|
"ระย้า" ตัดสัมพันธ์ "อากู๋" ลุยตั้งบ.เก็บลิขสิทธิ์เอง
ผู้จัดการรายวัน(6 กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"รถไฟดนตรี" ตัดสัมพันธ์กับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกาศไม่ต่อสัญญาค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์ ระบุปมสัญญาใหม่ลดค่าตอบแทนอาจทำรายได้หด รอคลอดกฎกระทรวงบังคับบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ได้ต้องมีจำนวน 10,000 เพลง ลั่นไม่ง้อบริษัทจีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯเล็งหาพันธมิตรร่วมจัดตั้งบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เองในอีก 2 เดือน
นายประเสริฐ พงษ์ธนานิกร ประธานกรรมการ บริษัท รถไฟดนตรี (1995) จำกัด ค่ายผลิตเพลง เพื่อชีวิต เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้มอบอำนาจการจัดเก็บลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัท แกรมมี่ (มหาชน) จำกัด ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยได้ทำสัญญาไว้ 2 ปี ขณะนี้ได้หมดสัญญาลงแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2547 และคงจะไม่ต่อสัญญาแต่ประการใด
เนื่องจากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทจีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่งฯได้ออกหนังสือเวียนเพื่อ แจ้งให้ผู้ประกอบการได้ทราบโดยมีข้อความว่า การอนุญาตให้จัดเก็บ ค่าเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ดังนั้นหากผู้ประกอบ การรายใดมีความประสงค์ที่จะใช้เพลงดังกล่าวในการเผยแพร่จะต้องได้รับอนุญาตจากบริษัท รถไฟ ดนตรี (1995) จำกัด โดยตรง ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์จะต้องงดใช้เพลงดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสน และได้มีผู้ประกอบการโทรศัพท์มาถามถึงการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่แท้จริง
นายประเสริฐ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการเจรจาเพื่อต่อสัญญาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ใหม่ แต่เนื่องจากติดเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ การที่บริษัทจีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯลดอัตราค่าจัดเก็บลิขลิทธิ์แก่ผู้ประกอบการน้อยลง โดยอ้างว่าข้อมูลผู้ประกอบการคลาดเคลื่อน และไม่ได้มีมากเท่าที่ควร ส่งผลให้บริษัทจะมีรายได้จากการจัดเก็บ ค่าลิขสิทธิ์น้อยลงตามไปด้วย จากที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไม่ถึง 10% ของรายได้รวม ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวมีผลต่อการพิจารณาต่อสัญญาจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ใหม่มีความล่าช้าไป
ประการที่สอง ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเกิดความสับสนการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ค่อนข้างมาก เพราะมีค่ายเพลงเล็กๆ เป็นจำนวน มากเรียกจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แก่ผู้ประกอบการ ส่งผลให้มีการร้องเรียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จนกระทั่งได้มีการตั้งเงื่อนไขของการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไว้ว่าบริษัท ที่จะสามารถจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้จะต้องมีผลงานเพลงประมาณ 10,000 เพลง โดยเงื่อนไขดังกล่าวกำลังจะออกเป็นกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ทำให้บริษัทเองซึ่งปัจจุบันมีผลงานเพลงไม่ถึง 6,000 เพลง นั้นจะไม่สามารถจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้
"ทั้งสองเหตุผลให้เราต้องใช้เวลาในการพิจารณา เพื่อต่อสัญญานาน ขณะที่บริษัทจีเอ็มเอ็ม มิวสิคเองอาจคิดว่าบริษัทจะไม่ต่อแล้ว นอกจากนี้ยังมองว่าที่ผ่านมาธุรกิจเพลงแข่งขันรุนแรงระหว่างค่ายแกรมมี่กับอาร์.เอส.ทำให้ แกรมมี่ดึงรถไฟดนตรีเข้าไปเพื่อเติมเต็มขาธุรกิจเพลงเพื่อชีวิตที่แกรมมี่ยังไม่มี แต่ปัจจุบันการแข่งขันน้อยลงทำให้ไม่ต้องการค่ายเพลง เล็กๆ ก็เป็นได้"
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังหาพันธมิตรค่ายเพลง เพื่อรวมขั้วจัดตั้งบริษัทขึ้นมาจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยตรงเอง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ไม่เกิน 2 เดือนนี้ โดยขณะนี้กำลังรอขั้นตอนให้มีกฎกระทรวงขึ้นมาก่อน จากนั้นจะนำบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไปจด ทะเบียน โดยจะเป็นบริษัทที่ 4 ที่มีสิทธิ์ในการจัด เก็บค่าลิขสิทธิ์จากเดิมที่มีบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯ ทีซีซีของบริษัทอาร์.เอส. และซองค์ กอปปี้ ไลน์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 4 บริษัท ได้แก่ ท็อปไลน์ กรุงไทย ชัวร์ออดิโอ นพพร โปรโมชัน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่บริษัทกำลังดำเนินเรื่องจัดตั้งบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ บริษัทจะให้ผู้ประกอบการสามารถใช้งานดนตรีกรรม และสิ่งบันทึกเสียงไปก่อน โดยไม่มีการจัดเก็บค่า ใช้จ่ายใดๆ จนกว่าการจัดเก็บของบริษัทจะพร้อม โดยจะไม่มีการส่งคนไปตรวจจับ
นายประเสริฐ กล่าวต่อถึงการดำเนินธุรกิจเพลงว่า บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หลังจากแนวโน้มตลาดเพลงทั่วโลกตกลง เพราะที่ผ่านมาลักษณะการทำตลาดของรถไฟดนตรีจะมีการนำผลงานเก่าของศิลปินมาทำตลาดอย่าง ต่อเนื่องเทียบกับค่ายอื่นจะไม่มีการทำตลาดอย่าง ต่อเนื่อง โดยทำเฉพาะช่วงโปรโมตเท่านั้น โดยที่ผ่านมาผลประกอบการของบริษัทจะมีรายได้จาก ธุรกิจงานเพลงเป็นหลักเกือบ 100% รายได้หลักมาจากงานเพลงเพื่อชีวิต 80% ขณะที่รายได้จากธุรกิจวิทยุมี 1 คลื่นเอฟเอ็ม 98.5 และธุรกิจ โทรทัศน์ 3 รายการยังเป็นส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทได้วางแผนที่จะขยายธุรกิจเพลงในรูปแบบริงโทน ซึ่งภายใน 2 สัปดาห์จะมีการเซ็น สัญญากับพันธมิตร ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นรายได้ให้เพิ่มขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|