|
KTBเล็งถือธอท.80%
ผู้จัดการรายวัน(9 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"วิโรจน์ นวลแข" เสนอแผนแบงก์กรุงไทยชาริอะฮ์ ควบรวมกิจการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยต่อกระทรวงการคลัง ย้ำต้องถือหุ้นเกิน 80% ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 3 พันล้านบาท เพื่อคุมอำนาจการบริหารงานเบ็ดเสร็จ พร้อมเดินหน้า "ชาริอะฮ์" ต่อ หากคลังไม่สนแผนควบรวม ระบุสถานการณ์ธนาคารอิสลามฯ ปัจจุบันรอดยาก เนื่องจากเครือข่ายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ บวกกับพนักงานไม่มีความชำนาญ
นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบรวมระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) กับธนาคารชาริอะฮ์ ซึ่งอยู่ในแผนกพิเศษของธนาคารกรุงไทย ว่า ขณะนี้ธนาคารได้ยื่นแผนการควบรวมของ สถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งให้แก่กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว โดยธนาคารกรุงไทยจะเข้าไป เพิ่มทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อให้กลายเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ มากกว่าร้อยละ 80
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเข้าไป ถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 80 จากปัจจุบันที่ธนาคารถือหุ้นอยู่ประมาณร้อยละ 7 นั้น สืบเนื่องจากธนาคารต้องการมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นผู้กำหนดทิศทางและแผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารอิสลามได้เอง
ปัจจุบันที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 690 ล้านบาท หากกระทรวงการคลังตอบรับข้อเสนอ ธนาคารจะโอนแผนกพิเศษธนาคารชาริอะฮ์ไปรวม พร้อมทั้งใช้ใบอนุญาตของธนาคารอิสลามฯ ทำธุรกิจเป็นนิติบุคคลอีกแห่งอย่างชัดเจน โดยจะแยกผล ประกอบการ ทุนจดทะเบียน สินเชื่อ ออกจากธนาคารกรุงไทยอย่างสิ้นเชิง
"หากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารในการควบรวมกับธนาคาร ชาริอะฮ์ ธนาคารกรุงไทย ยังยืนยันดำเนินธุรกิจ ธนาคารชาริอะฮ์ต่อไป ในรูปแบบธนาคารเดียว 2 ระบบเหมือนเดิม"
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยธนาคาร แต่ละแห่งต่างพลิกกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้า และรักษาอัตราการขยายตัวของธนาคารเอง ขณะที่ธนาคาร อิสลามฯ ซึ่งมีขนาดเล็ก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันทำได้ลำบาก ดังนั้นธนาคารจำเป็นต้อง เข้าไปสนับสนุนธุรกิจทุกด้าน อาทิ ระบบการจัดการเครือข่ายสาขา การนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับธนาคารอิสลามฯ
"นอกจากการเข้าเสริมศักยภาพการแข่งขัน ของธนาคารอิสลามฯ แล้ว การควบรวมกิจการจะช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินงานด้วย"
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการควบรวมกิจการ ของสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง คงจะไม่เกิด ขึ้นเร็วๆ นี้ แม้ว่านโยบายของรัฐบาลต้องการให้ชาริอะฮ์เข้าไปควบรวมก็ตาม เพราะขณะนี้ชาริอะฮ์ยังไม่มีประธานบริหาร ขณะเดียวกันการดำเนินการยังติดปัญหากฎหมาย หรือกฎกระทรวง เรื่องขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารอิสลามฯ
ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารชาริอะฮ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากธนาคารอิสลามแห่งประเทศ ไทยต้องการเป็นแกนนำในการควบรวม กิจการกับธนาคารชาริอะฮ์จะต้องมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 3,690 ล้านบาท เพื่อใช้ทุนรองรับธุรกรรมของธนาคารชาริอะฮ์ที่มีขนาดธุรกรรมใหญ่กว่ามีมูลค่าสินทรัพย์รวมสูงกว่า 4,500 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารอิสลามฯ ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนแค่ 690 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ไม่เพียงพอต่อการควบรวมกิจการสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง
ขณะเดียวกัน ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารอิสลามฯ ทั้งกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 49 รวมถึงธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่มีนโยบายเพิ่มทุน เนื่องจากไม่มั่นใจในแผนธุรกิจของธนาคารอิสลามฯ ดังนั้น ทำให้โอกาสที่ธนาคารอิสลามฯจะเป็นในการควบรวมแทบเป็นไปไม่ได้เลย ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้เรียกนายอุตม สาวยานนท์ กรรมการ ธนาคารกรุงไทยไปเป็นตัวแทนเพื่อหารือในเรื่องนี้แล้ว
ปัจจุบันธนาคารชาริอะฮ์ มีทุนจดทะเบียนประมาณ 1,000 ล้านบาท มีสาขามากกว่า 40 สาขาและมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้าน ระบบเทคโนโลยีได้พึ่งเครือข่าย จากธนาคารกรุงไทย ขณะที่ธนาคารอิสลามฯ มีสาขาเพียงแค่ 7 สาขาเท่านั้น อีกทั้งระบบเครือข่ายจัดการภายในยังไม่เสร็จสมบูรณ์ บวกกับความพร้อมของพนักงานมีไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีความชำนาญทำธุรกรรมแบบอิสลาม เพราะส่วนใหญ่ที่สมัครล้วนเป็นเด็กฝากเด็กเส้นจำนวนมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|