกิจของธนาคารพาณิชย์

3. ยังไม่มีกฎกระทรวงออกมาในวิธีปฏิบัติที่ต้องยื่นขอคณะกรรมการ ให้อนุมัติให้มีการ รวมกิจการกัน จึงยังไม่มีผลบังคับใช้

นอกจากนั้น ถ้าพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผู้ดูแล คือสำนัก งานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น เนื่องจากการรวมกิจการครั้งนี้ ไม่ได้มีวัตถุ- ประสงค์ในการขึ้นราคาบัตรชมภาพยนตร์ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค

คำถาม บริษัทยังมีการขยายตามแผนการลงทุนเดิมหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับแผนการเพิ่มทุน PP

คำตอบ การขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ เป็นไปตามแผนงานเดิม ส่วนแผนการเพิ่มทุนโดย PP คงต้องเลิก เนื่อง จาก MAJOR จะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด แผนเรื่องการระดมทุน ต้องเป็นการระดมทุนร่วมกัน

คำถาม บริษัทมีแผนบริหาร การเพิ่มรายรับและลดรายจ่ายอย่างไร

คำตอบ รายจ่ายหลักของบริษัท ได้แก่ ส่วนแบ่งหนัง (Film Hire) ซึ่งเมื่อมีการรวมตัวกันแล้ว มีโอกาสที่จะฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่องนานขึ้น เนื่องจากไม่ต้องแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยการ ทุ่มจำนวนโรงให้ภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ส่วนแบ่งหนังโดยเฉลี่ย ก็จะลดลงตามจำนวนสัปดาห์ที่ฉายได้มากขึ้น

ค่าใช้จ่ายทางการตลาดจะลดลงได้ทันที เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่ต้องทุ่มเงินเข้าไป เพื่อแข่งขันแย่งลูกค้าเข้ามาในโรงภาพยนตร์

รายได้จะเพิ่มขึ้น จากการร่วมกันบริหาร เพื่อเพิ่มผู้ชมช่วง วันธรรมดาและช่วงเช้า อาจจะดำเนินการโดยจัดรอบพิเศษ หรือลดราคาพิเศษ สำหรับเด็ก นักศึกษา ที่ผ่านมาทำไม่ได้ เนื่อง จากจะได้รับข้อโต้แย้งจากคู่แข่งตลอดเวลา

รายได้จากการโฆษณาส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถที่จะเสนอลูกค้าเป็นแพกเกจได้ สามารถสร้างความเหมาะสมให้ลูกค้าแต่ละรายได้ อาจจะร่วมกันเสนอขาย หรือแยกกันได้ ตามลักษณะธุรกิจของลูกค้าโฆษณา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.