|

SPPเมินเทนเดอร์ฯTCPอีกรอบทุ่มเงินขยายพิมพ์เขียน-คราฟท์
ผู้จัดการรายวัน(9 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เยื่อกระดาษสยาม เมินทำเทนเดอร์ฯไทยเคนเปเปอร์อีก หลังสิ้นสุดเมื่อ 30 มิ.ย.นี้ มีผู้เสนอขายหุ้นเพียง 0.65% เนื่องจากติดข้อบังคับก.ล.ต.และราคาหุ้นสูงเกิน เผยกลุ่มเยื่อและกระดาษ ในเครือปูนใหญ่ศึกษาการขยายการลงทุนไปประเทศแถบอาเซียน เน้นการควบรวมกิจการและร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น ขณะเดียวกันทุ่มเงิน 2 พันล้านบาท ขยายกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน-คราฟท์ใน 1-2 ปีนี้
นายเชาวลิต เอกบุตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่จะยื่นทำคำเสนอซื้อ(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์)หลักทรัพย์บริษัท ไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน)(TCP)อีกครั้ง หลังจากสิ้นสุดการทำเทนเดอร์ฯเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547 โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเสนอขายหุ้น TCP เพียง 1.63 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.649% ทำให้ SPP ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิม 50.006% เป็น 50.65% เนื่องจากราคาเสนอซื้อ 13.50 บาทต่อหุ้นต่ำกว่ากระดานซื้อขาย
การตัดสินใจทำเทนเดอร์ฯหลักทรัพย์ TCP นี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากได้ทยอยซื้อหุ้น TCP ในกระดานจนถึงเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำหนด โดยไม่มีจุดประสงค์ที่จะเพิกถอน TCP ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เพราะหุ้น TCP ราคาต่ำ และเป็นช่วง ราคาที่เหมาะสมซื้อลงทุน ณ ระดับ 13.50 บาท
นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.กำหนดเงื่อนไขการทำเทน-เดอร์ฯว่า หากต้องเพิกถอนบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถทำ เทนเดอร์ฯได้ 2ครั้งใน1ปี ส่วนกรณี TCP นั้น SPP ไม่สามารถยื่นทำเทนเดอร์ฯได้ใหม่ภายใน 1 ปี เพราะวัตถุประสงค์ที่แจ้งในการทำเทนเดอร์ฯไม่ต้องการเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
วานนี้(8 ก.ค.) นักลงทุนได้สนใจเข้ามาซื้อขายหุ้น TCP อย่างหนาแน่น จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปปิดตลาดที่ 16 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท เปลี่ยนแปลง 5.26% มูลค่าการซื้อขาย 137.18 ล้านบาท
นายเชาวลิต กล่าวถึงทิศทางการลงทุนของธุรกิจกระดาษในเครือ ปูนซิเมนต์ไทยว่าในไตรมาส 4 นี้จะมีกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนเพิ่ม ขึ้นอีก 2 หมื่นตัน เป็น 3.6 แสนตัน หลังจากลงทุนไป 1 พันล้านบาท และปีถัดไปจะปรับปรุงเครื่องจักรผลิตกระดาษคราฟท์ใหม่ ใช้เงินลงทุนอีก 1 พันล้านบาท ทำให้ปริมาณกระดาษคราฟท์เพิ่มสูงขึ้นในปี 2548
นอกจากนี้ ได้ศึกษาหาลู่ทางการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน หาก พบว่ามีบริษัทผลิตกระดาษที่มีสิน ทรัพย์ดีแต่ประสบปัญหาทาง การเงิน ก็จะเข้าไปซื้อกิจการ เหมือนที่ดำเนิน การอยู่ในไทย ไม่ใช่เป็นการเพิ่มกำลัง การผลิตในประเทศ หรือจะร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น คาดว่า จะเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้นภายใน 3 ปีข้างหน้า
ธุรกิจเยื่อและกระดาษในเครือปูนใหญ่ได้เข้าไปลงทุนทำธุรกิจผลิตกระดาษคราฟท์ ในฟิลิปปินส์ ล่าสุดผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัท ยูไนเต็ด พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด ได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ให้ SPP ทำให้ถือหุ้นใหญ่ 98%
"การขยายงานของกลุ่มกระดาษฯยังเน้นควบรวมกิจการ และการขยายกำลังการผลิต ซึ่งการควบรวมกิจการในประเทศคงทำได้ยากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะและพูดคุยกันรู้เรื่อง โดยเราก็เปิดตัวเอง อย่างไรก็ตามคาดว่า ในครึ่งปีหลังนี้คงไม่มีข่าวการควบรวมกิจการเกิดขึ้น" นายเชาวลิตกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|