ตอนช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยจะซบเซาอย่างหนักตั้งแต่ปลายปี 2540 จนถึงปัจจุบัน
ปริญญา ธรรมวัฒนะ หนึ่งในผู้บริหารโกลด์มาสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้เปิดตลาดทองคำบริสุทธิ์
99.99% หรือทอง 24 เค ได้แยกตัวออกมาเปิดบริษัทใหม่เมื่อต้นปี 2540
บริษัทเดอไลท์ (Delight) จำกัด ตั้งขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท
ในรูปของโรงงาน โดยมีปริญญาเป็นเจ้าของเต็มตัว เพื่อพัฒนาเครื่องประดับทองด้วยเทคโนโลยีใหม่
ที่เรียกว่า อิเล็กโทรฟอร์มมิ่ง ภายใต้ยี่ห้อ HANG ON ซึ่งเป็นแบรนด์เนมแรกจากโรงงานเดอไลท์
"อิเล็กโทรฟอร์มมิ่ง เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากอิตาลี สามารถผลิตทองคำบริสุทธิ์ที่มีเนื้อแข็งกว่าวิธีผลิตแบบเดิมๆ
ทำให้น้ำหนักชิ้นงานเบาขึ้น ชิ้นใหญ่ขึ้น ในขณะที่ใช้เนื้อทองน้อยลง เช่นจากชิ้นงานหนึ่งที่เคยใช้ทองถึง
10 กรัม ก็สามารถใช้ทองลดเหลือเพียง 7 กรัมด้วยอิเล็กโทรฟอร์มมิ่ง"
ปริญญา ธรรมวัฒนะ ผู้อำนวยการบริษัทเดอไลท์ กล่าว
จากคุณสมบัติของทองที่ได้จากเทคโนโลยีใหม่นี้ ปริญญา กล่าวว่า ทำให้การผลิตงานสามารถถ่ายทอด
จินตนาการของนักออกแบบได้เต็ม 100% เพราะเป็นงานที่ลอยตัว คิดอย่างไรก็สามารถทำได้
ในขณะที่กระบวนการแบบเก่ามีข้อจำกัดในเรื่องของรูปทรงและสีที่ได้ดูไม่มีคุณค่า
"ทอง 96.5% หรือทอง 23 เค กว่าๆ ที่ขายในร้านทองพอทำเป็นทองรูปพรรณแล้วจะต้องเอาไปชุบสีทอง
24 เคก่อน แต่วิธีใหม่นี้จะให้งานออกมาเป็นสีทอง 24 เค ซึ่งจะเป็นสีที่ดูมีคุณค่า"
ปริญญา กล่าว
ขั้นตอนการผลิตจะเริ่มจากการทำต้นแบบ หล่อเป็นพิมพ์เงิน จากต้นแบบคลือบด้วยทอง
ก็คือวิธีการชุบที่ 0.22 มิลลิเมตร ถ้าเป็นงานหล่อทั่วไปจะต้องหนาถึง 0.70
มิลลิเมตร แล้วเผาข้างในออก ซึ่งปริญญากล่าวว่าแบบหนึ่งชิ้นจะต้องผลิตอย่างน้อย
100 ชิ้น จึงจะคุ้มทุนต่อต้นทุนแบบชิ้นละหมื่นกว่าบาท
"ปัจจุบันเดอไลท์มีกำลังการผลิต 100 ชิ้นต่อวันต่อเครื่องมือ 1 ชุด
เฉลี่ยมูลค่าชิ้นละ 5,000 บาท วันหนึ่งก็สามารถผลิตงานมูลค่า 5 แสนบาท ปีหนึ่งถ้าเป็นไปตามเป้าหมายก็คาดว่าจะมีรายได้สักประมาณ
150 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ตัวเลขสำหรับปีนี้ เพราะเราเพิ่งเริ่มเปิดขายเมื่อ
5-6 เดือนที่ผ่านมา และเป็นเพียงการทดลองตลาด ก่อนหน้านั้นก็อยู่ในเซ็ทอัพมาตลอด
ตั้งใจว่าจะรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นอาจจะเป็นปลายปีนี้สำหรับการเปิดตัวตลาดในไทย"
ปริญญา กล่าว
ปริญญา ในฐานะผู้บริหารแบบเต็มร้อยของแฮงออน หลังจากวางมือจากการบริหาร
ที่โกลด์มาสเตอร์เหลือไว้เพียงการเป็นผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว หน้าที่ของปริญญาจึงมีตั้งแต่ออกแบบชิ้นงานด้วยคอมพิวเตอร์
ซึ่งมีดีไซเนอร์ทั้งบริษัทรวม 2 คน ออกแบบบูธวางสินค้า และบรรจุภัณฑ์ และที่มาของแฮงออน
ซึ่งปริญญาเล่าว่า
"แฮงออนเป็นแบรนด์เนมที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน คือจี้ สิ่งที่เอามาห้อย
ซึ่งมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยยุคล้านปีมาแล้ว คนป่าฆ่าสัตว์เอาเขี้ยวสัตว์มาห้อยคอ
พอเจริญขึ้นมา สิ่งที่ห้อยก็เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และความชอบ จะเห็นได้ว่าไม่ว่ายุคสมัยใดคนก็ไม่เลิกที่จะหาอะไรมาห้อยคอ
ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แฮงออนเพื่อตอบสนองความต้องการนี้"
ผลิตภัณฑ์ของแฮงออน จึงเน้นจี้ที่จะตอบสนองทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยสินค้าแฮงออนจะดีไซน์ออกมาตอบสนอง
กลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มเล่นพระ กลุ่มนักดนตรี กลุ่มที่มีงานอดิเรก แม้กระทั่งกลุ่มนักพนัน
เรียกได้ว่าใครที่มองหาจี้ แฮงออนจะมีให้ครบ
"แฮงออนเราจะเน้นจี้เป็นหลัก เพราะยุคนี้ต้องเป็นสินค้าที่ขายง่าย
จี้จะเป็นกลางห้อยได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซื้อเป็นของขวัญได้ง่าย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของขนาดเหมือนพวกแหวน
คนขายก็ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเครื่องประดับมากนัก เหมือนขายนาฬิกาคนที่เดินเข้ามาซื้อจะรู้ว่าเขาเดินเข้ามา
ซื้อทองคำบริสุทธิ์" ปริญญา กล่าว
อย่างไรก็ดี ปริญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับแฮงออน จะไม่ได้หยุดอยู่ที่จี้เท่านั้น
แต่จะมีสินค้าเครื่องประดับครบ ทุกไลน์ รวมถึงจะพัฒนาเป็นเครื่องทองบริสุทธิ์ฝังเพชร
"จากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดทองคำบริสุทธิ์ที่มีเนื้อแข็ง เราก็สามารถพัฒนาเอามาฝังเพชร
ฝังพลอยได้ โดยไม่ต้องกลัวหลุด เพราะปกติถ้าเป็นทองบริสุทธิ์ฝังเพชรจะหลุดเพราะทองนิ่ม
ทองคำที่นำมาฝังเพชรในปัจจุบันจะเป็นทอง 90% เท่านั้น จะเรียกได้ว่าแฮงออนเป็นเครื่องเพชรที่เป็นทอง
24 เค รายแรกเลยก็ได้" ปริญญา กล่าว
สำหรับตลาดของแฮงออน จะเป็นคนละตลาดกันกับโกลด์มาสเตอร์ แฮงออนจะเน้นตลาดวัยรุ่นจนถึงคนทำงาน
เพราะสินค้าแต่ละชิ้นจะมีราคาตั้งแต่ 2,000 - 8,000 บาทเท่านั้น โดยเฉลี่ยจะอยู่ในเกณฑ์
3-4 พันบาทต่อชิ้น ซึ่งราคาทองของแฮงออนจะแพงกว่าราคาทอง 96.5% 3 เท่าตัว
จากการทดลองตลาดในไทยไปเมื่อ 5-6 เดือนที่ผ่านมาที่อิเซตัน และดิเอ็มโพเรียม
ปรากฏว่าคนไทยยังไม่เคยชินกับทองที่มีน้ำหนักเบาๆ ใช้เนื้อทองน้อยแต่มีรายละเอียด
มากๆ ได้ครบ เช่น สามารถทำพระองค์หนึ่งหนักเพียง 3 กรัมครึ่ง ในขณะที่การหล่อด้วยวิธีเดิมต้องใช้ถึง
15-20 กรัม คนซื้อจึงเป็นชาวต่างชาติเสียส่วนใหญ่
รวมทั้งจากประสบการณ์ที่ได้จากโกลด์มาสเตอร์ ทำให้ปริญญารู้ว่าการทำค้าปลีกด้วยตัวเองเป็นเรื่องค่อนข้างเหนื่อย
แฮงออนจึงมีแผนการขายปลีกด้วยการเข้าร้านค้า ซึ่งปริญญาได้ออกแบบตู้โชว์ที่ดีไซน์มาเพื่อวางเป็นส่วนหนึ่งของร้านทอง
ร้านเครื่องประดับ และไดเร็กต์เซลล์ ในรูปแบบของการตลาดแบบชั้นเดียว ซื้อมาขายไป
โดยจะให้กำไรกับผู้ขาย 20 เปอร์เซ็นต์
"สินค้าที่ซื้อจากบริษัทสามารถนำมาเปลี่ยนแบบได้ เอามาขายคืนได้เมื่อต้องการจะเลิก
เป็นการประกันเงินทุนให้กับผู้ขาย โดยเราจะหนุนด้านการทำประชาสัมพันธ์ สำหรับเงินทุนเริ่มต้นของผู้ขายจะตกประมาณ
60,000 บาท สำหรับงาน 12 ชิ้น" ปริญญากล่าว
สรุปสำหรับค้าปลีกในไทย แฮงออนจะมีบูธเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือสองที่ที่มีอยู่เดิมและเพิ่มที่ดิวตี้ฟีดอนเมืองอีก
1 แห่ง ที่เหลือจะเน้นขายตามร้านค้าและไดเร็กต์เซลล์ เพื่อบริษัทจะได้มีเวลาทำตลาด
ทำประชาสัมพันธ์ และราคาขายที่ชัดเจน เช่น สินค้าที่ขายคนไทยควรจะมีราคาที่
2-3 พันบาท ซึ่งเป็นราคาที่ขายดีที่สุด
สำหรับปีนี้ แฮงออนจะเน้นตลาดต่างประเทศ หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานบางกอกเจมส์เมื่อวันที่
17 มีนาคม 2541 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานที่มีผู้ค้าส่งอัญมณีจากต่างประเทศเข้ามาชมงานประมาณ
2,000 ราย โดยบริษัทหวังว่าจะได้จะได้ออร์เดอร์จากผู้ค้าส่งเหล่านี้มากเพียงพอกับการผลิต
และคาดว่าตลาดหลักที่ส่งออกจะมีทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง
"ในต่างประเทศจะมีที่ฮ่องกงที่เริ่มใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้เริ่มผลิตเมื่อปีที่แล้ว
แต่เน้นทำพวกวัตถุมงคล เช่น พระ ฮกลกซิ่ว แต่เป็นทอง 18 เค เราเป็นเจ้าแรกที่เอามาทำเป็นทอง
24 เค และทำเป็นเครื่องประดับ ซึ่งให้คุณสมบัติในเรื่องความแข็งเท่าเทียมทอง
18 เค สินค้าที่เราจะส่งออกต่างประเทศก็จะเป็น 24 เค เหมือนที่เราผลิตอยู่ตอนนี้"
ทั้งนี้แม้จะมีแนวโน้มและช่องทางการตลาดสำหรับทองแฮงออนที่เป็นไปได้ แต่ปริญญาก็ยอมรับว่าภายในสิ้นปีนี้
ซึ่งจะครบ 2 ปีของบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้น ก็ยังไม่สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้
อย่างน้อยก็ต้องอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะต้องยอมรับว่าสำหรับทองตอนนี้ก็คือของฟุ่มเฟือย
มีแต่คนขายออกมากกว่าจะซื้อเข้า
อย่างไรก็ดีปริญญาก็เชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจไทยดีขึ้น คนไทยก็จะกลับมาหิวทองเหมือนเดิม