โอกิใช้ไทยเป็นฐาน บุกเอเชียอาคเนย์ (อีกรอบ)


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากห่างหายไปนานจนเกือบจะถูกลืม "โอกิ" (OKI) ก็กลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง ด้วยหวังจะใช้ไทยเป็นฐานในการทำตลาดและการขายสำหรับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ผลิตภัณฑ์ "โอกิ" ได้เข้ามามีบทบาทในวงการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัท โอกิ อิเลคทริค อินดัสทรี จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้มอบหมายให้บริษัท โอลิมเปียไทย เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องพรินเตอร์ (Printer) และต่อมาได้ให้บริษัท สหวิริยาโอเอ จำกัด ดูแลตลาดประเภทแฟกซ์ และระบบโทรศัพท์ตู้สาขา (Key Telephone System)

มาระยะหลังนี้เองที่ชื่อของ "โอกิ" ห่างไปจากความคุ้นเคยของคนไทย จนบริษัทแม่ต้องดำเนินกลยุทธ์ใหม่ เข้ามาตั้งบริษัทเองเพื่อดูแลการตลาดและการขายโดยตรงในชื่อ บริษัท โอกิ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท โดยให้บริษัท โอกิ อิเลคทรอนิค ประเทศสิงคโปร์ ถือหุ้น 49% บริษัทโอลิมเปียไทย 40% และบริษัท บางกอก ฟูจิ โฮลดิ้ง 11%

การเข้ามาตั้งฐานในไทยนี้ มองในแง่ประเทศไทยก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะมีคนมั่นใจว่าเราจะมีสิทธิ์และยังไปได้ไกล จึงกล้าเข้ามาลงทุนตั้งฐานการตลาด แต่ในแง่โอกิเขามองอย่างไรนั้น มร.ชิอิจิ นาคานิชิ ประธานบริษัท โอกิ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) มีคำตอบที่น่าฟังว่า "วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดในไทยและภูมิภาคเอเชียในปัจจุบันส่งผลกระทบ ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์สื่อสารโทรคมนาคมในแถบนี้ลดสัดส่วนลงไปมาก แต่คาดว่าความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นโอกิจึงไม่ได้คาดหวังการทำตลาดในช่วงนี้มากนัก"

แผนงานในช่วงนี้ โอกิจึงเน้นการวางรากฐานด้วยกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ชื่อของโอกิกลับมาเป็นที่รู้จักของคนไทยชนิดติดหูติดตากันอีกครั้ง ด้วยงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ตั้งไว้ถึง 50 ล้านบาท เพื่อให้ทราบถึงผลิตภัณฑ์ของโอกิที่ตอนนี้มีอยู่ 5 สายการผลิต ได้แก่ คีย์ เทเลโฟน, ตู้โทรศัพท์ PBX, เครื่องพรินเตอร์แบบด็อต เมทริก, พรินเตอร์ระบบ LED, และแฟกซ์

ขณะเดียวกันงานที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ ทำความรู้จักกับดีลเลอร์อีกครั้งเพื่อให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 70 ราย แบ่งเป็นตัวแทนในกรุงเทพฯ 30 ราย และในเขตต่างจังหวัดอีก 40 ราย "ปีนี้เราจะเน้นประชาสัมพันธ์กับดีลเลอร์ก่อน เพราะคำว่า "โอกิ" ชื่อนี้ในเมืองไทยหายไปนานพอสมควรแล้ว"

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบริษัทที่ดูแลการตลาดโดยตรงแล้ว แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งก็ยังดำเนินการจำหน่ายผ่านโอลิมเปียไทยอยู่ แต่ในส่วนของสหวิริยาโอเอก็ถือว่า "รู้กันโดยปริยายว่าเมื่อเราตั้งบริษัทของเราเองแล้วเขาก็หมดหน้าที่" ทั้งนี้ไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการแต่ประการใด

ในส่วนยอดขายที่ไม่ได้เน้นเท่าไรนัก สุทธิชัย แพสาโรช ผู้จัดการทั่วไปได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ปีแรกประมาณยอดขายไว้ที่ 300 ล้านบาท โดยมาจากพรินเตอร์ กับแฟกซ์ 80% อีก 20% ที่เหลือเป็นส่วนของอุปกรณ์โทรศัพท์ส่วนโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้มีเพียงระบบ CDMA ซึ่งเมืองไทย ยังไม่มีการพัฒนาโครงข่ายจึงยังไม่นำเข้ามา"

การเข้ามาในไทยถือเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้โอกิมีบริษัทสาขาอยู่แล้วในสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนที่ผ่านมาโอกิก็ไปเปิดสำนักงานสาขาแห่งใหม่อีกแห่งที่กัวลาลัมเปอร์ ในมาเลเซีย เมื่อนับรวมบริษัทในไทยก็ถือว่าโอกิมีเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ค่อนข้างสมบูรณ์ "ปัจจุบันเรามีสำนักงานตัวแทนทั้งสิ้น 8 แห่ง และบริษัทสาขา 19 แห่งครอบคลุมทั่วโลก อย่างในเอเชียเอง เรามีสำนักงานที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ไต้หวัน กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์"

โดยเฉพาะบริษัทในไทยเองนอกจากดูแลรับผิดชอบด้านการตลาด การขาย และการบริการในเมืองไทยแล้ว ยังรับหน้าที่ดูแลตลาดประเทศในแถบอินโดจีน ได้แก่ เวียดนาม พม่า เขมร และลาว ก่อนที่จะขยับขยายตั้งเป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศเหล่านี้ต่อไป

นอกจากบริษัทที่เพิ่งเปิดไปนั้น โอกิยังมีโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองไทยทั้งหมด 4 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท โอกิ (ประเทศไทย) ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี'33 ประกอบด้วยโรงงาน 3 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการผลิต IC, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Device), พรินเตอร์, แฟกซ์, และหัวพิมพ์เทคโนโลยี LED ส่วนโรงงานอีกหนึ่งแห่งอยู่ในจังหวัดลำพูน ดำเนินการผลิตหัวพิมพ์ 24 เข็มระบบ Dot Matrix (Print Head) และ Motor Oscillators สำหรับเครื่องพิมพ์เลเซอร์พรินเตอร์ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะใช้เพื่อการส่งออกทั้งหมด

เครือข่ายทั้งหมดของโอกิในประเทศไทยก็นับว่าไม่น้อย เมื่อเขามั่นใจอย่างนี้ก็ทำให้เราใจชื้นขึ้นได้ว่า จะมีบริษัทอื่นๆ ทยอยกันเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นคนเอเชียด้วยกันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันพอสมควร เขาเข้ามาทำประโยชน์เราก็ยินดีต้อนรับ อย่างน้อยก็เป็นการคานอำนาจทุนมหึมาของบริษัทฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งหลาย ที่คอยแต่จะหาผลประโยชน์จากประเทศเอเชียมากกว่าจะสนับสนุนอย่างจริงจัง ในขณะที่ญี่ปุ่นเองแม้จะเป็นพี่เบึ้มของเอเชีย แต่ก็เข้ามาอย่างนอบน้อม น่าสนับสนุนและน่ายินดีที่เขาเข้ามา

ก่อนจบการแถลงข่าว กรรมการบริหารอาวุโสท่านหนึ่งของโอกิ อิเลคทริค อินดัสทรี ยังได้โปรยยาหอมจนเคลิ้มว่า "เรามุ่งเน้นการทำตลาดในภูมิภาคเอเชีย และคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าพิจารณาจากประชากร ความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางการเมือง และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจปัจจุบันในประเทศไทยจะไม่ดีนัก แต่เราก็เชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจจะกลับมาดีดังเดิม เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมั่นคงของประเทศ"

ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้และรีบเข้ามาลงทุนในประเทศของเราเร็วๆ ก็ดีนะสิ!!

กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.