|
ปตท.จับมือบ.ลูกผุดโรงไฟฟ้า-ไอน้ำ ช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต375ล้าน
ผู้จัดการรายวัน(28 มิถุนายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท.ร่วมทุนบริษัทในเครือ ผุดโครงการโรงไฟฟ้าและไอน้ำป้อนให้กับผู้ถือหุ้น และบริษัทใกล้เคียง ใช้เงินลงทุน 2.43 หมื่นล้านบาท เริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2548 คาดประหยัดต้นทุนการผลิตได้ 375 ล้านบาท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2547 ได้มีมติอนุมัติให้ ปตท.เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NPC) บริษัทไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) (TOC) และบริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ (Central Utilities) สำหรับผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงบริษัทในเครือของผู้ถือหุ้นและโรงงานในบริเวณใกล้เคียง
แผนดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 42 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 45 ตันต่อชั่วโมงป้อนให้กับโรงผลิต EO/EG ของ TOC คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2549 และระยะที่ 2 จะผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 6 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 70 เมกะวัตต์ ป้อนให้โรงงานผลิต Cumene และ Phenol ของกลุ่ม ปตท. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2550 ใช้เงินลงทุนรวม 2,433 ล้านบาท
โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำนี้ มีผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ระดับ 15.44% โดยสถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช โดยสัดส่วน การถือหุ้นประกอบด้วย ปตท. 40% NPC 20% TOC20% และ ATC20%
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดย ปตท.สามารถขายก๊าซฯ เพิ่มขึ้น เป็นการบริหารจัดการบริษัทในกลุ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเป็นการช่วยให้บริษัทในเครือของ ปตท.มีทางเลือกในการจัดหา Utilities เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระการลงทุน และ/หรือ ต้นทุนของการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใหม่ๆ ของ ปตท.และบริษัทในเครือในระยะยาว
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า โครงการร่วมลงทุนระหว่าง PTT กับบริษัทในเครือ เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ(Central Utilities) ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียง 42 เมกะวัตต์ ถือว่าน้อยมากไม่เพียงพอในการจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าอื่น ดังนั้น การก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำครั้งนี้เพราะ PTT ต้องการจัดหาสาธารณูปโภคให้กับบริษัทลูก เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตเท่านั้น และเป็นโครงการต่อเนื่องของโครงการผลิต EO/EG
ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน ครั้งนี้ประมาณร้อยละ 15.44 ของเงินลงทุนทั้งหมด 2,433 ล้านบาท หรือจะช่วยให้บริษัทในเครือสามารถประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 375 ล้านบาทเท่านั้น ไม่มีนัยสำคัญกับผลการดำเนินงานของ PTT มากนัก
สำหรับผลการดำเนินงาน PTT ในปีนี้จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจของบริษัทในเครืออย่าง ATC, TOC และธุรกิจโรงกลั่น อย่างเช่น บริษัท ไทยออยล์ ที่มีแนวโน้มการดำเนินงานดีตามวัฏจักรธุรกิจขาขึ้น โดยประมาณการกำไรสุทธิของ PTT ปีนี้ไว้ 42,000 ล้านบาท ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 160 บาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ PTT เข้าไปซื้อที่ของ HEMRAJ เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผลดีต่อ HEMRAJ คือทำให้รายได้ของ HEMRAJ ในอนาคตเพิ่มมากขึ้นจากการขายที่ และได้ส่วนแบ่งรายได้มาจากการปล่อยไฟฟ้าให้กับลูกค้าของ PTT ซึ่งในปัจจุบัน HEMRAJ มีโรงผลิตไฟฟ้าและน้ำ ซึ่งเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งบริษัท ซึ่งเป็นจุดดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อที่ของ HEMRAJ มากขึ้น
โครงการดังกล่าว HAMRAJ จะมีรายได้มาจากลูกค้าที่อยู่ภายในโครงการลูกค้าของ PTT ในการที่จะสามารถปล่อยไฟฟ้าและน้ำให้กับลูกค้าของ PTT เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำซื้อลงทุน ทั้ง PTT, HEMRAJ โดยราคาที่เหมาะสมของ PTT อยู่ที่ 227 บาท
ความเคลื่อนไหวของหุ้นPTT เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปิดตลาดที่ 156 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 567.12 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นHEMRAJ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างโดดเด่น ปิดตลาดที่ 98 สตางค์ เพิ่มขึ้น 8 สตางค์ เปลี่ยนแปลง8.89% มูลค่าการซื้อขาย 183.17 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|