|
ตั้งกองทุนทีพีไอขายหุ้นประชาชน
ผู้จัดการรายวัน(8 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
5 ผู้บริหารแผนฟื้นทีพีไอดึงประชาชนร่วมเป็นเจ้าของบริษัท เสนอแนวคิดตั้ง "กองทุนหุ้นทีพีไอ" เพื่อให้รายย่อยและบริษัทเอกชนที่สนใจซื้อหุ้นทีพีไอ เผยกันไว้ไม่ต่ำกว่า 40% ไม่ปิดกั้นเจ้าหนี้และประชัย เพราะเป็นกองทุนที่ผู้ลงทุนไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร ส่วนหุ้นเฉพาะเจาะจงรายใหญ่ 60% กำลังรอคำตอบจากปูนใหญ่ก่อนสรุปสัดส่วนของปตท. กับกบข. คณะผู้บริหารแผนมั่นใจขุนคลังเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 2 สัปดาห์
พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(TPI) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร แผนมีแนวคิดที่จะเสนอต่อกระทรวงการคลัง ในการจัดตั้งกองทุนหุ้นทีพีไอเป็นกองทุนที่จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเอกชนทั้งที่เป็นบุคคลและนิติบุคคลประมาณ 40% ของหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 650 ล้านเหรียญ สหรัฐ หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท
"ทีพีไอเป็นกิจการที่มีอนาคตน่าลงทุน โดยเฉพาะหลังการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูที่เรา ส่งให้กระทรวงการคลัง เป็นผลดีต่อบริษัทและเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้และผู้ร่วมทุนรายใหม่ การเพิ่มทุนทีพีไอหลังลดทุนจึงควรเปิดโอกาสให้ประ- ชาชนได้รับโอกาสในการลงทุน ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ ลูกหนี้หากสนใจก็เข้ามาซื้อหุ้นในส่วนดังกล่าวได้" นายทนง พิทยะ หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนกล่าวเสริม
พล.อ.มงคล กล่าวว่า แม้กองทุนหุ้นทีพีไอสำหรับประชาชนทั่วไปจะเปิดกว้างไม่จำกัดเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่หากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เข้ามาซื้อหุ้นอาจมีคำถามว่า นายประชัยนำเงินมาจากไหน อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นกองทุนหุ้นทีพีไอจะไม่มีส่วนร่วมในการบริหารกิจการจึงไม่มีปัญหา
ส่วนขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนหุ้นทีพีไอหากกระทรวงการคลังเห็นชอบก็จะต้องขออนุญาตสำนัก งานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามปกติ
พล.อ.มงคลกล่าวว่า ได้เตรียมโครงสร้างการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 5 ส่วน ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) พนักงานและประชาชนทั่วไป
"เบื้องต้นปตท.กบข.ไม่มีปัญหา แต่กับปูนใหญ่ ยังต้องเจรจาอีกหลายครั้งทั้งสัดส่วนและราคา หากปูนใหญ่ชัดเจนสัดส่วนของปตท.และกบข.จะได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 รายรวมกันจะมีสัดส่วนมาก กว่า 50% ขอยืนยันว่าไม่มีการขายหุ้นเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ให้เอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกอย่างตอนนี้คุณบุญคลี ปลั่งศิริ ผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปฯที่เคยมาเป็นที่ปรึกษาก็ออกไปแล้ว"
พล.อ.มงคลยังกล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น่าจะเห็นชอบภายใน 2-3 สัปดาห์ เมื่อรัฐมนตรีเห็นชอบคณะผู้บริหารแผนจะส่งให้คณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อส่งให้เจ้าหนี้ทุกราย คาดว่าใช้เวลา 1 เดือน ขั้นตอนต่อไปคณะผู้บริหารแผนจะเสนอเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) เพื่อลงมติเจ้าหนี้ก่อน เสนอศาลล้มละลายกลางพิจารณา หากนายประชัยไม่เห็นด้วยก็สามารถคัดค้านในขั้นตอนของศาล
"คงใช้เวลาประมาณ 4 เดือน เราติดตามดูพบ ว่าตอนนี้มติเจ้าหนี้ในการโหวตเกิน 51% เชื่อว่าในที่สุดการฟื้นฟูกิจการทีพีไอจะเป็นไปตามแผนที่เราส่งให้กระทรวงการคลัง" นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนกล่าว
นายปกรณ์กล่าวว่า ราคาหนี้ทีพีไอเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยเดือนก.ค.2546 ซึ่งเป็นช่วงคณะผู้บริหาร แผนชุดปัจจุบันเข้ามา ราคาหนี้อยู่ที่ 40% แต่ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็น 65% ถือว่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นสูงมาก
"เรตหนี้บริษัทฟื้นฟูกิจการแถบเอเชียอยู่ที่ 20% ยุโรป 20-40% ส่วนอเมริกา 40-50% เราจึงได้รับการ ยอมรับจากคณะกรรมการเจ้าหนี้แล้ว 61%"
ส่วนข้อเรียกร้อง 7 ข้อในแผนที่นายประชัยยื่นให้รัฐมนตรีคลัง นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่สามารถต่อรองหรือเปลี่ยนแปลงแผนของคณะผู้บริหารแผนเนื่องจากส่งผลเสียต่อบริษัท
"ผมดูแล้วรับไม่ได้ เช่นเรื่องยกเลิกการลดทุน เพราะการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมก่อนดึงพันธ-มิตรเข้ามาเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เจ้าหนี้โดยไม่มีหุ้นให้เจ้าหนี้ นอกจากนี้เป็นเพียงการลดทุนทางบัญชี ไม่เกี่ยวกับกำไร ที่สำคัญไม่เสียสิทธิทางภาษีเหมือนที่คุณประชัยอ้าง เนื่องจากทีพีไอเป็นบริษัทฟื้นฟูกิจการ ได้เครดิตทางภาษี 5 ปี"
ส่วนที่ขอยกเลิกการขายหุ้นบริษัท ทีพีไอพีแอล จำกัด (มหาชน) (TPIPL) นายปกรณ์มองว่า นายประชัยกลัวเสียสิทธิส่วนตัวมากกว่ามองประโยชน์องค์กร ขณะที่ 5 ข้อที่เหลือนายปกรณ์กล่าวว่า ไม่มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา
ทั้งนี้ นายประชัยเสนอข้อต่อรองและขอแก้ไข 7 ข้อประกอบด้วย ข้อ 1.ห้ามลดทุน 2.ห้ามขายหุ้นTPIPL 3. ให้ผู้บริหารของลูกหนี้เดิมมีสิทธิซื้อหุ้นที่แปลงหนี้เป็นทุนคืนทั้งหมด (85%) ในราคาเท่ากับที่แปลงหนี้เป็นทุน บวกด้วยดอกเบี้ย 5% ต่อปีภาย ในกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับตั้งแต่แผนฟื้นฟูฯได้รับการแก้ไขมีผลบังคับใช้และมีการแปลงหนี้เป็นทุน 4. ให้ลูกหนี้สามารถออกหุ้นใหม่หรือกู้เงินมาเพื่อทำการ รีไฟแนนซ์หนี้เดิมทั้งหมดได้ 5. ให้ผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผนตลอดระยะเวลาการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เว้นแต่มีพฤติกรรมทุจริตหรือ ไม่ปฏิบัตตามแผนฟื้นฟูกิจการ 6. ให้เจ้าหนี้ส่งเจ้าหน้า ที่มาตรวจสอบควบคุมการใช้จ่ายเงิน ตลอดจนการดำเนินการของลูกหนี้ตลอดระยะตามแผนฟื้นฟูกิจการ และ 7.ดำเนินการยกเลิกคดีที่มีอยู่ระหว่างกันทั้งหมด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|