มรสุมหนักยังรออยู่อีกหลายลูก


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่สถานการณ์ด้านการเงินทรุดตัวหนักลงอีกในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ไหลรูดลงเรื่อยๆ อีก ผลประกอบการของบริษัทไฟแนนซ์ที่เหลืออยู่ ยิ่งสะท้อนความยากลำบากในการประคองตัวให้อยู่รอดได้ ในท่ามกลางมรสุมหนักที่กระหน่ำอยู่เช่นนี้

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานบทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของบริษัทไฟแนนซ์ 16 แห่งที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า กำไรสุทธิของ 16 บริษัทดังกล่าวตกลงอย่างแรงถึงร้อยละ 450.40 (เทียบกับงวด 9 เดือนแรกของปีที่ลดลงร้อยละ 95.87)

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาผลประกอบการด้านใดก็ตาม ล้วนแต่ประสบปัญหาถดถอยอย่างรุนแรงทั้งสิ้น

- อัตราการขยายตัวของเงินกู้ยืมติดลบ 10.83% (ภาพรวมทั้งระบบ) สาเหตุเพราะประชาชนลดความนิยมในการฝากเงินกับบริษัทเงินทุนลงอย่างชัดเจน วิกฤตศรัทธาที่ประชาชนมีต่อบริษัทเงินทุน ได้ก่อให้เกิดกระแสการไหลออกอย่างหนักและต่อเนื่องของเม็ดเงินฝาก ไปสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงกว่า

- เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ธุรกิจเงินทุนปรับตัวลดลงร้อยละ 6.62 เมื่อเทียบกับปี 2540 ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง และการปล่อยกู้ที่ต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง

- ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ลดลง ทั้งเหตุจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ วิกฤตในภาคสถาบันการเงิน ความไร้เสถียรภาพของค่าเงิน ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ของ 12 บงล.ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯลดลงร้อยละ 65.86 เทียบกับปีก่อนหน้า

- ดอกเบี้ยค้างรับ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว จากยอด 6.48 พันล้านบาทในสิ้นปี 2539 มามีมูลค่าเท่ากับ 14.72 พันล้านบาทในสิ้นปี 2540

- ยอดกันไว้เผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสิ้นปี 2539 ที่มีมูลค่าเพียง 6.61 พันล้านบาท มาเป็น 36.32 พันล้านบาท ทั้งนี้เพราะเกิดสภาพลูกหนี้ที่มีปัญหาจำนวนมากในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ บวกกับการประกาศเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันสำรอง ซึ่งมีความเข้มงวดขึ้น

- รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล ยังมีอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกได้ ร้อยละ 7.57 เทียบกับสิ้นปี 2539 ทั้งนี้เหตุมาจากการทรงตัวอยู่ในระดับสูงของอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ในช่วงปี 2540 ที่ผ่านมา

- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในสิ้นปี 2540 ได้ทรุดตัวลงอย่างหนัก จากที่เคยมีรายได้ 6.45 พันล้านบาทในสิ้นปี 2539 มาเป็นรายได้ติดลบ 3.80 พันล้านบาทในสิ้นปี 2540

- ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงิน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.56 แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเงินกู้ยืมในปี 2540 จะลดลงอย่างมาก โดยติดลบร้อยละ 10.83 แต่ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมกลับวิ่งสวนทาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องในระบบการเงินมีปัญหามาก และภาวะเงินตึงก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาในปีนี้ด้วย ต้นทุนในการกู้ยืมเงินยังสูงมากแม้ปริมาณเงินกู้ยืมจะลดน้อยลง

- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีอัตราลดลง แต่ไม่มากนัก คือเพียงร้อยละ 1.75 เท่านั้น แม้บริษัทจะควบคุมเรื่องต้นทุนด้วยการปรับลดพนักงาน แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการจ่ายชดเชยอยู่

- กำไรสุทธิ มีการปรับตัวลดลงจากปี 2539 ถึงร้อยละ 450.40 โดยมีผลขาดทุนสุทธิรวม 33.06 พันล้านบาท จากที่เคยมีกำไรสุทธิรวมในปี 2539 จำนวน 9.44 พันล้านบาท ตัวเลขผลขาดทุนนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า สาเหตุมีหลายประการคือ ผลกระทบจากการสั่งปิดดำเนินการชั่วคราวของทางการ ที่ทำให้บริษัทล้วนต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนสภาพคล่องและต้นทุนของเงินที่แพงขึ้น ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการถดถอยในคุณภาพหนี้ ความผันผวนของค่าเงินในประเทศซึ่งทำให้เกิดผลการขาดทุนจากการปริวรรตเงินตรา รวมทั้งภาวะซบเซาต่อเนื่องของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนโดยแสดงตัวเลขขาดทุนอย่างหนัก และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเร่งกันสำรองมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ (การปรับหลักเกณฑ์ดอกเบี้ยค้างรับจาก 12 เดือนเป็น 6 เดือน) และการกันสำรองใหม่ของทางการในส่วนของหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานในสัดส่วน 20%

นี่คือภาพของผลกระทบจากมรสุมทางเศรษฐกิจลูกแรกๆ ที่กระหน่ำสถาบันการเงินไทย กว่าที่บริษัทเหล่านี้จะฟื้นคืนฐานะขึ้นมาได้นั้น คงต้องใช้เวลาอีกนาน และในระหว่างนั้น ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้ใดสูญหายไปอีกบ้าง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.