โตโยต้าก้าวสู่ฐานผลิตโลกมั่นใจส่งออกสูงสุดในไทย


ผู้จัดการรายวัน(2 กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ยักษ์ใหญ่ "โตโยต้า" ชูระบบ TPS โชว์ความพร้อมก้าวสู่ฐานผลิตโลก โดยเฉพาะการเป็นฐานผลิตรถปิกอัพ 1 ตัน ส่งออกกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ภายใต้โครงการ IMV ที่จะเปิดตัวในไทยเร็วๆ นี้ ส่งให้สิ้นปีนี้ผงาดขึ้นเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์จากไทย แทนค่าย "มิตซูบิชิ" ทันที ด้วยมูลค่าส่งออกรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ก่อนจะเพิ่มเป็นเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ในปีหน้า

นายไพบูลย์ ไวความดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้โตโยต้าประเทศไทยมีความพร้อมแล้วในการก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตระดับโลก โดยเฉพาะฐานการผลิต ปิกอัพขนาด 1 ตัน ภายใต้โครงการ IMV ซึ่งช่วงไตรมาสสามนี้จะมีการ เปิดตัวปิกอัพ โตโยต้า ไฮลักซ์ โมเดลใหม่สู่ตลาดไทย และอีก 90 ประเทศทั่วโลก

"ในอีกไม่กี่เดือนนี้โตโยต้าจะเปิดตัวปิกอัพ ไฮลักซ์ โมเดลใหม่ ภายใต้โครงการ IMV เพื่อทำตลาด ในไทย และส่งออกทั่วโลก นั่นย่อม แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของโตโยต้าประเทศไทย เกี่ยวกับศักยภาพผลิตรถยนต์ที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทั่วโลก จากระบบการผลิต Toyota Global Production System หรือ TPS ซึ่งเป็นที่ยอมรับในและแพร่หลายในระดับสากล"

ดังนั้น รถยนต์ปิกอัพไฮลักซ์ที่จะเห็นต่อไปนี้ในทั่วโลก ยกเว้นปิกอัพที่จำหน่ายอยู่ในประเทศสหรัฐฯ จะเป็นรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยทั้งหมด เพราะโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ย้ายฐานการผลิตปิกอัพมาที่ไทย ภายใต้โครงการ IMV มูลค่าลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท โดยผลิตปิกอัพปีละไม่ต่ำ กว่า 1 แสนคัน แบ่งเป็นทำตลาดในประเทศ 1 แสนคัน และส่งออกอีก 1 แสนคัน

นายไพบูลย์กล่าวว่า ผลจากการใช้ไทยเป็นฐาน การผลิตปิกอัพเพื่อส่งออกทั่วโลก ทำให้คาดว่าปีนี้โตโยต้าจะสามารถส่งออกรถปิกอัพจากไทยประมาณ 4 หมื่นคัน หรือมีมูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท เมื่อ รวมกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ส่งออกจากไทย จะมีทั้ง หมดกว่า 4.5 หมื่นคัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกในปีนี้ ประมาณ 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้วที่ส่งออกทั้งหมด 2 หมื่นคัน มีมูลค่าไม่ถึงหมื่นล้านบาท

"จากการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้โตโยต้า จะสามารถขึ้นเป็นผู้นำการส่งออกรถยนต์จากไทยทันที จากปีที่ผ่านมา เป็นรองมิตซูบิชิ และฟอร์ด แต่ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โตโยต้าเริ่มขึ้นเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์จากไทยแล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยถึงกระบวนการผลิตระบบ Toyota Global Production System หรือ TPS ว่า เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ตลอดจนได้รับการยอมรับอยางสูง จากสถาบัน วิชาการที่มีชื่อเสียง ทั้งในและต่างประเทศ ในสาขาวิชาชีพบริหารธุรกิจ และวิศวกรรมศาสตร์ อย่างเช่น วิชา Operation Management และยังมีส่วนในการผลิตผลงานด้านวิชาการในหลากหลายสาขา

"ระบบ Toyota Global Production System หรือ TPS จึงเป็นต้นแบบแห่งองค์ความรู้ทางด้านการผลิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล"

โดยระบบการผลิต Toyota Global Production System หรือ TPS เป็นระบบที่ใส่ใจในทุกราย ละเอียดของกระบวนการผลิต ตลอดจนใส่ใจในเรื่อง สิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ ตอบสนอง ความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า ในปริมาณและระยะเวลาที่ต้องการ โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ คุณภาพสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด และการบริหารเวลาให้สั้นที่สุด นับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนกระทั้งส่งมอบรถ

นายศุภรัตน์กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดของการผลิตระบบ TPS ยึดหลัก 3 ประการ คือ Just In Time ซึ่งกระบวนการผลิตรถยนต์ ให้ได้ตรงตาม เวลา และปริมาณลูกค้าต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับระยะเวลาในสายการผลิตให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ในทุกๆ ขั้นตอน ตลอดจนทักษะในการทำงานของพนักงาน ที่สามารถปฏิบัติงานได้หลากหลายหน้าที่

ประการที่สอง Jidoka (Autonomation) คือ กระบวนการควบคุมตัวเองโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกัน ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสายการผลิต หรือในเครื่อง จักร ด้วยการแสดงแผ่นสัญญาณไฟ เพื่อแสดงตำแหน่งที่เกิดปัญหาในการผลิต กำหนดจุดเริ่มต้น และหยุดการทำงานในตำแหน่งเดียวกัน รวมถึงมีเครื่องมือป้องกันสถานการณ์ที่ผิดปกติ อันอาจเป็นเหตุให้มีปัญหาเกิดขึ้น

สุดท้าย Quality Assurance เป็นระบบความ คุมคุณภาพของโตโยต้าในทุกกระบวนการผลิต ทำให้รถยนต์ทุกคันจากสายการผลิตของโตโยต้า ให้ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในคุณภาพที่เท่าเทียมกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมคุณภาพที่เป็นวิถีแห่ง โตโยต้าเอง สร้างระบบประกันคุณภาพในการผลิต จากพนักงานที่สามารถปฏิบัติงาน และตรวจสอบงาน ในเวลาเดียวกัน รวมถึงการผลิต ซื้อ และขายชิ้นส่วน จากทั่วโลก ด้วยมาตรฐานเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.