ดอกหญ้าพลิกกลยุทธ์สู้ศึก'41 เสิร์ฟถึงบ้าน "หนังสือจานด่วน"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่ธุรกิจสำนักพิมพ์และร้านหนังสือกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนกระดาษที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ยอดขายกลับทรุดฮวบ หลายบริษัทปิดตัวลงเพราะรับภาวะการขาดทุนไม่ไหว ปล่อยให้ค่ายใหญ่ๆ ได้ประลองฝีมือ กันเต็มพิกัด ใครมีไม้เด็ดเคล็ดวิชาอะไรก็งัดกันขึ้นมาใช้ซะให้หมด

ในการนี้ร้านหนังสือดอกหญ้า ดูจะพลาดไม่ได้ เพราะมักมีแผนการ ตลาดใหม่ๆ มาดึงดูดใจเหล่าหนอนหนังสืออยู่เสมอ

ล่าสุด ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สามัคคีสาร (ดอกหญ้า) เผยสุดยอดกลยุทธ์ใหม่เอี่ยมอ่องเจ้าแรกในวงการหนังสือบ้านเราโดยนำเอาโนว์ฮาว (Know how) ในเรื่องโฮม ดีลิเวอรี ของเคเอฟซีมาใช้ ภายใต้โครงการสวยหรู "หนังสือจานด่วน" พร้อมทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องหวังเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีเวลาจำกัดใน กทม.และปริมณฑล

"โครงการนี้ เป็นการสั่งซื้อหนังสือทางโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต เพราะแนวโน้มลูกค้าเข้าร้านหนังสือน้อยลง เราจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกและมีเวลาน้อย โดยลูกค้าเริ่มแรกคือสมาชิกดอกหญ้าในเขตปริมณฑล ที่มีประมาณ 80,000-100,000 คน จากสมาชิกทั้งหมดประมาณ 130,000 คน" ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

เพียงหมุนโทรศัพท์เบอร์ 640-2424 สั่งซื้อหนังสือแล้วนั่งรออยู่กับบ้าน พนักงานของดอกหญ้าจะนำหนังสือไปส่งทันที โดยใช้บริการได้ทุกวัน ตั้งแต่ 9.00-17.00 น.

สำหรับเงื่อนไขในการสั่งซื้อก็ง่ายๆ คือ เมื่อสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ดอกหญ้ามูลค่าตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไปบริษัทจะบริการจัดส่งฟรี แต่หากมูลค่าต่ำกว่านี้ จะคิดค่าบริการ 30 บาท

แม้รูปแบบของหนังสือโฮม ดีลิเวอรีนี้จะยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในธุรกิจนี้ แต่ณรงค์ศักดิ์ก็พร้อมที่จะเสี่ยง โดยเชื่อว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จดังที่หวัง

อย่างไรก็ตาม นิดดา หงษ์วิวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจสิ่งพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า บรรดาหนอนหนังสือทั้งหลายมักจะนิยมเลือกซื้อหนังสือตามร้าน หรืองานหนังสือต่างๆ มากกว่า เพราะจะมีโอกาสได้พลิกดูเนื้อหา ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

"หลายครั้งการซื้อหนังสือเกิดขึ้นเพราะความไม่ตั้งใจ เพียงแต่เราไปพลิกดูเนื้อหาแล้วสนใจก็ซื้อ ยิ่งตามงานหนังสือต่างๆ เรามักจะได้หนังสือมามากกว่าที่คาดไว้เสมอ" นิดดากล่าว

เธอเชื่อว่าโครงการ "หนังสือจานด่วน" ของดอกหญ้า มีความเป็นไปได้ แต่ก็ยากที่จะคาดการณ์ คงต้องรอดูกันต่อไป

นักอ่านท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า โครงการนี้จะไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คนอ่านหนังสืออาจจะไม่ต้องการที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้น ภายในวันนั้นแบบเร่งด่วนเหมือนความต้องการอาหาร บ่อยครั้งที่คนซื้อหนังสือมักจะซื้อมาเก็บไว้ รอจนกว่าจะมีเวลาว่างจึงเปิดอ่าน บางทีใช้เวลานานหลายเดือน แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีคนส่วนหนึ่งที่ต้องการหนังสือหรือข่าวสารบางอย่างในเวลาเร่งด่วน นับว่าโครงการนี้สร้างสรรค์ ทำให้มีอะไรแปลกใหม่และน่าสนใจ เพราะอาจจะมีคนจำนวนมากที่ไม่มีเวลาไปเลือกซื้อหนังสือตามร้าน หรือไม่สะดวกเพราะร้านหนังสือมักจะไม่มีที่จอดรถ จึงหันมาใช้วิธีสั่งซื้อแบบโฮม ดีลิเวอรีมากขึ้นก็ได้

ต่างคน ต่างความคิด ต่างพฤติกรรม กระนั้นณรงค์ศักดิ์ก็เชื่อมั่นและตั้งเป้ายอดขายในโครงการนี้ขั้นต่ำเดือนละ 1 ล้านบาท

อันที่จริงการขายหนังสือผ่าน อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ หรือสั่งซื้อทางไปรษณีย์นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในต่างประเทศ เนื่องจากสภาพสังคมและเทคโนโลยีเอื้ออำนวย แต่สำหรับประเทศไทยนั้นจะถึงเวลาหรือยัง ดอกหญ้าจะเป็นรายแรกที่เข้ามาพิสูจน์ตลาดไทย

อย่างไรก็ตามลักษณะของการขายหนังสือทางอินเตอร์เน็ตนี้ ร้านหนังสือจุฬาฯ ก็มีการทำอยู่เหมือนกัน แต่มิใช่ลักษณะของโฮม ดีลิเวอรีแบบจานด่วนเช่นนี้ ส่วนการขายผ่านทางไปรษณีย์ก็มีการทำกันมานานแล้ว โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่ยังไม่มีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง มักจะเพิ่มยอดขายโดยตรงกับสมาชิกด้วยวิธีนี้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

ล่าสุด สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ซึ่งใช้วิธีขายทางไปรษณีย์ในราคาพิเศษกับสมาชิก เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ก็เพิ่งลงทุนเปิดร้านหนังสือของตัวเองอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้

การเพิ่มยอดขายด้วยการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ที่สะดวกรวดเร็วเข้ากับยุคสมัยเช่นนี้ มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ทุกค่าย จำเป็นต้องดิ้นรนหาทางรอดในเศรษฐกิจยุคไอเอ็มเอฟเช่นนี้ สำหรับดอกหญ้าซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องกลยุทธ์การตลาดย่อมต้องเปิดคัมภีร์ งัดทุกกระบวนท่าออกมาสู้ศึก

ณรงค์ศักดิ์ เปิดเผยว่า หนังสือใหม่ของดอกหญ้า จะมีการปรับราคาขึ้นอีก 30% เนื่องจากต้นทุนรวมเพิ่มสูงขึ้น 35% โดยแบ่งเป็นต้นทุนค่ากระดาษ 25% และลิขสิทธิ์หนังสือ 10% ส่วนหนังสือเก่าที่มีการพิมพ์ซ้ำจะขายในราคาเดิม

ทั้งนี้บริษัทมีแผนออกหนังสือใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อย่างน้อยเดือนละ 1 เรื่อง และจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไป โดยตั้งเป้ายอดขายปีนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขาย 960 ล้านบาท

"การที่บริษัทประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องในขณะนี้ เป็นผลมาจากการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงได้ขยายการลงทุนออกไปมาก เราได้แก้ปัญหาโดยการเพิ่มทุนจำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 300 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของดอกหญ้าลดลงเหลือ 30% โดยผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนคือ สำนักพิมพ์ไทม์ของสิงคโปร์ สำนักพิมพ์ไจซ์ (เจเอไอซี) ของญี่ปุ่น และนักลงทุนในประเทศอีก 2 ราย" ณรงค์ ศักดิ์ กล่าว

การเพิ่มทุนครั้งนี้ช่วยให้สภาพคล่องของบริษัทดีขึ้น และสามารถยืนหยัดในวงการหนังสือต่อไปได้อีกนาน แม้ความฝันที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องเลื่อนออกไปอีกประมาณ 3-4 ปีก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.