"ณัฐภพ" ไขเหตุทำเทนเดอร์ฯNFCหวังอำนาจบริหาร-ต่อยอดธุรกิจ


ผู้จัดการรายวัน(7 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี" กลุ่มทุนใหม่ แจงสาเหตุยื่นทำเทนเดอร์ฯNFC ตามกฎระเบียบก.ล.ต. หวังถือหุ้นเกิน 50% เพื่อเกิดเอกภาพในการบริหารงาน และต่อยอดเสริมธุรกิจระหว่างกัน เนื่องจาก NFC มีท่าเทียบเรือ ขณะที่กลุ่มเอสซี กรุ๊ป มีธุรกิจให้บริการเรือลากจูงที่มาบตาพุด รวมทั้งยังมีความชำนาญธุรกิจปิโตรเคมี ยืนยันไม่มีทำ Back Door

ตามที่บริษัท เพลินจิตแอ็ดไวเซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของ นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)(NFC) เป็นจำนวน 149,868,016 หุ้น หรือคิดเป็น 60.3% ของหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 11.50 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,723.48 ล้านบาท หลังจากได้ถือหุ้นNFC เพิ่มขึ้นเป็น 39.73% ของทุนชำระแล้ว คาดว่าจะสามารถยื่นคำเสนอซื้ออย่างเป็นทางการ 9 กรกฎาคมนี้

นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทเอส ซี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การทำเทนเดอร์ฯครั้งนี้ เป็นไปตามกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) หลังจากตนได้ซื้อหลักทรัพย์ NFC จากแบงก์ไทยพาณิชย์จนถือครองหุ้นเกิน 25% มาอยู่ที่ 39.73% และคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นได้เกิน 50% เพราะราคาเสนอซื้อหุ้นที่ 11.50 บาทถือว่ามีความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้การบริหารงานNFCเกิดเอกภาพในการบริหารงาน

"การทำเทนเดอร์ ครั้งนี้ ใครพร้อมที่จะขาย ผมก็ยินดีซื้อ หากเราถือหุ้นได้เกิน 50% จะทำให้เกิดเอกภาพในการบริหาร มิฉะนั้น จะเกิด DEAD LOCK เพราะสัดส่วนการถือหุ้นของผม กับคุณดิเรก ฉัตรพิมลกุล (ถือหุ้น 40%)ใกล้เคียงกัน ทำให้การบริหาร งานทำได้ลำบาก อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คุยส่วนตัวกับคุณวิชัย ทอง-แตง เพื่อขอซื้อหุ้น(8%) เพราะคุณวิชัยคงมองเห็นอะไรดีๆในปุ๋ยแห่งชาติ รวมทั้งอยากให้ท่านอยู่ เพราะท่านมีความรู้เรื่องต่างๆเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ฯ ทำให้ปุ๋ยแห่งชาติมีสีสันมากขึ้น เชื่อว่าท่านเองก็ไม่ขายด้วย"

การตัดสินใจเข้ามาถือหุ้นใน NFC เนื่องจากที่ผ่านมา เอสซี กรุ๊ป เป็นบริษัทคู่ค้ากับ NFC มานาน ทำให้มองเห็นโอกาสในการต่อ ยอดธุรกิจร่วมกันได้ เพราะเอสซี กรุ๊ป ได้รับสัมปทานการให้บริการเรือลากจูงท่าเรือในนิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ขณะเดียวกัน NFC เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ท่าเรือระยอง จำกัด ซึ่งอาจจะใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

รวมทั้งขบวนการผลิตปุ๋ย NPK ทำให้มีผลพลอยได้ทั้งกรดกำมะถัน และแอมโมเนีย ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ด้านเคมีภัณฑ์ ขณะที่ เอสซี กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมีทำให้มีความเข้าใจ และสามารถต่อยอดธุรกิจร่วมกันได้ อันจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับ NFC ในอนาคต โดยจะไม่มีแผนจะเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Back Door) โดยให้เอสซี กรุ๊ปเทกโอเวอร์ NFC เพราะเข้าไปทำเทนเดอร์ฯในนามส่วนตัว ขณะที่บริษัท เอสซี กรุ๊ป ยังดำเนินธุรกิจหลักต่อไป และ NFC ยังผลิตปุ๋ยเคมีเช่นกัน เพียงแต่อนาคตจะมีธุรกิจเสริมเข้ามาเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ NFC

นายณัฐภพ กล่าวถึงแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงานของNFC ว่า NFC จะเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้หลังออกจากศาลล้มละลายกลาง ซึ่งบริษัทมีสินทรัพย์ที่ปลอดจำนอง ทำให้มีความสามารถในการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุน หมุนเวียน โดยล่าสุดได้ติดต่อจะกู้ เงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 3 พันล้านบาทเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ NFC มีสินทรัพย์รวม 8 พันล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ท่าเรือระยอง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยNFCนั้น ล่าสุดศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ NFC เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากก่อนหน้านี้ ท่าเรือระยองเป็นหนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประมาณ 100-200 ล้านบาท ซึ่งกนอ.ฟ้องร้องยึดท่าเทียบเรือที่มีมูลค่าถึง 1 พันล้านบาท ซึ่งตนเห็น ว่าไม่ถูกต้อง จึงได้ทำหนังสือยื่นคัดค้านไปยังกนอ. รวมทั้งยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิในการยึดทรัพย์ฯได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.