เลือดใหม่ตระกูลเรืองกฤตยา "ชานนท์" ขอสร้างอนันดาฯ เทียบกรีนวัลเล่ย์


ผู้จัดการรายวัน(5 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ชานนท์ เรืองกฤตยา ทายาทกลุ่มกรีนวัลเล่ย์และวินด์มิลล์ ผู้เข้ามาสานฝันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งรับช่วงต่อจากของชนัฎ เรืองกฤตยา ผู้เป็นบิดา แต่ด้วยแนวคิดใหม่ทำให้ต้องพลิกการพัฒนาโครงการอสังหาฯมาสู่ การทำตลาดระดับแนวราบ ภายใต้ชื่อ "อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด"

ถือเป็นการกลับมาเปิดตัวสู่ตลาดเป็นครั้งแรกของตระกูล เรืองกฤตยา หลังจากเงียบหายไปกว่า 8 ปี ในระหว่างดำเนิน การปรับโครงสร้างหนี้ หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็น ต้นมา กลุ่มกรีนวัลเล่ย์ของนายชนัฎ เรืองกฤตยา นับเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ผ่านพ้นการปรับโครงสร้างหนี้มาได้แล้ว ด้วยการ ตัดสนามกอล์ฟกรีนวัลเล่ย์ขายให้กับกลุ่มซัมมิท กลุ่มกรีนวัลเล่ย์ ยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการสาธารณชนแต่ ณ วันนี้ ชานนท์ เรืองกฤตยา ทายาท บุตรชายของนายชนัฎ เรืองกฤตยา อดีตเจ้าของสนามกอล์ฟกรีน วัลเล่ย์ เลือดใหม่ของตระกูล เรืองกฤตยา เข้ามาสานต่ออุดมการณ์ของผู้เป็นพ่อ ด้วยการเปิดตัวบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ "อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด"

นับว่าเป็นการกลับมาของตระกูลเรืองกฤตยา โดยมีคนรุ่นใหม่ เข้ามาบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์ ที่ชัดเจนว่า ต้องการที่จะเน้นการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและเป็นแนวราบเท่านั้น แต่กลับมิได้สานต่อในธุรกิจของกลุ่มกรีนวัลเล่ย์แต่อย่างใด

การบริหารงานของอนันดา

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า "อนันดา" ถือเป็นการ แยกการบริหารงานเป็นอิสระจากกลุ่มวินด์มิลล์ เน้นขายบ้านเดี่ยว เจาะกลุ่มเป้าหมายคน รุ่นใหม่และช่วงแรก ที่จะเน้นการ พัฒนาโครงการในบริเวณพื้นที่รอบๆ สนามกอล์ฟวินด์มิลล์ เป็น หลัก โครงการที่เปิดการพัฒนาช่วงแรกที่เปิดตัวออกมา 7 โครงการ เป็นการซื้อที่ดินที่เหลือจากการปรับโครงสร้างหนี้ ประมาณ 1,700 ไร่ บางส่วนมาใช้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร นอกจากนี้ ยังมีแผนจะซื้อที่ดินรอบข้างที่เป็นที่ดินตาบอดมาเพิ่ม

"อนันดา เป็นกิจการใหม่ที่ผมแยกออกมาทำเองจากคุณพ่อ ซึ่งยังคงบทบาทเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์จะพัฒนาโครงการด้านที่อยู่อาศัย ด้วยแนวคิดใหม่ๆ ที่มุ่งพัฒนาบ้านระดับหรูหรา สไตล์การออกแบบที่เฉพาะตัว ซึ่งนำรูปแบบที่พบเห็นในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ ในช่วงที่ผมได้มีโอกาสใช้ชีวิตในการศึกษาตอนอยู่ในต่างประเทศ มาใช้เพื่อให้มีความแตกต่างในตลาดบ้านของบ้านเรา"

สำหรับทุนจดทะเบียนเบื้องต้นนั้น อนันดา มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท โดยมีกลุ่มผู้ถือหุ้น เป็นคนตระกูล เรืองกฤตยา ทั้งหมด 100% การตั้งบริษัทใหม่ เพื่อต้องการความ เป็นอิสระด้านการบริหารจากกลุ่มวินด์มิลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ โดยการพัฒนาบ้านเดี่ยวและโครงการจัดสรรของบริษัทในกรุงเทพฯ เน้นบ้านทำเลนอกเมืองเป็นหลัก เนื่องจากใกล้ชิดธรรมชาติและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของบ้านในแต่ละแบบของบริษัทฯ สำหรับตลาดในต่างจังหวัดเน้น พัฒนาโครงการในจังหวัดใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจาก ตลาดดังกล่าวลูกค้าค่อนข้างมีกำลังซื้อสูง

ส่วนแนวคิดและวิธีการทำงานของ บริษัท อนันดา นั้น จะเน้นใช้หลักการบริหารแบบคนรุ่นใหม่ มีพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อรับงานออกไปทำ ทั้งฝ่ายก่อสร้าง ใช้บริษัทเค-เทค และบริษัทซีคอนเป็นผู้ดูแล ฝ่ายขายและการตลาดนั้น มอบหมายให้บริษัท ฮาริสัน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดูแล ส่วนงานออกแบบบ้าน จะใช้กลุ่มอคิเทคจากวินด์มิลล์ และภายนอกบางส่วน ปัจจุบันบริษัทมีแบบบ้านให้เลือกถึง 18 แบบ ที่เน้น ความเป็นตัวเองของลูกค้าให้เหมาะกับสไตล์ของแต่ละคน

"การที่เน้นในเรื่องดังกล่าว เพื่อต้องการให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุด เหมือนกับการสร้างบ้านให้ญาติสนิท หรือคนในครอบครัวได้อยู่อาศัย แม้ว่าในการจ้างมืออาชีพเข้ามาดำเนินการก่อสร้างนั้นจะทำให้ บริษัทมีรายได้ที่น้อยลง เพราะมีต้นทุนที่สูง แต่ก็คุ้มกับสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับ กำไรจากการขายนั้นอาจจะมีจำนวนน้อย แต่เป็นการสร้างแบรนด์ในลักษณะการบอกปากต่อปากของลูกค้า เพราะได้บ้านที่มีคุณภาพ การซื้อบ้านสำหรับลูกค้านั้นชีวิตหนึ่งของลูกค้า ที่มีน้อยรายได้ จะมีการซื้อบ้าน 2 ครั้ง 3 ครั้ง ดังนั้น บ้านที่ลูกค้าได้ไปควร จะอยู่กับเขาได้ในระยะยาว และการที่เราสร้างบ้านที่มีมาตร- ฐานให้ลูกค้าได้อยู่อาศัยนั้น เป็นสิ่งที่สร้างความคุ้มค่าให้แก่เงินที่ลูกค้าหาเงินมาเกือบทั้งชีวิตเพื่อซื้อบ้านที่อยู่อาศัย"

ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัทฯในช่วงแรกนั้น อนันดา ได้ เริ่มพัฒนาพื้นที่กว่า จำนวน 200 ไร่ โดยเน้น แนวคิดการพัฒนา โครงการจะเรื่องคุณภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "จอยไลฟ์...อนันดา ไลฟ์" ที่จะหมายถึงความบันเทิงใจ ความปลื้มใจ แม้ว่าจะเป็น โครงการใหม่ แต่ได้มีการวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน มีการแยกแบรนด์ของสินค้า ออกเป็น 2 กลุ่มคือ ชื่ออนันดา ที่จะเป็นธุรกิจหลัก เน้นลูกค้าระดับ 5-10 ล้านบาท และชื่อพิมานดา เน้น ลูกค้าระดับราคา 10-60 ล้านบาท และเป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่ และในอนาคตเตรียมที่จะพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ในระดับราคา 2-3 ล้านบาท ย่านบางนา-ตราด ซึ่งจะเป็นกลุ่มล่างลงมา

โครงการอนันดา สปอร์ตไลฟ์

สำหรับโครงการนำร่องที่เปิดตัวครั้งในช่วงที่ผ่านมา คือ อนันดา บีชไลฟ์ จำนวน 127 หน่วย มูลค่ารวม 700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ มียอดขายแล้วกว่า 80 % และอีก 3 โครงการ คือ อนันดา เฮอริเทจ จำนวน 68 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 530 ล้านบาท อนันดา ปาล์ม จำนวน 63 หน่วย มูลค่ารวม 491 ล้านบาท และอนันดา ทรอปิคอลจำนวน 68 หน่วย มูลค่ารวม 530 ล้านบาท โดยใน 3 โครงการนี้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ "อนันดา สปอร์ตไลฟ์" ที่มีจุดเด่นของโครงการภายใต้การบริหารของบริษัท อนันดา ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสปอร์ตคลับ และมีการจำลองชายหาดพื้นทรายขัด

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ พิมานดาสิรินดา จำนวน 7 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 75 ล้านบาท พิมานดาเซ็นจำนวน 27 หน่วย มูลค่า 380 ล้านบาท และ พิมานดา เฮอริเทจ จำนวน 10 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 120 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการ ทั้งสิ้น 2,825 ล้านบาท แต่ละโครงการจะมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย

การตลาดเชิงรุกแตะเบรกเปิดโครงการใหม่

สำหรับการดำเนินด้านการตลาดนั้น ด้วยความเป็นมือใหม่ แต่ประสบการณ์และบทเรียนในอดีตทำให้มีการแต่งตั้งบริษัทฮาริสัน (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้บริหารงานขายและช่วงที่เปิดทดสอบการขายด้วยการนำอนันดา บีชไลฟ์ มาทดสอบ ก่อน ช่วง 3 เดือนภายใต้ชื่อโครงการวินด์มิลล์ สามารถขายไปได้แล้วถึง 1,700 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าภายในไตรมาสแรกปี 2547 จะสามารถปิดการขาย 127 หน่วยได้หมด โดยจะเน้นการทำตลาดจะเชิงรุก ด้วยการออกบูทกระจายไปตามพื้นที่ที่คาดว่าจะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ส่วนแผนการพัฒนาโครงการในปี 2547 บริษัทยังไม่มีการ เปิดโครงการใหม่ เนื่องจากขณะนี้ ยังมีบ้านในโครงการที่สามารถ รองรับความต้องการของลูกค้าได้อยู่ และการเปิดโครงการใหม่ในขณะนี้ จะทำให้บริษัทมีสินค้า(สต๊อก)ในมือมากเกินไป เพราะฉะนั้น ในเรื่องของโครงการใหม่นั้น เราจึงยังไม่ควรเร่งรีบ แต่อย่างใด

ได้เห็นแผนเข้าตลาดฯแน่

นายชานนท์ กล่าวถึงแผนการเข้าตลาดของบริษัทฯว่า ขณะนี้ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำกิจการเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยในช่วงต้นปี 2548 บริษัทคาดว่าจะยื่น ไฟลิ่งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯได้ แต่ด้วยสภาพตลาดขณะนี้ยังชะลอ ตัวอยู่ บริษัทจึงมองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯยังไม่ควรเร่งรีบ ในตอนนี้ อีกทั้งการเข้าตลาดฯยังมีข้อเสียในเรื่องของข้อจำกัด ความอิสระในการบริหารงาน ดังนั้น การที่บริษัทยังไม่เข้าตลาดฯ ถือว่าเป็นส่วนดีทำให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากกว่าคู่แข่ง

วิเคราะห์ตลาดรวม

นายชานนท์ กล่าวถึงภาวะตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์ว่า ตลาดโดยรวมขณะนี้ ยังไม่น่าห่วง แม้ว่าจะมีการชะลอตัวของ การซื้อบ้านของลูกค้าในตลาด แต่ความต้องการ (ดีมานด์) ยังคงมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าโครงการใดจะได้รับความสนใจจากลูกค้า มากกว่า เพราะในช่วงนี้ลูกค้ามีทางเลือกค่อนข้างมาก ซึ่งเป็น ผลจากการเปิดตัวโครงการของผู้ประกอบการในตลาด ดังนั้น คอบเซ็ปต์ของโครงการจึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

"เรื่องของการใช้สงครามนั้น ไม่อยากให้ผู้ประกอบการหันมาใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดยการหั่นราคาขายเพื่อระบาย สต๊อกของตนเอง เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบกับตลาดมากขึ้น ส่วนเรื่องของกลยุทธ์ การลดแลกแจกแถมนั้นจะได้เห็นกันอย่างแน่นอน เพราะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการเร่งการตัดสินใจของลูกค้าอีกอย่างหนึ่ง"

สำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการในปี 2548 นั้นเชื่อว่า รายใหญ่ๆ จะให้ความสนใจเข้ามาเปิดตลาดในแถบด้านตะวัน ออกเยอะขึ้น เนื่องจากมีระบบสาธารณูปโภคที่รัฐบาลสร้างไว้รองรับสนามบินสุวรรณภูมิที่เพียบพร้อม ทำให้ระบบการคมนาคมมีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น

"การที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาในตลาดบริเวณนี้ ไม่ได้ทำให้เรากลัว เพราะถือว่าบริเวณเขตนี้เป็นถิ่นของบริษัท และลูกค้ารู้จักและให้ความเชื่อมั่นบริษัทค่อนข้างสูง โดยเฉพาะราคาขายบ้านก็ไม่แพง แต่คุณภาพของวัสดุมีมาตรฐาน สูงกว่าราคา นอกจากนี้ ต้นทุนของบ้านเราค่อนข้างต่ำ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องตั้งราคาที่สูงเท่ากับผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาด ที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการในเขตเดียวกับเรา" นายชานนท์กล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.