KCEยื้อนำไทยลามิเนตฯเข้าตลท.เร่งผลิตแผ่น "พีซีบี" ป้อนตลาดโต


ผู้จัดการรายวัน(28 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

KCE ยื้อนำ "ไทยลามิเนต แมนูแฟคเจอเรอร์" เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปีหน้า อ้างปีนี้ยังไม่พร้อม ประเด็นตลาดผันผวนไม่ใช่เรื่องหลัก เนื่องจากเร่งขยายกำลังการผลิตแผ่นพีซีบี ให้ทันกับความต้องการของตลาดที่พุ่งสูง ขณะที่โรงงานเฟส 3 เดินเครื่องแล้วและประหยัดภาษีจ่ายเพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

นายปัญจะ เสนาดิสัย กรรมการ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ( KCE) เปิดเผยว่าแผนการนำบริษัท ไทยลามิเนต แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัด (TLM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและเป็นผู้ผลิตลามิเนตซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญอย่างหนึ่งให้กับ KCE เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯคงไม่เสร็จสิ้นในปีนี้ แต่เพราะความพร้อมในขณะนี้ยังไม่เต็มที่ ไม่ใช่เพราะตลาดหุ้นผันผวน จึงจะนำบริษัทไทยลามิเนตเข้าจดทะเบียนได้ในปี 48

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 2 ที่กำลังจะปิดบัญชีลงในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้นั้น พบว่ายอดขายของบริษัทมีการเติบโตต่อ เนื่อง ขณะที่กำไรยังไม่สามารถตอบได้ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่การที่บริษัทต้องซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้เมื่อสวอปเป็นบาทไทยแล้ว ไม่น่าจะมีผลขาดทุนจากค่าเงิน เพียงแต่เม็ดเงินที่ได้อาจลดลงบ้างหรือเสมอตัว

นายปัญจะ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังการผลิตแผ่นพีซีบีของบริษัทนั้นเพิ่มจากเดิม หลังจากที่บริษัทเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการสร้างโรงงานเฟส 3 ขึ้นมาเพิ่มอีก ทำให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังได้รับอนุมัติยกเว้นภาษีเครื่องจักรในโรงงานใหม่ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วย ซึ่งทำให้บริษัทประหยัดเรื่องการจ่ายภาษีอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ โรงงานเฟส 3 ดำเนินการผลิตแล้วเกือบ 70% และคาดว่าจะเพิ่มแบบเต็มกำลังการผลิตได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำลังการผลิตของ บริษัท เคซีอี เทคโนโลยี จำกัด มีอยู่ 9 แสนตารางเมตร เมื่อเพิ่มกำลังการผลิตเฟส 3 เพิ่มอีก จะทำให้กำลังการผลิตของบริษัทมีทั้งสิ้น 1.2 แสนตารางเมตร

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาวัตถุดิบปรับราคาขึ้น ส่งผลให้ KCE ก็เริ่มปรับราคาขายสินค้าขึ้นประมาณ 5-7% ซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทดีขึ้นด้วย การปรับราคาสินค้าขึ้นได้ ขัดกับก่อนหน้านี้ที่บริษัทต้องปรับราคาขายลงเนื่องจากสินค้าไต้หวันดัมป์ราคาสู่ตลาด ทำให้บริษัทขายสินค้าได้ยากขึ้น แต่เมื่อความต้องการมีเพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นได้มาอีกครั้งตามราคาตลาดโลก และเป็นผลดีกับบริษัทที่ดำเนินการผลิตแผ่นพีซีบี เพราะความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้กลับเพิ่มมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้มาก ขณะที่การสร้างโรงงานเฟส 3 ถือเป็นการขยายงานที่ได้จังหวะกับความต้องการสินค้า จึงทำให้ KCE ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการขยายกำลังการผลิต

นอกจากนี้แล้ว KCE ยังจะเพิ่มกำลังการผลิตเฟส 4 และ 5 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเริ่มเดินเครื่องผลิตในครึ่งปีหลัง 2547 จากความต้องการที่ขยายตัวอย่างมากใน higherlayer count PCB และเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากจีน โดยบริษัทวางแผนจะเพิ่มสายการผลิต inner layer ในเดือนตุลาคม 47 ก่อนที่จะเริ่มผลิตได้ต้นปี 2548 โครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 19 ล้านเหรียญ ซึ่งจะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสงเงินสดภายในบริษัท และเงินกู้ยืมจากธนาคารบางส่วน

ก่อนหน้านี้ บอร์ดบริษัทฯ เห็นชอบให้บริษัท เคซีอี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KCEI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท ไทยลามิเนต แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัท จำนวน 1.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 13.5 บาท เป็นจำนวนเงิน 16.2 ล้านบาท ให้แก่ผู้บริหาร พนักงาน และผู้ร่วมก่อตั้งของบริษัท ไทยลามิเนตฯ

โดยผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คือนายบัญชา องค์โฆษิต ซึ่งเป็นประธานกรรมการ และนาย Fred Gharapet Ohanian ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตและเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคการผลิตให้กับบริษัท

ซึ่งการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว มีเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาความเหมาะสมของราคาขาย โดย KCEI ได้ใช้ 2 วิธีคือ ราคาปรับมูลค่าหุ้นทางบัญชี (Adjusted Book Value Approach) โดยใช้มูลค่าหุ้นทางบัญชีของบริษัท ไทยลามิเนตฯ และหักปันผลรับ จึงเท่ากับ 13.25 บาทต่อหุ้น และวิธีต้นทุนส่วนเพิ่ม (Cost Plus) หักด้วยเงินปันผล ทำให้มีมูลค่าสุทธิที่ 4 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.