As good as it gets

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากการประกาศรางวัลออสการ์ ที่ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจในบ้านเรามากกว่ารางวัลพระสุรัสวดีเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ หรือวิทยุในบ้านเรา รวมไปถึงคอลัมนิสต์ทั้งหลายต่างพากันเอาบทวิจารณ์จากต่างประเทศมาสรุปให้ฟังกัน คงเรียกได้ว่าในยุคนี้ถ้าใครไม่ติดตาม ก็คงจะคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง

สำหรับผมเองโดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าสนใจ และดูสนุกกว่าไททานิคที่หลายคนชื่นชอบ ในแง่ของหนังชีวิตเบาๆ ที่ดูง่าย มีอารมณ์ขัน ให้ความรู้สึกอบอุ่น และจบลงแบบที่เวลาเดินออกจากโรงแล้ว ผู้ชมก็ยังคงรู้สึกผ่อนคลายกับภาพยนตร์

ตัวละครที่น่าสนใจที่สุดก็คงจะไม่พ้น แจ๊ค นิโคลสัน ที่เล่นเป็นนักเขียนเจ้าอารมณ์ ปากร้ายที่ดูเสมือนว่า เขาต้องพยายามอดทนกับคนอื่น ซึ่งนิโคลสันแสดงได้เยี่ยมมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่อยู่แวดล้อมเขาต้องเป็นฝ่ายอดทนกับอารมณ์และนิสัยที่แปรปรวนของเขา

ตัวละครที่นิโคลสันเล่นนั้น ดูเหมือนจะหลุดออกมาจากโลกที่ไม่มีอยู่จริง คนที่เหยียดหยาม ไร้น้ำจิตน้ำใจกับผู้อื่น แต่ถ้าสังเกตหลายสิ่งหลายอย่าง ที่นิโคลสันแสดงออกมาให้เห็นในทุกฉากที่เขาปรากฏตัวออกมา เราจะพบว่า เขาป่วยเป็นโรคที่เรียกกันว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) เราจะเห็นลักษณะที่เขาทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน เช่น การปิดประตู และใส่กุญแจห้อง การสั่งอาหารเช้าแบบเดียวกันทุกมื้อ หรือการนั่งโต๊ะประจำ (จนต้องหาเรื่องไล่คนอื่นที่มานั่งที่นั่งประจำของเขา) การที่ต้องการคนเสิร์ฟประจำ (จนต้องหากุมารแพทย์มารักษาลูกของเฮเลน ฮันท์ เพียงเพื่อให้เธอสามารถกลับมาบริการเขาได้ตามปกติ) ก็เช่นกัน หรือลักษณะรักความสะอาด และกลัวเชื้อโรค เช่น การที่ใช้สบู่ฟอกมือหลายก้อน การใช้น้ำร้อนล้างมือ การใช้ช้อนมีดพลาสติกส่วนตัว หรือ การอาบน้ำเป็นชั่วโมงสำหรับการนัดครั้งแรก และการต้องลงทุนซื้อสูทใหม่เพียงเพราะไม่ต้องการใช้สูทของร้านอาหาร ลักษณะการเชื่อโชคลางก็เช่นกัน นิโคลสันแสดงให้เราเห็นถึงการปิดเปิดล็อกประตูหลายครั้ง การเปิดปิดสวิตช์ไฟ รวมไปถึงการเดินในลักษณะที่ไม่ยอมเหยียบลายกระเบื้อง หรือรอยต่อ เพราะคนที่เป็นโรคนี้เชื่อว่า หากทำอะไรผิดไปจะทำให้เกิดโชคร้ายกับชีวิตของเขา

เราจะเห็นว่าตัวละครที่นิโคลสันเล่นนั้นอาจจะดูเกินจริงไป เป็นตัวละครที่อยู่กับเหตุและผลของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาด การทำอะไรซ้ำๆ หรือการเชื่อถือโชคลาง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบที่แน่นอนและตายตัว และตัวละครนี้เองใช้เหตุผลของตัวเองไปควบคุมและบังคับให้ผู้อื่นอยู่ภายใต้กรอบเดียวกับตน เช่นนิโคลสันถือว่า หน้าที่ของฮันท์คือการบริการตัวเขา หรือจิตรกรเกย์คนนั้นควรจะรู้และเคารพการอยู่ในห้องส่วนตัวของเขา

ตัวละครที่นิโคลสันเล่นถ้าตัดอาการป่วยของโรคออกไป เขาก็เป็นเสมือนภาพสะท้อนของคนที่เราพบได้ทั่วไปในสังคม คนซึ่งมักจะเป็นหัวหน้า หรือผู้บังคับบัญชาที่มีกฎเกณฑ์และเหตุผลตามที่ตัวเองเชื่อ แล้วนำไปครอบหรือบังคับให้ลูกน้องทำตาม คนซึ่งหากกฎเกณฑ์ที่ตัวเองยึดถือ ไม่เป็นไปตามที่มันเคยเป็น เขาจะทนไม่ได้เหมือนกับว่าโลกกำลังจะพังทลายลง

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกกับเราคือ เหตุผลของคนเช่นนี้เอาชนะได้ด้วยการพยายามเข้าใจและอดทน พร้อมกับการให้เขาได้สัมผัสกับโลกที่ไม่ใช่มีแต่เหตุและผลเท่านั้น แต่โลกที่มีอารมณ์ความรู้สึก โลกที่มีทั้งความรื่นเริงและความโศกเศร้า โลกที่ไม่มีอะไรเพียบพร้อมสมบูรณ์ โลกซึ่งมักจะไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง รวมไปถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น บางทีอาจจะไม่ใช่ความทุกข์ของเรา แต่เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.