เอเจเอฟหวังขายกองทุน 1.5 พันล.


ผู้จัดการรายวัน(12 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.อยุธยาเจเอฟ (AJF) ปลื้ม นักลงทุนสนใจซื้อหน่วยลงทุน "กองทุนรวมอยุธยาสร้างกำไรคุ้มครองเงินต้น" ตั้งเป้าระดมทุนครั้งแรกมากกว่า 1.5 พันล้านบาท

นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยาเจเอฟ ในเครือธนาคารกรุงศรี- อยุธยา เปิดเผยระหว่างการเสนอขายหน่วยลงทุน "กองทุนรวมอยุธยาสร้างกำไรคุ้มครองเงินต้น" ระหว่างวันที่ 5-16 กรกฎาคม ว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนบุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ เนื่องจาก "กองทุนรวมอยุธยาสร้างกำไรคุ้มครองเงินต้น" มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ทบดอกเบี้ยประมาณ 90% ของมูลค่ากองทุนฯ ซึ่งนักลงทุนคุ้นเคยกับการลงทุนลักษณะคล้ายกับการลงทุนในสลิปส์-แคปส์ (SLIPS-CAPS) มาบ้างแล้ว

ผลตอบแทนการลงทุนไม่ผูกติดกับการลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ การทำความเข้าใจกับนักลงทุนจึงไม่ยุ่งยาก มาก นอกจากนี้ ส่วนที่เหลืออีก 10% ที่จะให้ธนาคารดอยช์แบงก์จาก เมืองเบียร์นำไปลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นทั่วโลก ก็มีข้อมูลในอดีตของการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีได้

"หลังจากต้องเลื่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนฯ หลายครั้ง เนื่องจากกองทุนฯ นี้มีนวัตกรรมทางการเงินที่แปลกใหม่ ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ เมื่อสามารถทำการเสนอขายระหว่างวันที่ 5-16 กรกฎาคมแล้ว

"ในช่วงแรกของการเสนอขายนี้ ก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนค่อนข้างดีมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย โดยผู้ซื้อหน่วย ลงทุนต้องซื้ออย่างต่ำ 50,000 บาท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าว่า จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้าซื้อลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท" นายเรืองวิทย์กล่าว

สำหรับนโยบายการลงทุนของ "กองทุน รวมอยุธยาสร้างกำไรคุ้มครองเงินต้น" นั้น จะแบ่งเงินประมาณ 90% ลงทุนตราสารหนี้ทบดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) ของ สถาบันการเงิน และบริษัทชั้นนำที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A- ขึ้นไป ที่เหลืออีก 10% จะให้ธนาคารดอยช์แบงก์ นำไปลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นทั่วโลกของเงิน 10 สกุลหลัก คือ ดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เยน ปอนด์สเตอริง สวิสฟรังก์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ดอลลาร์แคนาดา สวีดิชโครนเนอร์ และแดนิชโครนเนอร์ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนสะท้อนอยู่ในดัชนี Dynamic Carry Index (DCI)

ทั้งนี้ ธนาคารดอยช์แบงก์เป็นผู้สร้างกลไกกำหนดว่าจะให้น้ำหนักการลงทุนเงินแต่ละสกุลเท่าไรภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ส่วน ลักษณะการทำงานของกองทุนฯ ที่ช่วยคุ้มครองเงินต้น คือเมื่อครบ เวลาลงทุน 4 ปี ส่วนที่ลงทุนตราสารหนี้ทบดอกเบี้ยจะเติบโตเท่าเงินลงทุนแรกเริ่ม ซึ่งผู้ลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่า เงินลงทุนจะไม่สูญหายไปไหน และอาจจะพิจารณาจ่ายปันผลปีละไม่เกิน 2 ครั้ง

นายเรืองวิทย์กล่าวต่อว่า กองทุนฯ นี้เน้นสร้างรูปแบบการลงทุนที่มีความแปลกใหม่ เป็นทางเลือกใหม่เพื่อสนองความต้องการ ของนักลงทุนรายย่อย ที่อาจจะไม่สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุน ได้มาก จึงต้องมีการสร้างกลไกคุ้มครองเงินต้น

นอกจากนี้ การลงทุนผ่านธนาคารดอยช์แบงก์โดยตรง อาจมีข้อจำกัดในวงเงินขั้นต่ำที่ต้องลงทุนหลายร้อยล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ เมื่อนักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนลักษณะนี้มากขึ้น ก็อาจจะพิจารณาเปิดกองทุนใหม่ ที่ปรับเพิ่มอัตราส่วนการลงทุน ที่ให้ธนาคารดอยช์แบงก์นำไปลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นทั่วโลก

"นักลงทุนที่มีความต้องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน มี ความต้องการเครื่องมือการลงทุนใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัย ขณะเดียวกัน ก็ต้องการผลตอบแทนที่ดี และหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบจากความผันผวน "กองทุนรวมอยุธยาสร้างกำไรคุ้มครองเงินต้น" จึงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งที่ถือว่ามีความโดดเด่น แตกต่างจาก กองทุนรวมอื่นๆ ที่เคยมีมา" นายเรืองวิทย์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.